สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชูชุมชนต้นแบบ“กะเหรี่ยงบ้านกลาง”เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน-ปลอดพืชเชิงเดี่ยว วอนภาครัฐให้โอกาสชนเผ่า พล.อ.สุรินทร์ชี้ประเทศไทยอนุรักษ์ดีแต่มนุษยธรรมไม่ผ่าน แนะสังคายนาผู้ใช้กฎหมาย

ภาพจากเฟซบุ๊ก ฮากะเหรี่ยง
ภาพจากเฟซบุ๊ก ฮากะเหรี่ยง

เมื่อวัน 19 มกราคม 2560 นายสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2560 นี้ ได้เตรียมจัดงาน “3 ทศวรรษ สิทธิชุมชน : ชาติพันธุ์และชนเผ่ากับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน” โดยบ้านกลางซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงจะเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และเป็นหมู่บ้านนำร่องที่ชนเผ่าสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยในช่วงที่ประเทศไทยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 สิงหาคม 2553. เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงขึ้นมานั้น หมู่บ้านกลางนับเป็นหมู่บ้านนำร่องในการเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษที่มีสิทธิในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการป้องกันภัยคุกคามต่อทรัพยากรในพื้นที่ จึงได้รับคัดเลือกเป็นตัวอย่างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารทรัพยากร

นายสมชาติ กล่าวต่อว่า บ้านกลางตั้งอยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในอดีตนั้นป่าบ้านกลางจึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสัมปทานไม้สักถึง 3 รอบ รอบแรกในปี 2493 รอบที่สองในปี 2502 และรอบที่สามในปี 2514 แม้จะมีการยกเลิกสัมปทานในปี 2530 แต่ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าก็ยังไม่หมดไปจากพื้นที่ ยังมีการลักลอบตัดไม้สักโดยกลุ่มทุนและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ปัญหาน้ำท่วม และดินถล่ม เข้ามาแทนที่ความสมบูรณ์ของป่าสัก ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เมื่อเจอปัญหาหลายอย่างเข้ามา ชาวบ้านจึงต้องปฏิวัติตัวเอง โดยรวมตัวเพื่ออนุรักษ์ป่าในรูปแบบคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านกลาง ตั้งกติการ่วมกันในการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ ทำให้สามารถรักษาพื้นที่ป่ากว่า 18,000 ไร่ เอาไว้ได้นับตั้งแต่เลิกสัมปทาน โดยชาวบ้านได้แบ่งพื้นที่ตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็น ป่าใช้สอยราว 3,000 ไร่ ป่าอนุรักษ์ประมาณ 6,000 ไร่ หมู่บ้านสัตว์ป่า ประมาณ 1,000 ไร่ พื้นที่ป่าสาธารณะ กว่า 6,000 พื้นที่ทำกิน ราว 1,300 ไร่ และที่อยู่อาศัยเพียงแค่ 60 ไร่

“ตลอดเวลา 30 กว่าปี เราทำทุกอย่างเลยนะ ทั้งร่วมกันป้องกันไฟป่า ปลูกป่าทดแทน ปลูกไผ่เพื่อดำรงชีพ และปลูกไม้ยืนต้นที่มีประโยชน์แก่สัตว์ป่า ส่วนพื้นที่ไร่หมุนเวียนเราก็ทำแค่ในพื้นที่เดิม ที่วนซ้ำตามรอบปีที่เหมาะสม 3-5 ปี ไม่เคยต้องการเพิ่มเติม และเรามีเวรยามเฝ้าระวังการตัดไม้อย่างดี อีกทั้งตั้งกติกาไว้ชัดว่าจะไม่ไปยุ่งกับป่าสาธารณะ ป่าอนุรักษ์ แล้ววันนี้เราก็ทำได้ เราอยากให้เห็นว่าเราทำได้และอยากนำเสนอรูปแบบของเรา อยากให้รัฐบาลให้โอกาสชนเผ่าทั่วไทยได้มีส่วนร่วมทำตามแผนชนเผ่าเล็กๆบ้าง ดีกว่าใช้นโยบายกลางมาจัดการเรา เมื่อบ้านกลางทำได้ ที่อื่นก็ทำได้” นายสมชาติกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านกลางกล่าวต่อว่า ที่โดดเด่น คือ บ้านกลางไม่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และไม่ใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม โดยปัจจุบันประชาชนจำนวน 72 ครัวเรือน ยังคงใช้แนวทางนี้เพื่อต่อรองกับทุนใหญ่ซึ่งคิดว่าหากชนเผ่าทุกคนเห็นความสำคัญของการต่อต้านพืชเชิงเดี่ยวก็จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะกว่า 30 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้ป่าหมด ก็คือระบบเกษตรพืชเชิงเดี่ยวที่เกษตรกรซึ่งเป็นชนเผ่าต้องทำงานรับใช้ทุนใหญ่ ทั้งนี้นอกการทำเกษตรยั่งยืนแล้วบ้านกลางยังมีการแบ่งเขตพื้นที่”หมู่บ้านสัตว์ป่า” พื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าให้มีการแพร่พันธุ์มากขึ้น โดยจะใช้ประโยชน์เพียงการหาเห็ดหรือดอกดินเท่านั้น และจะมีการทำแนวกันไฟตลอดพื้นที่โดยรอบ จัดเวรยามเดินตระเวนตรวจไฟป่า และบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาล่าสัตว์ สำหรับสัตว์ที่พบในหมู่บ้านสัตว์ป่าได้แก่ เก้ง ไก่ป่า หมูป่า กระรอก กระต่าย ตะกวด ฯลฯ

ด้านนายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร  หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง และผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนไทยมีการนำเสนอข่าวเรื่องราวความน่าเศร้าของชนเผ่ากะเหรี่ยง อาทิ กรณีกะเหรี่ยงที่บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกโยกย้ายออกจากชุมชนดั้งเดิมนั้นเป็นเรื่องที่น่าใจหายสำหรับชนเผ่า และเป็นเรื่องน่าเศร้าจากนโยบายรักษาผืนป่า ที่ทางการมองข้ามสิทธิชุมชน ดังนั้นในโอกาสการจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการนำบทเรียนของบ้านกลางออกมาอธิบายให้สังคมเห็นว่า ชนเผ่ามีศักยภาพดูแลตนเองและดูแลทรัพยากรได้ ตามมติครม.ที่รัฐบาลไทยควรนำมาใช้ คือ 1 .จัดการทรัพยากร 2.อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม 3 .การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม 4.การศึกษา 5 .สิทธิในสัญชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ประเด็นที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ เรื่องการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างล่าสุดกรณีที่รัฐบาลเร่งรัดให้มีการทวงคืนผืนป่า และประกาศเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ (อช) แล้วโยกย้ายชุมชน ส่วนนี้เท่ากับไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.

ขณะที่พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง กล่าวว่า จริงๆแล้วชนเผ่าในประเทศไทยมีการตั้งถิ่นฐานนับร้อยๆ ปี แต่กฎหมายที่นำมาใช้กับชนเผ่ามีเพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่ประเทศไทยควรกลับไปทบทวน คือ เจ้าหน้าที่และบุคคลากรทุกคนที่นำกฎหมายไปใช้ควรจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่กระทบต่อความผาสุกของชนเผ่า อย่างกรณีการเร่งประกาศเขตอุทยาน ส่วนนี้ในแง่อนุรักษ์ประเทศไทยทำได้ดี แต่ถ้าในแง่ของมนุษยธรรม พูดเลยว่าไทยไม่ผ่าน เพราะคนใช้กฎหมายทำผิดเจตนารมณ์ ข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายถูกนำมาใช้เพื่อความสงบของสังคม เพื่ออำนวยความเป็นธรรม แต่สิ่งที่เป็นแทบจะไม่มีใครได้รับความเป็นธรรมเลย โดยเฉพาะชนเผ่าที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายขับไล่ออกจากชุมชนเพื่อเอื้อต่อคนไม่กี่กลุ่มให้ทุจริตในที่ดินและป่า ดังนั้นกรณีที่ชนเผ่าจะเอาตัวรอดจากการเป็นเหยื่อในกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ก็คือต้องเร่งกันเขตชุมชนของตนเองออกมาจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าสงวน

“คุณจะใช้วิธีวาดแผนที่ เขียนเรื่องเล่า ประวัติความเป็นมา หรือทำข้อมูลแนวใดก็ได้เพื่อประกาศแนวเขตของตนเอง อันนี้ คือหน้าที่ของชนเผ่า ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐคือต้องสังคายนาผู้ใช้กฎหมาย ตรงนี้ผมแนะนำว่าให้ฝ่ายปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาประชาชน อย่างเช่นการทวงคืนผืนป่า จะมุ่งเอาแต่ยึดที่ดินคืนไม่ได้ต้องมาฟังจากปากคนแก่ คนเฒ่าในชุมชนก่อนว่าเขาอยู่มาเมื่อไหร่ อยู่มาก่อนกี่ปี แล้วตกลงกัน อย่างบ้านกลางนี่เขาทำแนวเขตัดเจน มีป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย มีที่ปลูกข้าว ปลูกพืชชัดเจน เขาก็สู้กับรัฐได้ ผมอยากให้ชนเผ่าตั้งใจจริงแล้วทำให้ได้ ส่วนรัฐก็ต้องเข้ามาฟังประชาชนไม่ใช้อำนาจปกครองแบบเอาเปรียบคนที่เขาอยู่มาก่อน”พลเอกสุรินทร์ กล่าว

อนึ่งสำหรับงานกิจกรรม 3 ทศวรรษ สิทธิชุมชน : ชาติพันธุ์และชนเผ่ากับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มกราคมนี้ ที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีกำหนดการดังนี้

วันที่ 21 มกราคม 2560

10.00-10.30 น. กล่าวต้อนรับ โดย พะตี จอนิ โอ่โดเชา
ชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย นายถาวร หลักแหลม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง
10.30-11.00 น. ปาฐกถาพิเศษ โดย พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง
11.30-12.30 น. นำเสนอบทเรียน ประสบการณ์ 25 ปี ชุมชนบ้านกลางต่อการจัดการทรัพยากร “วิถีสมดุลและยั่งยืน คนกับป่าที่บ้านกลาง”
โดย นายสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 และร่วมแลกเปลี่ยน อภิปราย
12.30-13.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.30-16.00 น. เสวนา “สิทธิชุมชนบนฐานคิดคู่ขนานกับกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง” โดย
• ดร. กฤษดา บุญชัย นักวิชาการอิสระ
• คุณพฤ โอ่โดเชา คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง
• คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี
• นายวุฒิ บุญเลิศ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตะนาวศรี
• รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาศูนย์สันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
• นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา
• นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ดำเนินรายการโดย นายโอฬาร อ่องฬะ นักวิชาการอิสระ
16.00-18.00 น. เดินทางไปยัง ม่อนโล่งใจ (แนวเขตฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง) เพื่อสถาปนาพื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่จัดการทรัพยากรโดยชุมชน
• พิธีสถาปนาเขตคุ้มครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณกะเหรี่ยง
• พิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อพี่น้องชาติพันธุ์
• พิธีเปิดหลักสัญลักษณ์คุ้มครอง โดย พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง
• ประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์ แนวทางการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดย นายดิเรก กองเงิน ประธานสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และนางกัญญา ปันกิตติ คณะกรรมการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
18.00 น. รับประทานอาหารเย็นและพักผ่อนตามอัธยาศัย

—————————-
วันที่ 22 มกราคม 2560
9.00-10.00 น. สรุป-ประมวลผลภาพรวม สถานการณ์ และปัญหาพื้นที่ ณ โบสถ์บ้านกลาง
10.00-12.00 น. ลงพื้นที่ไร่หมุนเวียน บ้านกลาง
12.00-13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00-15.00 น. การประชุมร่วม 3 ฝ่าย : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน , ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของรัฐ ณ โบสถ์บ้านกลาง

ทั้งนี้ สามารถสอบถามและประสานข้อมูลต่างๆได้ที่นายสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง โทร 0810270750 หรือ สรศักดิ์ เสนาะพรไพร โทร 0987538442

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →