สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

กองทัพพม่าสั่งรื้อป้ายต้อนรับภาษาไทใหญ่เมืองท่าขี้เหล็ก ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ชี้ควรเปิดโอกาสให้ใช้ภาษาท้องถิ่น เพราะเป็นเมืองในรัฐฉาน

ภาพโดย Tai Freedom
ภาพโดย Tai Freedom

วันนี้ (20 มิถุนายน 2559) สำนักข่าวไทใหญ่ Tai Freedom รายงานว่า กองทัพพม่าได้มีคำสั่งให้ลบภาษาไทใหญ่ออกจากป้ายต้อนรับทางเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน ตรงข้ามกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขณะที่มีการเปิดเผยว่า ป้ายดังกล่าวทำขึ้นใหม่เป็นภาษาไทใหญ่และเพื่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ภาพโดย Tachilek News Agency
ภาพโดย Tachilek News Agency

ฝ่ายเทศบาลรักษาความสะอาดในเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบทำป้ายดังกล่าวขึ้นมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา กองบัญชาการพม่า เมืองตองจี ได้มีคำสั่งผ่านมายังฝ่ายความรักษาความปลอดภัยชายแดน เมืองท่าขี้เหล็ก ให้ลบภาษาไทใหญ่ออกจากป้ายต้อนรับทางเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก โดยหลังจากได้รับคำสั่ง ทางกลุ่มที่รับผิดชอบจึงได้นำเรื่องนี้ร้องเรียนไปยังรัฐบาลท้องถิ่นรัฐฉาน จนถึงขณะนี้จึงได้มีการให้นำผ้าไปปิดแผ่นป้ายดังกล่าวไว้ชั่วคราว เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป

ตามแผนการทำงาน 100 วัน นายจายสมทราย หัวหน้าฝ่ายเทศบาลดูแลความสะอาดเรียบร้อยในรัฐฉาน ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในรัฐบาลท้องถิ่นรัฐฉาน มีแผนที่จะเปลี่ยนป้ายต้อนรับทุกเมืองในรัฐฉานให้มีทั้งภาษาพม่าและภาษาไทใหญ่ ซึ่งหลายฝ่าย อาทิ สมาคมวัฒนธรรมและภาษาไทใหญ่และประชาชนในเมืองท่าขี้เหล็ก ต่างก็เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าว จึงได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงป้ายต้อนรับใหม่ให้มีภาษาไทใหญ่ และเพิ่งจัดทำป้ายแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทางด้านชาวเมืองท่าขี้เหล็กรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า คำสั่งที่ทางกองทัพพม่าสั่งให้ลบภาษาไทใหญ่ออกจากป้ายต้อนรับนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเมืองท่าขี้เหล็กเป็นเมืองของคนไทใหญ่ ดังนั้นจึงมีสิทธิ์ที่จะเขียนป้ายต้อนรับในภาษาตนเองได้ และในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้าหากไม่สามารถเริ่มทำในเรื่องเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรกได้ เรื่องอื่น ๆ ที่คนในประเทศสหภาพพม่ามุ่งหวัง ก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ได้มีการสั่งห้ามสอนและเรียนภาษาชาติพันธุ์ตามโรงเรียน ในอดีตนั้น การสอนภาษาท้องถิ่นชาติพันธุ์ยังถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แม้ในช่วงหลายปีมานี้ จะมีการเปิดกว้างมากขึ้น และอนุญาตให้สอนภาษาท้องถิ่นตามโรงเรียนได้ แต่ก็ยังคงพบเห็นการเลือกปฏิบัติและกดขี่ต่อกลุ่มชาติพันธุ์

ที่มา สำนักข่าวไทใหญ่ Tai Freedom
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →