สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

บริษัทสัมปทานระเบิดแก่งแม่น้ำโขงบินพบกลุ่มรักษ์เชียงของ แจงเหตุผลข้อดีโครงการละเอียดยิบ เผย 3 ประเทศ ยกเว้นไทยต่างเห็นด้วย “ครูตี๋”วอนจีนลดกำไร-ลดขนาดเรือ ชี้ควรเคารพคนท้องถิ่น

received_1297500223626593

วันที่ 23 ธันวาคม 2559 ที่ โฮงเฮียนแม่น้ำของ สำนักงานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายหลิว ลีหัว รองประธานบริษัท CCCC Second Habor Consultant ซึ่งได้รับสัมปทานจากทางการจีนในโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และคณะรวม 5 คน ได้เดินทางเข้าพบนายนิวัฒน์ ร้องแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เพื่อชี้แจงถึงการสำรวจและระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง โดยนายหลิว ลีหัว ได้นำเสนอข้อมูลพาวเวอร์พอยต์โครงการและการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งที่จะดำเนินต่อไปในหัวข้อ Introduction of Preliminary Work of the Navigation Channel Improvement Project on the Lancang-Mekong River โดยมีตัวแทนจากกรมเจ้าท่า 5 คนมาร่วมสังเกตการณ์

received_1297500226959926

นายหลิว ลีหัว รองประธานบริษัทกล่าวว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน เกี่ยวกับความกังวลของประชาชนในท้องถิ่น จึงตัดสินใจเดินทางมากจากประเทศจีนเพื่อมานำเสนอข้อมูลและรับฟังคำเสนอแนะจากกลุ่มรักษ์เชียงของ โดยตนเองทำงาน ในโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ ในเฟส1 เมื่อ15 ปีที่แล้ว โดยเป็นผู้จัดการโครงการ และออกแบบโครงการ

นายหลิวกล่าวว่าเมื่อต้นปี ทางบริษัทได้ชนะการประมูล โครงการฯ ในระยะที่ 2 ได้รับงบประมาณดำเนินการในขั้นแรก (preliminary work) คือออกแบบ สำรวจ และจัดการรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) โครงการนี้เป็นของ 4 ประเทศ (จีน ลาว ไทย พม่า) บริษัทมีหน้าที่ดำเนินการตามแผนหลักที่สี่ประเทศวางแผนไว้ งานเริ่มในเดือนเมษายน ซึ่งผู้แทน 4 ประเทศประชุมกันที่เมืองจิงหง สิบสองปันนา ต่อมาในเดือนสิงหาคม ได้เริ่มดำเนินการสำรวจ ยกเว้นพื้นที่พรมแดนไทย-ลาว เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้ทำการสำรวจ แต่รัฐบาลพม่า จีน ลาว อนุมัติให้ทำได้

received_1297499650293317
“เราสำรวจทางตอนบนจากเชียงแสน และตอนล่างของเชียงของ เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรก คือพรมแดนจีนพม่าลาว เหนือเชียงแสน ส่วนสองบริเวณพรมแดนไทยลาวยังไม่ได้ทำการสำรวจ และส่วนที่สามคือในลาวลงไปถึงหลวงพระบาง ได้ทำการสำรวจแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน ได้เช่าเรือท้องถิ่น 3 ลำ ล่องไปตอนล่างเพื่อสำรวจในลาว การทำงานตอนนี้เป็นไปได้ด้วยดีเพราะได้รับการสนับสนุนจาก3 ประเทศ ยกเว้นไทย เรือเราทั้งหมด มีผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นเพราะโครงการทำโดย 4 ประเทศ และเราเป็นผู้รับงาน ในลาวส่วนใน มีเจ้าหน้าที่ลาวกระทรวงคมนาคม” นายหลิวกล่าว

รองประธานบริษัทฯยังกล่าวว่า หลังจากเริ่มโครงการ 3 ประเทศ (ยกเว้นไทย) ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีสำหรับโครงการนี้ ในส่วนของไทย หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการแล้ว ก็หวังว่าจะเริ่มการสำรวจบริเวณพรมแดนไทยลาว และเริ่มเก็บข้อมูล รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวลดล้อมโดยจะทำร่วมกับหน่วยงานไทย และการมีส่วนร่วมจากสาธารณะ

นายหลิวกล่าวว่า เส้นทางเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง มีความยาว 890 กิโลเมตร จากซือเหมา มณฑลยูนนาน ลงมาถึงหลวงพระบาง ในเฟส 1 สามารถเดินเรือพาณิชย์ลงมาถึงเชียงแสน เรือขนาด 150 ตัน แต่จากเชียงแสนลงไปถึงหลวงพระบาง ต้องใช้เรือขนาด 60 ตัน เนื่องจากเส้นทางน้ำยังไม่ได้ปรับปรุง แม่น้ำโขงมีเกาะแก่ง ไม่สอดคล้องความต้องการการพัฒนาระหว่างประเทศ

ขณะที่วิศวกรของบริษัท กล่าวว่า ใน 4 ประเทศมีท่าเรือ 15 แห่ง ส่วนในเฟส 2 งานสำรวจโครงการระยะทาง 631 กิโลเมตร พรมแดนพม่าลาว 31 กม พรมแดนลาวพม่า234 กม พรมแดนไทยลาว 96 กม ยังไม่ได้รับอนุมัติ ในลาวลงถึงหลวงพระบาง 270 กม ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาทางวิศวกรรม สำรวจปลา และธรณีวิทยา ในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ได้เข้าสำรวจในลาว เรื่องปลา ระบบนิเวศ โดยดำเนินการตามระเบียบของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัด แต่บริษัทไม่ได้ดำเนินการในไทย ทั้งนี้สรุปเฟสแรกที่ดำเนินการมาแล้ว ช่วงปี 2002-2004 พัฒนาปรับปรุง 11แก่ง ยกเว้นแก่งคอนผีหลง

“เกาะแก่งแม่น้ำโขงทั้ง 11 แห่งในช่วงปี 2001 เห็นได้ว่าหลังเฟสแรก การเดินเรือในแม่น้ำโขงเพิ่มมากโดยเฉพาะในลาว ไทยก็ใช้ท่าเรือเชียงแสน ในลาวเมื่อ 15 ปีก่อน โดยขณะนั้นเรือลาวมีจำนวนไม่มาก แต่ตอนนนี้เพิ่มขึ้นมาก และตอนเมษายนที่เราไปเยี่ยมชุมชนในลาวพบว่าชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น ชาวบ้านซื้อเรือ ขนส่งสินค้า ร่ำรวยขึ้นหากเทียบกับสิบห้าปีก่อน” วิศกรจีน กล่าว

ขณะที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว่า ขอบคุณนายหลิวและคณะที่ให้เวลามาอธิบาย ตนเข้าใจว่าจีนเห็นอย่างไรและเข้าใจในผลกระโยชน์ของจีน รวมทั้งเข้าใจโครงการของบริษัทฯที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเห็นถึงผลกระโยชน์ที่จะเกิดขึ้น การจะระเบิดแก่งอย่างไรคงเป็นเรื่องวิชาการ รายละเอียกด แต่ตนก็อยากพูดถึงประโยชน์ของพวกเราคนท้องถิ่น คืออะไร เพราะที่นั่งฟังมานี่คือผลประโยชน์ของจีน

“เราพูดมาตลอดสิบกว่าปีในเรื่องโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ที่เราอยากเล่าให้ท่านฟังประเด็นสำคัญที่สุด อันดับสองคือเรื่องที่เราเป็นห่วง เราเห็นว่าจะเกิดอะไรบ้างหากท่านเอาหินผาเกาะแก่งพวกนี้ออกไป เราเข้าใจโครงการนี้พอสมควรว่าสุดท้ายเรือขนาด 500ตันเเดินเรือได้ แต่เป็นประเด็นใหญ่ที่คนท้องถิ่นไม่พอใจ คับข้องใจ เพราะการกระทำที่ผ่านมาเรื่องแรกคือ ใครได้ใครเสีย สุดท้ายโครงการจะเป็นอะไรท่านไม่บอก ท่านบอกแค่เป็นตอนๆ ไม่ให้เห็นทั้งหมด สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลท่านคือที่ท่านทำมาโดยไม่เคารพคนท้องถิ่นเลย เราไม่ได้ต่อต้านการเดินเรือค้าขาย แต่เราต่อต้านการค้าขายที่ไม่เป็นธรรม ที่คนท้องถิ่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เราเองก็ได้ศึกษาในพื้นที่ที่ท่านจะดำเนินการมาตลอดเวลา และเราเห็นคุณค่าของระบบนิเวศ หินผา ดอน เรามีกระบวนการงานวิจัยของเรา ใครได้ใครเสีย เราเข้าใจร่วมกันอยู่ แต่เราเชื่อว่าที่มีหนทางที่เราอยู่ร่วมกันได้ สิ่งไหนที่เลี่ยงได้ ไม่ต้องทำลาย คุณก็ต้องรักษาไว้” นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ทุกวันนี้การค้าขายทางเรือมาถึงเชียงแสนแล้วไม่มีปัญหา แต่ธรรมชาติทรัพย์สินพวกนี้มีมูลค่าและคุณค่าของพวกเรา อาชีพใหม่ของพี่น้องเชียงของคือเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ สิ่งที่เราเป็นห่วงมาตลอดไม่ใช่ว่าเราคิดเอาเอง เรามีงานวิจัย มีองค์ความรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากทำขนาดนี้ เราเข้าใจว่าเกาะแก่งหนึ่งแก่งไม่น่ามีปัญหาอะไรนะ แต่จากข้างบนถึงหลวงพระบางกี่แก่ง

“การทำลายระบบนิเวศคือฆ่าแม่น้ำโขง ฆ่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับแม่น้ำโขง ฆ่าคนที่พึ่งพาด้วย เราคิดว่าเราอยู่ร่วมกันได้ หากรัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนว่า น้ำขนาดนี้ จะใช้เรือย่างไร หากคิดใหญ่อย่างเดียว คนเล็กตายหมด โดยหลักคิดอย่างนี้หากประธานเหมา จ๋อ ตุง ไม่เสียชีวิต คงไม่ยอมให้ทำแบบนี้แน่ เสียดายที่ท่านตายไปแล้ว”นายนิวัฒน์ กล่าว
นายนิวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้การค้าขายเชื่อมโยงไปได้แล้วด้วยถนน R3A สะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 หมดไปกี่หมื่นล้าน การค้าขายกันเต็มที่เราไม่ว่า แต่แม่น้ำโขงควรเหลือไว้ให้คนท้องถิ่นด้วยให้เขาหาอยู่หากิน อยากฝากด้วยหัวใจของเรา ถึงแม้รัฐบาลจะพูดอย่างไร เราก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเมืองของเราแน่นอน เรายังไม่อยากพูดถึงเรื่องร่องน้ำที่จะเปลี่ยนไป เกี่ยวพันไปถึงเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ อยากฝากว่าการให้เกียรติกัน เป็นเรื่องสำคัญ

“ผมยังไม่พูดถึงข้อบังคับการเดินเรือหากระเบิดเกาะแก่งแล้วว่าจะมีผลต่อชาวบ้านอย่างไร ห้ามเก็บไม้ไหลในน้ำ ซึ่งเป็นวิถีของชาวบ้าน คุณห้ามพวกผมล่องแพ ห้ามวางตาข่ายในร่องน้ำ จริงๆ ไม่ต้องห้ามหรอกหากเรือ 500 ตันมา ก็เราก็ออกเรือเล็กไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องคุยกันก่อน รัฐบาลก็คงรู้เรื่องเดียวคือความมั่นคง สิ่งที่ท่านอธิบายก็คือหลักการของสากลผมเข้าใจ คิดว่าเราคงจะได้มีหนังสือถึงบริษัทของท่านเพื่ออธิบายในรายละเอียดว่าชาวบ้านคิดอย่างไร สุดท้ายก็ขอขอบคุณ แต่เราก็ต้องเข้าใจกัน เราเป็นมนุษย์ร่วมกัน หากจีนลดกำไรลง จากมากๆ ลดลงสักหน่อย ชาวบ้านก็อยู่ด้วยกันได้และเป็นมิตรภาพร่วมกัน”นายนิวัฒน์กล่าว

นายหลิว ขอบคุณในตอนท้ายที่กลุ่มรักษ์เชียงของได้ให้เวลาในการอธิบาย ส่วนข้อเสนอต่างๆของชาวบ้านก็สามารถเสนอได้
////////////////////

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →