สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชาวเลเข้าเมืองหลวง เดินสายแจ้งทุกข์ผู้มีอำนาจ จี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ตามข้อเสนอดีเอสไอ นักวิชาการร่วมจัดเสวนาหาทางออก นักกฎหมายเสนอใช้ ม.44 เพิกถอนที่ดิน

received_1044081478968470
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายสนิท แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลชุมชนราไวย์เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์นี้ ตัวแทนชาวเลจะแบ่งกลุ่มเฝ้าติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน โดยวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปเฝ้ารอการแก้ปัญหาหน้าศาลากลางภูเก็ตทุกวัน อีกลุ่มหนึ่งราว 30 คนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ดูแลเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยคาดว่าครั้งนี้อย่างน้อยชาวเลราไวย์ต้องได้รับการแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิสาธารณูปโภคเข้าชุมชนและมีสิทธิรักษาพื้นที่บาไลไว้ตามประเพณี รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองชาวเลทุกที่ทั้ง 5 จังหวัดอันดามัน ให้อยู่อย่างมั่นคงไม่ถูกฝ่ายใดคุกคาม ข่มขู่

received_1044081495635135
ทั้งนี้ตามกำหนดการที่ชาวบ้านคิดไว้คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. กลุ่มชาวเลจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เดินหน้านโยบายปกป้องวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติครม.2553 โดยจะมีการแสดงรองเง็งที่เป็นวัฒนธรรมประจำถิ่นให้ชมด้วย และในเวลา14.00 น.เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงวัฒนธรรม

ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. กลุ่มชาวเลจะเดินทางไปยื่นหนังสือ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้รับกรณีราไวย์เป็นคดีพิเศษ และให้ช่วยเหลือเยียวยา จากนั้นเวลา 14.00 น. เดินทางยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินทับชุมชนราไวย์ในแปลงที่ดีเอสไอได้ตรวจสอบแล้ว รวมทั้งกรณีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่พิธีกรรมที่ถูกออกโฉนดทับซ้อน

ในวันเดียวกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กรุงเทพฯ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ทางออกปัญหาที่ดินหาดราไวย์ การปฏิรูประบบการออกเอกสารสิทธิ์” โดยได้เชิญตัวแทนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินหาดราไวย์มาร่วมเวที พร้อมเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว.มาร่วมนำเสนอแบบแผนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาที่ดินร่วมด้วย

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ปัญหาที่ดินของชาวเลนั้นเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2528 แต่มาปรากฏเป็นเรื่องราวอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 โดยพบปัญหาชาวเลเกิดขึ้นทุกพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล ส่วนมากเป็นปัญหาการไล่รื้อชุมชนชาวเล พบว่าขณะนี้มีชุมชนเสี่ยงถูกไล่รื้อทั้งหมด 43 ชุมชน ส่วนมากถูกคุกคามทั้งเบียดขับให้ออกจากที่ดินซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับ โดยส่วนมากเอกชนและรัฐจะครอบครองที่ดิน

นางปรีดากล่าวว่า ขณะนี้ชาวเลทั้ง 5 จังหวัดนั้นมีเอกสารสิทธิ์เป็นของตัวเองแค่ 13 แห่งเท่านั้น ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับจำนวนชาวเลทั้งหมดราว 12,000 คน ต่อที่ดินกว่า 230 ไร่ ที่ผ่านมาชาวเลถูกรุกรานหลายรูปแบบ ส่วนมากเป็นการสร้างอาคารที่พักทับพื้นที่ชุมชน พื้นที่สุสาน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ สำหรับกรณีชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตนั้นเจอเหตุการณ์ร้ายแรงขั้นข่มขู่ทำร้ายร่างกายมาแทบทุกปีที่ชาวบ้านมีการเคลื่อนไหวเพื่อทวงสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เพราะราไวย์เป็นเรื่องซับซ้อน โดยปัญหาเกิดเนื่องจากการเกิดขึ้นของกระแสการท่องเที่ยวประกอบกับการประกาศเขตอนุรักษ์ ส่งผลการแย่งชิงที่ดินมีอยู่มาก

นางปรีดากล่าวว่า ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุรุนแรงจึงไม่สามารถปิดคดีความได้ง่าย ส่วนปัญหาข้อพิพาทที่ดินก็ส่งผลรุนแรงมากขึ้น ขณะนี้ชาวราไวย์อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีทางที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจำนวน 101 ราย ขณะที่ราคาที่ดินจังหวัดภูเก็ตหลังเกิดสึนามิพบว่าสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 50% ขณะที่สถานการณ์เรื่องที่ทำกินนั้น เดิมชาวเลหากินได้ 25 แหล่ง ลดลงเหลือแค่ 2 แหล่งเท่านั้น

“ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ทางเครือข่ายชาวเลพูดคุยกันทุกปีในวันรวมญาติชาวเล ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้มีการจัดงานเพื่อพูดคุยหาทางออก ปัญหาที่ว่ามันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวเล ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องเร่งคุ้มครองสิทธิ ซึ่งข้อเสนอของดิฉันจากการพูดคุยกับชาวบ้าน คือ การเร่งรัดทำตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 คือการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งกรณีที่ดิน กรมที่ดินควรยอมรับและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่อันไม่ชอบธรรมให้เสร็จสิ้น แล้วปล่อยให้ชาวบ้านได้ใช้ชีวิตตามประเพณีเดิมของเขาบ้าง คืนสิทธิหากินทางทะเลบ้างจึงจะเป็นธรรม” นางปรีดากล่าว

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิจัยที่ร่วมวิจัยเรื่อง “ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินราษฎรยากจน” ที่มีม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เป็นหัวหน้าคณะ กล่าวว่า กรณีปัญหาที่ดินราไวย์นั้น ข้อสรุปที่คณะวิจัยวิเคราะห์ไว้ คือ ชาวเลเป็นชาติพันธุ์ที่เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมเหมือนกะเหรี่ยงที่ใช้ป่าร่วมกัน ดังนั้นตอนรัฐบาลประกาศให้เอา สค. 1 แทบจะไม่มีใครเอา สค.1 ไปออกโฉนดหรือ นส.3 ด้วยซ้ำ เพราะอยากให้เป็นสมบัติส่วนรวม พวกเขาจึงถูกโกง ถูกเอาเปรียบ กลายเป็นผู้เช่าที่ดินทั้งที่อยู่อาศัยมานาน บางรายพบว่า สมัยก่อนเมื่อแจ้งครอบครองที่ดินเสร็จ ชาวเลไม่ทันตั้งตัว เอกชนที่เขารู้กฎหมายที่ดินเขาก็เร่งออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยู่เก่าชาวเล แล้วรีบเอาที่ดินไปจำนอง จากนั้นปล่อยธนาคารยึดที่ดินไป ต่อมาเมื่อมีหลักฐานพบภายหลังว่าประกาศเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินโบราณของชาวเล กฎหมายไทยก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมจัดการกันต่อไป

ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า พอมีข้อเสนอให้กรมที่ดินรับผิดชอบเพิกถอนก็ไม่มีใครยอมทำ พอเป็นแบบนี้ชาวบ้านที่บริสุทธิ์ก็กลายเป็นฝ่ายรับเคราะห์ทั้งๆ ที่การฟอกที่ดินนั้นเกิดขึ้นเพราะเอกชน สถาบันการเงินกับหน่วยงานของรัฐ แต่บังเอิญว่ากรณีหาดราไวย์ที่ดินมูลค่าสูงขึ้น การท่องเที่ยวเติบโต ชาวเลจึงโดนบีบโดยเริ่มที่เอกชน รัฐ ฝ่ายมีอิทธิพลเข้ามาขวางทุกการพัฒนา หมายถึงชาวเลบางคนเข้าร้องเรียนระบบราชการยากเพราะไม่มีบัตรประชาชน บางคนใช้น้ำ ใช้ไฟ ไม่ได้เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านแต่เป็นผู้อาศัยเพราะถูกลวงให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้เช่าที่ดินทั้งที่เป็นผู้บุกเบิก

ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ ให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่ดิน และควรมีกฎหมายเอาผิดกับกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์โดยมีชอบ ซึ่งหากไม่ได้เอาผิดกับเจ้าพนักงานเป็นรายบุคคล รัฐบาลก็ควรรับผิดชอบโดยอย่างน้อยคุ้มครองพื้นที่ของชาวเลให้เขาได้เข้าถึงสิทธิพื้นฐานบ้าง

“ถ้าโดนไล่ออกจากพื้นที่แล้วเขาจะเอาอะไรกิน เขากลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ถิ่นอาศัยเลยนะ ตอนนี้ถ้ากรมที่ดินยังเฉย ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ ทางเดียวคือชาวบ้านต้องฟ้องศาล แต่ในเบื้องต้น ก่อนการพูดถึงกรณีปัญหาเหล่านั้น ผมว่า รัฐบาลควรให้สิทธิเรื่องสาธารณูปโภค น้ำไฟและระบบช่วยเหลือก่อน เขาเป็นพลเมืองชั้นสองที่แทบไม่ได้รับอะไรจากสิ่งอำนวยความสะดวกภาครัฐเลย และประเพณีของเขากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปได้ยังไง เขามีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ มีศาล เราจะมองข้ามตรงนี้ไม่ได้ เมื่อชาวเลเขาแชร์ทรัพยากร ทำไมเราไม่ใช้ระบบแชร์บ้าง กรณีราไวย์นี่ผมยังงงเลยว่า ทางที่ประชุมจังหวัดมาเถียงเรื่องทางเดินสาธารณะทำไม เพราะที่สาธารณะมันแปลว่าทรัพย์ส่วนรวมอยู่แล้ว” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์ และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาวเลกับคนเมืองในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมคือผู้คนในภูเก็ตโดยเฉพาะเชื้อสายไทยจีนนั้น มีการแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาพัฒนาเป็นการค้าขาย แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า ชาวเลไม่ใช่ชนชาติเร่ร่อนทุกชนเผ่า แต่บางชนเผ่ามีการตั้งรกรากบนบกเพื่อประกอบพิธีกรรม เพื่อฝังศพ เพื่อเป็นที่ทำการเกษตร โดยชาวเลเป็นชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อความรู้ซึ่งสมดุลกัน ทั้งทางธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่าวิญญาณความสำคัญ เขาจึงต้องสร้างพื้นที่พิธีกรรมไว้ และสร้างสุสานบนบก โดยไม่ปล่อยให้มีการลอยศพในทะเล

“การออกเรือของชาวเล อย่างชาวอูรักลาโว้ย ออกเป็นฤดูกาล บางฤดูที่มรสุมแรง พวกเขาก็ย้ายมาอยู่ทางบกเพื่อหลบมรสุม และมีการสร้างความสัมพันธ์กันกับคนในเมืองภูเก็ต โดยชาวเมืองสมัยก่อนไม่มายุ่งที่ทะเลเพราะกลัวพายุ กลัวอันตราย ชาวเลจึงมักมีการตั้งชุมชนริมทะเล เพื่อสะดวกในการจอดเรือ พักอาศัยและเพาะปลูก นานๆที จะกลับเข้าไปกลางที่ดินบนบกเพื่อร่วมมีพิธีทางศาสนา ชาวเลบางกลุ่มไม่ใช่มุสลิม เขาเป็นพุทธ อย่างกรณีที่วัดฉลองภูเก็ต เราเคยพบชาวเลไปร่วมพิธีกินบุญกับชาวจีน ในเมืองซึ่งค้าขาย และชาวจีนให้การต้อนรับเพราะพวกเขาต้องการปลาจากชาวเล ผมว่าความสัมพันธ์นี้หายไปเมื่อที่ดินถูกตีราคาให้เป็นสินค้าเชิงธุรกิจ” ดร.ชยันต์ กล่าว

ดร.ชยันต์ กล่าวว่า ที่น่ากลัวในยุคนี้สำหรับชาติพันธุ์ซึ่งต้นทุนต่อสู้ต่ำ คือ รัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน เมื่อสิทธิตรงนี้หายไป ชาติพันธุ์แทบไม่มีช่องทางใดเลยในการต่อสู้ ดังนั้นถ้าไทยจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์โลก ก็ควรจะมีการคุ้มครองพลเมืองไทยทุกเผ่าพันธุ์ โดยใช้หลักสิทธิชุมชนเข้ามา ซึ่งถ้ามีกฎหมายที่บังคับให้รัฐบาลเคารพสิทธิชุมชน ชาวเลราไวย์ก็ใช้กฎข้อนี้มาช่วยได้ ไม่อย่างนั้นชาติพันธุ์จะเสี่ยงต่อการถูกเบียดขับต่อไป

ด้านนายไพสิฐ พานิชยกุล นักกฎหมายคณะนิติศาสตร์ มช.กล่าวว่า เรื่องของกฎหมายที่ดินนั้น กระบวนการกฎหมายประเทศไทยอิงหลักฐานเอกสาร โดยลืมพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากปากคำชนพื้นเมือง ซึ่งมีหลักฐานประวัติศาสตร์ยืนยัน อย่างกรณีชาวเลราไวย์นั้น กระดูกถูกค้นพบและพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้ว ชัดเจนแล้วว่า ปากคำของชาวบ้านกับหลักฐานประวัติศาสตร์คือข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาปรับเป็นนโยบายแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้ แต่หน่วยงานรัฐไม่ทำเพราะยังใช้ความเชื่อแบบเก่าอยู่

“ผมไม่รู้ว่าถ้าเสนอไปจะแรงไหม แต่ในเมื่อรัฐบาล คสช. ใช้มาตรา 44 เพิกถอนผังเมือง เพื่อเขตเศรษฐกิจได้ ทำไมไม่ลองใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้เจ้าพนักงานรัฐยอมรับผิดต่อกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์บ้าง ซึ่งถ้าประกาศใช้แล้ว รัฐควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อกรณีความผิดพลาดเอง ไม่ใช่ให้รับผิดชอบโดยเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่ง เพราะจากการวิเคราะห์เรื่องชาวเลที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนสักที อาจเพราะพวกเขากลัวความรับผิดชอบ เนื่องจากความผิดพลาดในการออกเอกสารสิทธิ์ยุคหนึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่รายอื่น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ปัจจุบัน มันดูไม่เป็นธรรม ถ้าคนปัจจุบันต้องมารับผิดชอบ” นายไพสิฐ กล่าว

/////////////////

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →