สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ประมงพื้นบ้านซานลาน บนเส้นทางความไม่แน่นอนที่มากับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

chakan3

จารยา บุญมาก เรื่อง
วิชัย จันทวาโร ภาพ

แผงปลาปลาฉิ้งฉ้างนับร้อยนับพันแผงวางเรียงรายในหมู่บ้านซานลาน (San Hlan ) ชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีอายุนับร้อยปีของเมืองทวาย ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า ดูตระการตายิ่ง ทันทีที่พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าอชาวบ้านก็กรูกันเข้ามาทยอยเก็บปลาบรรจุถุง ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ชายหาดที่เต็มไปด้วยแผงตากปลาก็กลับกลายสภาพเป็นสนามเด็กเล่น พื้นที่พักผ่อนของเด็กๆ ชาวซานลานทันใด

วันแล้ววันเล่าของฤดูการล่าสัตว์น้ำของชาวซานลาน กลายเป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้าน ที่หลายคนล้วนพึงพอใจกับวิถีชีวิตเฉกเช่นนี้ แม้ว่าระบบไฟฟ้าในหมู่บ้านจะไม่ดีนัก

จากข้อมูลของเสมสิกขาลัยระบุว่า หมู่บ้านซานลานเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่ที่อาจจะได้รับผลกระทบเรื่องระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอันดามันโดยบริษัทของเกาหลี ซึ่งบ้านซานลานอยู่ห่างจากจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น สำหรับโรงไฟฟ้าดังกล่าวนั้นยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ใดๆ แต่เบื้องต้นมีข้อมูลว่ามีขนาด 550 เมกะวัตต์ ระบุที่ตั้ง ณ หมู่บ้านยอน ซู จี ( Ya Su Gyi) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุด้วยว่าอาจจะมีบริษัทน้ำมันจากจีนก็เตรียมเดินหน้าสร้างโรงกลั่นน้ำมันตั้งในอันดามันด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าระยะทางห่างจากหมู่บ้านเท่าใด

ซอ กู ชายวัย 49 ปี ชาวประมงซานลานบอกว่า ปลาชิงชังที่ชาวบ้านซานลานหาได้เป็นปลาที่ขายดีที่สุด และทุกครัวเรือนจะตากปลาแบบวันต่อวันเพื่อขายให้กับพ่อค้าจากทวาย ที่ลงมารับซื้อถึงที่หมู่บ้าน สัตว์น้ำรองลงมาที่ขายดี คือ ปลาทู ส่วนกุ้ง หมึก หอย ก็พอหาได้ แต่ไม่ได้มีจำนวนมากเพราะเครื่องมือหาปลามีจำกัดและชาวบ้านเองก็ไม่อยากจะลงทุนกับค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ปลาฉิ้งฉ้างนี่ถือว่าขายดีที่สุด ส่วนตัวขายปลาได้ต่อเดือนก็เป็นแสนจ๊าตแล้ว

“พ่อค้าเขาก็เอาไปส่งที่ไทยด้วยนะครับ เขามาซื้อเราราว 13,000 จ๊าด ต่อกิโลกรัม แล้วก็เอาไปขายต่อ พวกเราก็ทำไป จะถูกจะแพงก็ไม่ว่า เพราะเราอยู่กันแบบนี้มันดีกว่าไม่มีรายได้เลย” ซอ กู กล่าว
chakan4

ซอ กู ย้อนอดีตว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เคยไปใช้ชีวิตในเกาะสอง และใช้ชีวิตบนเรือประมงไทยที่จังหวัดระนองมานานกว่า 5 ปี พอเก็บเงินได้ก็กลับมาอยู่บ้านในปี 2012 เอาเงินเก็บส่วนหนึ่งมาซื้อเรือใหญ่สำหรับออกทะเลลึก จากนั้นก็จ้างลูกเรือเพิ่มเติม ปัจจุบันซอ กู มีเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก 5 ลำ และเรือใหญ่ 1 ลำ

“ที่ผมต้องซื้อเรือใหญ่เพราะว่าอยากจะหาปลาให้ได้เยอะๆ กว่าเดิม แล้วก็ออกเรือไปไกลๆ หน่อย เพราะตอนนี้เรือใหญ่ของไทยมาหาปลาแถวนี้ทั้งนั้น บางคนก็หาอยู่แถวเกาะสอง ผมเองก็กลัวจะแพ้เรือเขา ก็อยากมีบ้าง จริงๆ มันทำเรือใหญ่ไม่ง่ายนะ มันเสียค่าน้ำมันเยอะ แต่ถ้าไม่ทำเราอาจจะไม่ทันเรือไทย แต่เรือใหญ่เราออกทะเลลึกแค่เดือนละ 3 ครั้ง นอกนั้นก็ใช้เรือเล็กไปหาปลาเอาใกล้ๆ มันสะดวกกว่า ยิ่งช่วงหน้าลม หน้าฝนไม่ไปหรอกกลัวตาย คลื่นมันแรงไง เราก็ทำตามอัตภาพ แต่ก็อยากให้ประมงที่นี่ได้ไปต่อ ถ้าชาวบ้านเลิกทำแล้วไปรับจ้างที่อื่น เกิดเรือไทยมาหาปลาที่ซานลาน เราจะทำยังไง เราไม่กล้าทิ้งไง ผมคิดว่าถ้าผมทำงานได้ดีตรงนี้ ผมไม่กลับไปประเทศไทยอีกแล้ว” ชายหนุ่มเล่าถึงความหวังในการพัฒนาอาชีพประมง

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงโรงไฟฟ้า ซอ กู บอกว่าเคยได้ยินคร่าวๆ ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมาตั้ง แต่ไม่เคยรู้ว่าตั้งที่ใด ไม่เคยทราบข้อมูลรายละเอียดใดๆ แต่เชื่อว่า คนซานลานอยากได้ไฟฟ้า

ต่อด้วยคำถามว่า แล้วระหว่างโรงไฟฟ้ากับประมงเขาอยากได้อะไร

“ก็ต้องเป็นประมงสิครับ ผมว่าชีวิตพวกเราไม่ได้แย่นะ ปลาขายดีมากๆ เข่งหนึ่ง 20,000 จ๊าต”

ซอ กู บอกด้วยว่า ปัจจุบัน ชุมชนซานลานมีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 500 หลังคาเรือน มีเรือประมงกันแทบทุกบ้าน มีโรงผลิตน้ำแข็ง และโรงปั่นไฟฟ้าขนาดเล็ก ดำเนินการโดยเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยการดำเนินการของนายทุนชาวทวาย และมีบางส่วนยังใช้ไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์เซลล์ อีกส่วนมีไฟฟ้าจากรัฐบาลเข้ามาช่วย แล้วแต่ว่าใครจะสะดวกรับบริการไฟฟ้าแบบใด

ด้านจี แอ แม่ค้าในหมู่บ้านซานลานวัย 54 ปี เปิดใจคุยตรงๆ ว่า จะพูดเรื่องระบบโรงไฟฟ้าที่ซานลาน ต้องพูดเงียบๆ เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่เคยเอาข้อมูลมาพูดคุยกับชาวบ้านว่าจะจัดการระบบไฟฟ้าอย่างไร เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการประชุมเรื่องการจัดชุมชนให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ บริการนักท่องเที่ยว และอาจจะเปิดบ้านพักขนาดเล็ก (Home Stay ) รองรับ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่บางกลุ่มยังตกลงเรื่องผลประโยชน์จากรายได้การท่องเที่ยวไม่ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ซานลานเหมาะจะเป็นหมู่บ้านประมงพื้นบ้านต่อไป หากเปิดการท่องเที่ยวก็ควรเปิดเที่ยวเชิงชุมชนประมงที่ยั่งยืน ขณะนี้สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐควรจะทำ คือ ควบคุมเรือประมงพาณิชย์ที่มาจากฝั่งไทยให้เข้มงวด เพราะเรือประเภทดังกล่าวบางครั้งเข้ามาในน่านน้ำแล้วทำลายกับดักสัตว์น้ำที่ชาวบ้านดักทิ้งไว้

chakan2

จีแอ บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วทะเลโดยรอบซานลาน มีพื้นที่ดำน้ำดูปะการังด้วย ซึ่งหากเรือใหญ่เข้ามาหาปลาบริเวณทีปะการัง ไม่นานปะการังก็ตายไป

“ยังไม่มีคนมาดำน้ำที่นี่เยอะหรอก แต่ก็มีมาบ้าง คนญี่ปุ่น ฝรั่ง บางคนมาเหมาเรือชาวประมงไปดำน้ำ เขาเอาชุดดำน้ำมาเอง ก็ราวๆ 2,000-3,000 บาท ถูกกว่าดำน้ำที่ไทยนะ ที่นี่สวยกว่าด้วย แต่มันยังมีคนสนใจน้อยมาก ไม่รู้เมื่อไหร่คนจะรู้จักบ้านเรา พี่เองพี่พูดเลยว่า อยู่ที่นี่สบายนะ มันเหม็นปลาหน่อยก็จริง แต่มันบ้านเรานะ มันสนุกกว่าอยู่ที่อื่น พี่เคยไปทำงานที่ไทยนานกว่า 10 ปี ทำงานเป็นพนักงานผสมเทียมในฟาร์มหมูที่ชุมพร เก็บเงินได้หลายบาท มาซื้อบ้านปล่อยเช่าที่เมืองทวาย แต่ตัวเองไม่อยู่นะให้สามีอยู่เฝ้า พี่มาอยู่ขายของที่นี่กับลูก” จี แอ อธิบายถึงความสำคัญของหมู่บ้านที่เธอได้สัมผัสมา

จี แอให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เธอผ่านช่วงเวลาที่ได้เห็นแสงสี และความเจริญของประเทศไทยมามาก เธอเชื่อว่าคนพม่าบางคนตื่นเต้นกับการมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากให้เลือกระหว่างประมง ธรรมชาติ และไฟฟ้า คนพม่าจะเลือกอย่างแรกมากกว่า ปัจจุบันแม้หมู่บ้านซานลานมีไฟฟ้าใช้อย่างจำกัด แต่ จี แอ เองยังมีความสุขมากกว่าการไปขายแรงงานในประเทศไทย

ปัจจุบันซานลานเป็นเพียงชุมชนที่มีความคึกคักของประมงพื้นบ้าน และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มาเที่ยวทวายเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลายชุมชนในทวายอาจจะต้องการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป แต่หากมีการให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วไม่แน่ว่าในอนาคตชาวบ้านอาจจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า รับหรือไม่รับโครงการฯ ก็เป็นได้

แน่นอนว่าขณะนี้ชาวบ้านซานลานไม่อาจคาดเดา หรือตอบคำถามเกี่ยวกับความกังวลของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและอาชีพประมงในพื้นที่ก็ตาม แต่หากในอนาคตมีการวิจัยข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประมงพื้นบ้าน เชื่อว่าของดีในหมู่บ้านซานลานจะถูกเปิดเผยมาทีละเล็ก ทีละน้อย

จากบรรยากาศหมู่บ้านของซานลานนั้น นับได้ว่าเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีความเข้มแข็ง และมีการจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบหากมีโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมใหญ่ในอนาคต คงต้องลุ้นกันว่าหากโครงการผ่านการพิจารณาแล้วซานลานจะกลายเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ต้องรับเคราะห์จากโครงการพัฒนาของภาครัฐหรือไม่

สำหรับตัวอย่างของชุมชนประมงอายุนับร้อยปีที่ล่มสลายไปแล้ว หลังจากมีโครงการขนาดใหญ่อย่างเขตเศรษฐกิจทวายนั้น ได้แก่ หมู่บ้านชาคาน (Cha Khan) ซึ่งตั้งอยู่ ณ หาดมยินจี (Myin Gyi ) ใกล้ๆ กับบริเวณก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่มีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่กว่า 30 หลังคาเรือน ชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าวเคยออกมาต่อต้านเอกชนที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตั้งแต่ปี 2013 ต่อมาถูกรัฐบาลฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่เมื่อปี 2015 โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกที่รัฐบาล ชุมชนชาคานจึงต้องล่มสลายไปเพราะไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย สะท้อนชัดเจนถึงการเลือกข้างของรัฐบาลพม่าที่ยืนอยู่ข้างฝ่ายทุนและเลือกขับไล่ประชาชนกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อยออกจากพื้นที่ทั้งที่บุกเบิกและอาศัยอยู่มานาน ทว่าเสียงคัดค้านก็ยังไม่มีค่าพอให้รัฐบาลเห็นใจ

chakan1

On Key

Related Posts

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →

กองทัพ KNDF-KNPP ยึดพื้นที่รัฐคะเรนนีได้ 90% โดยเฉพาะหลายเมืองติดชายแดนไทย ส่วนทัพโกก้างเริ่มฟื้นฟูเมืองเล่าก์ก่ายหลังสงครามสงบชั่วคราว ขณะที่ทัพอาระกันรุกคืบพื้นที่-กลไกรัฐยะไข่ราชการหยุดทำงาน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Myanmar Now แRead More →

ชาวบ้านสามพร้าวยื่นหนังสือ 4 หน่วยงาน เผยถูกรัฐขับไล่ออกจากที่ทำกินกว่า 500 ไร่ เตรียมสร้างวิทยาลัยแพทย์ เคยร้องเรียนตั้งแต่ปี 65 ไร้ความคืบหน้า หวังเร่งแก้ปัญหาเยียวยาผลกระทบ

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลากลางจังRead More →