สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ดูหลี่ กินปลา ชมนาข้าว ที่สีพันดอน

 

 

เช้าตรู่ปลายเดือนสิงหาคม 2555 ปรากฏวิถีชีวิตสงบเรียบง่ายริมถนนลาดยางสายเก่า จากรีสอร์ตริมน้ำโขงไปยัง ตลาดเมืองแสน ตลาดเก่าแก่สมัยฝรั่งเศสปกครองลาว ตั้งอยู่บน “ดอนเดช” หนึ่งในหลายร้อยดอนบนแม่น้ำโขง

 

หญิงชรา 2 คนสวมใส่ผ้าทอชั้นดี พาดสไบขาวเฉียงบ่า นั่งพับเพียบอยู่ริมถนนรอตักบาตรพระ พ่อเฒ่าเปลือยอก นั่งชันเข่าสานไซดักปลาบนแคร่หน้าบ้าน ปากคาบใบตองมวนยาเส้น พ่นควันโขมง  เด็กน้อย 3 คนนั่งปั้นดินเล่นอยู่ริมรั้วข้างบ้าน ระหว่างเฝ้าฝูงควายกินหญ้าริมคันนา

 

บรรยากาศในตลาดเมืองแสน ทำให้ผมหวนนึกถึงชีวิตวัยเยาว์ใน พ.ศ.2515 ยายพาเข็นรถขนขนุน กล้วย หมากพลูไปขายที่ตลาดในตัวอำเภอมหาชนะชัย อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดยโสธร สมัยที่ยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานียายและชาวบ้านรอบตัวอำเภอจะนำผลผลิตจากพืชผลรอบบ้าน ในหัวไร่ปลายนา ในแม่น้ำชี อย่างละนิดอย่างละหน่อยไปขายที่นั่น

 

ชุมชน ริมลำน้ำชีเมื่อ 40 ปีก่อนเป็นเช่นเดียวกับ “สีพันดอน” ในแขวงจำปาสัก ทางตอนใต้สุดของประเทศ สปป.ลาว วันนี้ ด้วยผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงน้ำจืด ตลาดจึงเป็นเสมือนศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมที่หล่อเลี้ยงชุมชน

 

กลับจากตลาดเช้า ผมพร้อมทีมสื่อมวลชนนั่งเรือไปบ้านท่าพร้าว บน “ดอนสม” นอกจากเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่นั่นแล้ว ยังไปติดตามโครงการ “วังสงวน” แหล่งรักษาและฟื้นฟูพันธุ์ปลาแห่งแรกของลาว โดยมี คำมั่น สิริแพงพัน นายบ้านท่าพร้าว และแกนนำชาวบ้านให้การต้อนรับ

 

บ้านท่าพร้าว ปกครองในรูปคณะองค์การมหาชน ประกอบด้วย นายบ้าน เลขาฯพรรคบ้าน สภาแม่หญิง สาวหนุ่ม แนวโฮม (ผู้เฒ่าผู้แก่) ร่วมประชุมตัดสินใจ แต่ละหมู่บ้านมีหัวหน้าหน่วยดูแล 10-20 บ้าน มีงานสาธารณะ งานสังคม งานเอาแรง (ลงแขกดำนา) ก็จะระดมกันไปช่วย ที่ดินในลาวใช้ระบบถือครองตกทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ

 

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีนาไม่ถึง 1 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน) จึงปลูกไว้กินเองมากกว่าขาย

 

เรานั่งล้อมวงฟังความคืบหน้าโครงการวังสงวน จากนั้น เดินเท้าไปดูสภาพวังช่วงน้ำหลาก ตัววังขนาดกว้าง 150 เมตร ยาว 250 เมตร ช่วงนี้เห็นแต่เวิ้งน้ำกว้าง ยามน้ำลดเท่านั้นจึงจะเห็นถ้ำ ผาใหญ่ หลืบหิน ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลาใหญ่

 

คำมั่นเล่าว่า ทำวังมา 5 ปีได้ผลดีมาก ในฤดูจับปลา มีปลาใหญ่หลากชนิดขึ้น จับได้มากขึ้น พรานปลามีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

คำหวัน ดวงพะจัน พรานปลามือดีแห่งบ้านท่าพร้าว พูดเสริมข้อดีของวังสงวนว่า ก่อนมีวัง ฤดูจับปลาจะจับได้เดือนละ 2,000 กิโลกรัม หลังมีวัง จับปลาได้ 3,000-4,000 กิโลกรัม มีรายได้ต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 กีบ (ประมาณ 80 บาท)

 

ปัจจุบัน บ้านท่าโพธิ์ บน “ดอนโขง” และบ้านนา บน “ดอนคอน” ได้นำตัวอย่างวังสงวนไปทำบ้าง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วสีพันดอน

 

ถึงแม้ผมไปลาวใต้ช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 ซึ่งไม่ใช่ฤดูจับปลา (ฤดูจับปลาเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) แต่ที่สีพันดอนช่วงนี้ พรานปลายังสามารถจับปลาใหญ่ได้บ้าง ส่วนใหญ่ได้จาก “หลี่” เครื่องมือจับปลาที่สำคัญในลาวใต้

 

เย็นวันที่สอง เราไปดูหน้าตาของมันชัดๆ ที่ “หลี่ปลาสร้อย” บริเวณนี้เป็นมรดกตกทอดจากทวดมาถึง อ้ายบุนคอง ตอนเราไปถึง เขาเหลือปลาใหญ่อยู่ 5 ตัว น้ำหนัก 17 กิโลกรัม เป็นปลาบักบ้าน และปลาคัง ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อปลาออกไปแล้ว 2 รอบ ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท (ราว 25,000 กีบ) ปลาทั้งหมดได้จากหลี่ประมาณ 7-8 รวง กลางกระแสน้ำเชี่ยวกราก

 

อ้ายบุนคองอธิบายวิธีสร้างหลี่ว่า เริ่มจากเอาก้อนหินมาวางเรียงกันเป็นกำแพงกั้นน้ำ ใช้ไม้กั้นเป็นคอกและเว้นช่องไว้ให้น้ำไหลผ่าน ทางที่น้ำไหลผ่านก็จะมีไม้ไผ่สานเป็นกระแตเติ่งรองไว้สำหรับดักปลาใหญ่ที่ว่ายมาตามกระแสน้ำเข้ามาติดอยู่ในที่แคบด้านในสุด ไม่สามารถว่ายทวนน้ำย้อนออกไปได

 

กลางหลี่ มีขนำน้อย (กระท่อมหลังเล็กๆ) เฝ้าปลา เชื่อมกับฝั่งด้วยสะพานไม้ไผ่ลำเดียวพาดเหนือกระแสน้ำไหลรุนแรง ความกล้าอย่างเดียวไม่พอครับ มันต้องชำนาญด้วย ถึงจะเดินฝ่ากระเซ็นน้ำข้ามไปถึงขนำระยะทางเกือบ 50 เมตร

 

ตกค่ำ เราได้กินปลาเอินย่างไฟเนื้อนุ่มหอม แนมด้วยผักกาดหิ่นกลิ่นฉุนขึ้นจมูก ตบท้ายซดต้มยำปลาคังอร่อยแซ่บเว่อร์ ปลาเยอะจนไม่ต้องกินข้าวก็อิ่มแปล้

 

มาลาวใต้ช่วงนี้ ถ้าอยากกินปลาใหญ่หน้าน้ำหลาก เราต้องสั่งซื้อล่วงหน้าจากพ่อค้าคนกลางในราคาสูงขึ้น เพราะปลาใหญ่เกือบทั้งหมดถูกส่งไปบริการนักท่องเที่ยวตามโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารทั่วเมืองปากเซ ส่วนปลาเล็กปลาน้อย ชาวบ้านจับบ้างซื้อมาทำกินบ้าง ที่เหลือนำไปทำปลาร้า ปลาส้ม

 

วันสุดท้าย เรานั่งเรือไปดูวิถีชีวิตพรานปลาและครอบครัวบน ดอนสะฮอง แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านฝั่งตะวันออก เรียก “ฮูสะฮอง” คำว่า “ฮู” หรือ “รู”  นี้คือช่องทางเดียวที่ปลาใหญ่น้อยจากประเทศกัมพูชาว่ายทวนน้ำมาอาศัยและผสมพันธุ์อยู่ตามวังต่างๆ ในสีพันดอน เนื่องจากพื้นหินใต้น้ำเป็นแนวลาดเอียง ไม่ใช่หน้าผาสูงชันเหมือนช่วงน้ำตกคอนพะเพง และหลี่ผี ซึ่งปลาว่ายขึ้นมาไม่ได้

 

พรานปลาบนหัวดอนรายหนึ่งมีหลี่มรดก 8-9 รวง จับปลาได้เฉลี่ยปีละประมาณ 5 ตัน ขายได้ปีละ 25,000 บาท (6,375,000 กีบ)

 

แต่น่าใจหาย เมื่อพรานคนนี้เล่าให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการมาแจ้งให้เขาเลิกทำหลี่ในปี 2557 เพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนกั้นฮูสะฮองผลิตไฟฟ้าแค่ 360 เมกะวัตต์เท่านั้น

 

ผมเชื่อว่า มันจะเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติเลยทีเดียว หาก “สินในน้ำ” ซึ่งมีคุณค่าที่มิอาจประเมินได้ของชาวลาวใต้ ต้องมาหมดสิ้นลงเพราะเขื่อน

 

การมาลาวหนที่สอง และมีโอกาสลงลึกถึงวิถีชีวิตคนรากหญ้า ทำให้ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ต่างประเทศ กลับคิดว่าได้หวนคืนถิ่นกำเนิด พบปะญาติผู้ใหญ่ มิตรสหาย ฟังบทสนทนาว่าด้วยนทีสีพันดอน วังสงวน หลี่ กินปลาธรรมชาติ และดูชาวบ้านลงแขกดำนา

เหมือนไม่เคยมีเส้นเขตแดนขวางกั้นระหว่างไทยกับลาวมาก่อนเลย

———–


 

 

แม่น้ำของ

ลาวเรียก “แม่น้ำของ”  เป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงพี่น้องชาวลาวมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้ทั้งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อารยธรรมอันงดงามและการกินดีอยู่ดีของผู้คนริมสองฝั่ง ไม่จำกัดว่าเป็นเชื้อชาติใด

 

ปกติ ลำน้ำโขงก็ไหลเชี่ยวและแรงอยู่แล้ว จนชาวบ้านริมฝั่งเรียกว่า “น้ำหมุนตาไก่” เพราะมองเห็นน้ำวนมากมายหลายจุด ยิ่งหน้าน้ำ ยิ่งเชี่ยวหนัก น้ำสีขุ่นไหลเชี่ยวกรากสมคำร่ำลือ ส่วนน้ำโขงหน้าหนาว น้ำลด สายน้ำเปลี่ยนเป็นสีคราม เหมือนที่เขาว่า น้ำใสกินดีเหมือนโขงหน้าแล้ง ไม่น่ากลัวด้วย

 

ช่วงที่กว้างที่สุดกว้างถึง 12 กิโลเมตร กลางแม่น้ำเต็มไปด้วยเกาะและแก่งขนาดต่างๆ ถึง 4,000 เกาะ ที่คนลาวเรียกว่า “ดอน” อันเป็นที่มาของชื่อ “สีพันดอน” หรือ ศรีพันดอน นั่นเอง มี “ดอนโขง” หรือเมืองโขงซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของสีพันดอน จนถูกตั้งเป็นอำเภอของ… มี 1 สนามบินเก่าแก่และภูเขาถึง 7 ลูก!

 

สีพันดอน ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของลาว ก่อนจะไหลเข้าสู่กัมพูชา ชาวบ้านจับปลาเป็นอาชีพหลัก เครื่องมือและวิธีการจับปลาก็ยังคงความคลาสสิก มีเพียงเรือหางยาว แห เบ็ด อวน สัตว์น้ำจึงยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีโลมาอิรวดี ที่มีชุกบริเวณชายแดนลาว-กัมพูชา จะเห็นได้ง่ายสุดในช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน

 

เป็นสวรรค์ของคนเรียบง่ายโดยแท้

 

 

 

———–
คอลัมน์ บันทึกเดินทาง 15 กันยายน พ.ศ. 2555 ปี มติชนรายวันโดย ภาคภูมิ ป้องภัย
————

 

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →