สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ครม.เตรียมเยียวยาผลกระทบพรบ.การเดินเรือ ชาวบ้านคลองด่านวอน รัฐบาลทบทวน กสม.ส่งหนังสือถึง สนช.-นายก ฯ แนะมาตรการ 4ข้อ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ลงพื้นที่พบชาวบ้านคลองด่านที่ร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พรบ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ. 2560 มาตรา 18 พร้อมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ พรบ.ดังกล่าว ร่วมกับชาวบ้านและตัวแทนหน่วยงานรัฐ อีกทั้ง ยังได้ล่องเรือสำรวจวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำ ซึ่งพบว่าส่วนมากมีการสร้างสะพานเทียบเรือยื่นออกมาเพื่อความสะดวกในการเทียบท่า

นางราตรี ประคองจิต อายุ60 ปี ชาวชุมชนคลองด่าน กล่าวว่า ชุมชนคลองด่านอาศัยอยู่กับคลองมาเนิ่นนาน ในอดีตนั้นยังไม่มีถนนเพื่อการสัญจรทางบก ชาวบ้านมักล่องเรือไปมาหาสู่กันเสมอ โดยอาชีพของชาวบ้านนั้นคือทำประมงหาสัตว์ทะเลทั้งกุ้ง หอย ปูปลา อยากให้ กสม.ช่วยรับเรื่องร้องทุกข์และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวน แก้ไข พรบ. ที่เหมาะสมกับชาวบ้าน

“ ที่ดินที่เราอยู่มีโฉนดบ้าง ไม่มีบ้างก็จริง แต่เราก็อาศัยมานานมาก ส่วนคลองที่เราอยู่ตอนนี้พอมีกฎหมายหลายฉบับ หน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ก็ต่างบอกว่ามีส่วนร่วมในการดูแลคลอง อย่างคลองด่านนั้นถ้าเราต้องขออนุญาตสร้างตามกฎหมายจริงๆ เราไม่รู้ว่าตรงไหนอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ตรงไหนอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เราต้องไปตามขออนุญาตสร้างสิ่งปลูกสร้างอีกมากมาย ถามว่า คนที่ต้องทำมาหากินแบบเรา เราจะทำอย่างไร ถ้าวันๆหนึ่งต้องมาเดินเอกสารเช่นนี้บ่อยๆ พรบ.นี้กระทบคนริมคลองทั่วประเทศ อยากให้แก้ไขใหม่ให้ดี” นางราตรี กล่าว

นายสาธิต รองงาม ชาวชุมชน คลองด่าน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านมีความสับสนอย่างมากเรื่องการขออนุญาต เพราะการขออนุญาตสร้างสิ่งปลูกสร้างแต่ละครั้ง พบว่า บางครั้งความชัดเจนเรื่องพื้นที่คลองชาวบ้านมองไม่ออกว่าส่วนใดเป็นความดูแลของกรมชลประทาน ส่วนใดเป็นความดูแลของกรมเจ้าท่า และหากจำเป็นต้องขออนุญาต อาจจะทำให้เกิดความซับซ้อน ซึ่งที่ผ่านเรื่องความชัดเจนดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงคิดว่า การออก พรบ.ที่กำหนดให้ชาวบ้านต้องไปแจ้งว่าตัวเองรุกล้ำ ลำน้ำเช่นนี้ จะยิ่งเพิ่มความสับสนและทำให้เกิดข้อพิพาทมากขึ้น

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า ต่อกรณีร้องเรียนจากชุมชนริมน้ำเกี่ยวกับผลกระทบจาก พรบ.การเดินเรือนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา กสม.ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) เพื่อรายงานผลการตรวจสอบที่มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวแล้ว และเสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหาที่เหมาะสม สอดรับกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

“พรบ.ดังกล่าว ที่ กสม.ตรวจสอบข้อมูลมาพบว่า ประชาชนหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ แต่ของคลองด่านอาจจะมีหน่วยงานมาเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน ดังนั้นอาจจะต้องมีการคุยกันอีกหลายครั้ง แต่อยากให้พี่น้องวางใจและเชื่อมั่นว่า เนื้อหาสามารถปรับปรุงแก้ไขได้แต่ให้ทุกท่านค่อยๆหาทางออกร่วมกันทีละอย่าง และไม่อยากให้กังวลเรื่องค่าปรับมากนัก เพราะหากเสนอความคิดเห็นประชาชนได้อาจจะช่วยให้แก้ไขปัญหาเร็วขึ้น ที่ผ่านมา กสม.มีข้อเสนอหนึ่งที่คิดว่าสามารถบรรเทาปัญหาได้ดีนั่นคือให้กระทรวงคมนาคม ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเกี่ยวกับเดินเรือในน่านน้ำไทย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำ เนื่องจากชุมชนดังกล่าวมิใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ แต่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน อันได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องพิจารณากำหนดนิยามของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำแยกออกจากสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและจำแนกประเภทชุมชนดั้งเดิมออกจากการบุกรุกใหม่ รวมทั้งควรกำหนดให้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำไว้เป็นการเฉพาะ ส่วนนี้หากว่าทางรัฐบาลตอบรับคงจะเป็นเรื่องดี ” นางเตือนใจ กล่าว

ด้านนายพิรธร นาคสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรปราการ กล่าวว่า เบื้องต้นอยากให้ชาวบ้านสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างแค่ในเนื้อที่ที่มีเอกสารสิทธิครอบครองเท่านั้น เช่น เอกสาร สค.1 , นส.3 ,โฉนดที่ดิน ส่วนพื้นที่คลองนั้น แนะนำว่า อย่าพยายามสร้างอะไรให้ยื่นออกมาขวางทางน้ำ แต่เรื่องกำหนดวันการแจ้งครอบครองนั้น ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา เท่าที่ทราบยังไม่มีใครไปแจ้งข้อมูลหรือเสียค่าปรับให้สำนักงานฯ ดังนั้นไม่อยากให้ชาวบ้านกังวลมากนัก ขณะเดียวกันก็ไม่ควรจะสร้างเพิ่มเติม เพราะอาจจะผิดต่อกฎหมายได้

ข่าวแจ้งว่า รัฐบาลได้รับทราบปัญหาแล้ว ซึ่งทราบว่าภายในเร็วๆนี้ จะมีการนำมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ก่อนครบกำหนดการแจ้งครอบครองสิ่งปลูกสร้างฯ ในวันที่ 22มิถุนายน 2560 ตามกฎหมายกำหนด

สำหรับเนื้อหาในหนังสือที่ กสม.ลงนามโดยนายวัส ติงสมิตร ที่ส่งถึงนายกฯ และ สนช.นั้นมีเนื้อหาโดยสรุปว่า พรบ.ฉบับนี้ มีความซ้ำซ้อนทั้งในเชิงพื้นที่และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับหากมีการดำเนินการตามมาตรการจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยขาดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนและกรมเจ้าท่ายังอยู่ระหว่างการหารือหลักการพิจารณาหรือหลักเกณฑ์พิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่มีขึ้นระหว่างปี 2515 ถึงปี 2537 จึงมีข้อกังวลว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการ คือวันที่ 22 มิถุนายน 2560 จะเกิดความขัดแย้งและสร้างภาระให้ประชาชนจำนวนผิดมากน้อยเพียงใดด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีมติว่ากรมเจ้าท่าดำเนินการเสนอร่าง พรบ.การเดินเรือฯ ในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ … ) พศ….. โดยไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมเป็นเหตุให้เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อให้เกิดผลกระทบอันเป็นการจำกัดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชน เกินความจำเป็นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและให้มีข้อเสนอและมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิชุมชนมนุษย์เสียชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 มายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติควรแก้ไขพรบ.ดังกล่าวเพื่อขยายเวลาการแจ้งการฝ่าฝืนตามมาตรา 18 ออกไปอีกไม่น้อยกว่า1 ปี นับแต่วันที่ พรบ.ใช้บังคับหรือจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงตามมาตรา 17

อนึ่งในหนังสือที่ กสม.ส่งถึง นายกรัฐมนตรี มีการแนบข้อเสนอทางออกของเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นมาตรการสำหรับแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1 คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐสภา ควรแก้ไข พ.ร.บ.การเดินเรือ ในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ. 2560 เพื่อขยายเวลาการแจ้งการฝ่าฝืน ตามมาตรา 18 ออกไปอีก ไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.การเดินเรือฯ ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎกระทรวง ตามมาตรา 17 เสร็จสิ้น
2. กระทรวงคมนาคม ควรดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง โดยกำหนดให้ “อาคารและบ้านเรือน ศาลาริมน้ำ สะพานทางเดินลงน้ำ” เป็นอาคารที่มีลักษณะและประเภทของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่พึงอนุญาต ทั้งนี้ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
3. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 โดยนำหลักการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment : RIA) มาเป็นเครื่องมือในการประเมินหรือวิเคราะห์
4. กระทรวงคมนาคม ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเกี่ยวกับเดินเรือในน่านน้ำไทย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำ เนื่องจากชุมชนดังกล่าวมิใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ แต่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน อันได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องพิจารณากำหนดนิยามของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำแยกออกจากสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและจำแนกประเภทชุมชนดั้งเดิมออกจากการบุกรุกใหม่ รวมทั้งควรกำหนดให้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำไว้เป็นการเฉพาะ
/////////////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →