สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

สารที่ ทส.ไม่ได้ยิน “หยุด EHIA โรงไฟฟ้าเทพากับคราบน้ำตาชาวบ้าน”

ภาพโดยชัยวัฒน์ สุดสาย

เพียง 3 วันของการนั่งประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งตากแดด ตากฝน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงการณ์ฉบับแล้วฉบับเล่าที่กล่าวผ่านสื่อมวลชน ผ่านสาธารณะ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ หรือเปอร์มาตามาส (Permatamas)และเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวังเพียงว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงจะได้ลงมาสัมผัสความทุกข์ร้อน จะมารับฟังพูดคุยและให้เกียรติชาวบ้านบ้าง หลังจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(สผ.) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นการลักไก่ ฉาบฉวยและเสนอข้อเท็จจริง ไม่รอบด้าน แต่กระทรวงฯ ก็ทำได้เพียงส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจโดยตรงลงมาเจรจา สลับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ ฝ่ายรักษาความปลอดภัยเข้ามาพบชาวบ้านเท่านั้น

แม้วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมารองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะลงมารับหนังสือและข้อเสนอซึ่งชาวบ้านได้เสนอให้ยกเลิกรายงาน EHIA และมีการตั้งกรรมการสองฝ่ายเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่การรับหนังสือที่ชาวบ้านเสนอไป กลับเงียบจนกระทั่งนำมาสู่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเทพาในชุมชนท้องถิ่นที่ประกาศจะเคลื่อนพลและเดินหน้าปกป้องบ้านเกิดอย่างสุดใจสู้

ในระหว่างที่ชาวบ้านนั่งประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเรียกร้องให้มีการระงับรายงาน EHIA ไม่ชอบธรรมนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พยายามประชาสัมพันธ์และชี้แจงต่อสาธารณะเสมอมาว่ากระบวนการทำรายงานและเสนอรายงานนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนและได้รับความเห็นชอบจากชุมชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มีความเต็มใจให้ย้ายบ้านและรับค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีความพร้อมในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้โดยเร็ว โดยและยืนยันว่า EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิในทุกสาขาวิชาเป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเปิดให้ผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่งข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะ มาให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำไปใช้ประกอบการพิจารณาได้ตลอด อีกทั้งมีการเชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านเข้าร่วมชี้แจงข้อห่วงกังวลและข้อเท็จจริงต่อ คชก. ด้วย

ต่อเรื่องดังกล่าวนี้ มัธยม ชายเต็ม หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุว่า เป็นการอ้างคำพูดที่ไม่มีธรรมาภิบาล และกดดันให้ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้ และยิ่งรัฐทำนิ่งเฉยเช่นนี้คนเทพาและคนที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องกดดันกลับ

“เราไม่เอาถ่านหินเป็นทุนเดิมแล้วไง พอมาเจอรายงานมั่วๆแบบนี้ เรารับไม่ได้ แล้ว คนจะสร้างเขามั่วไปแล้วเราก็เข้าใจ แต่คนกลาง อย่าง คชก.กลับไม่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่และผมยืนยันว่า ข้อทักท้วงของชาวบ้านที่ส่งไปให้ คชก.นั้นไม่มีความหมายเลย คชก.จึงผ่านรายงาน” มัธยมย้ำ

ระหว่างที่ตัวแทนชาวบ้าน 4 คน นั่งรอคำตอบที่หน้ากระทรวงทรัพยากรฯ นั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้ออกแถลงการณ์พร้อมจัดกิจกรรมเดินปกป้องเทพาในพื้นที่ แต่กระนั้นเรื่องราวของชาวบ้านก็ยังถูกรัฐบาลทำเป็นลืม และไม่มีหน่วยงานใดออกมาดูแลอย่างจริงจัง

เมื่อรัฐบาลมีท่าทีเมินเฉยชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนจึงตัดสินใจเดินทางมาร่วมอ่านแถลงการณ์ปิดท้ายในวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งบรรยากาศหน้ากระทรวงเป็นไปอย่างคึกคัก มีทั้งประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ศิลปิน และนักดนตรีเข้ามาให้กำลังต่อเนื่อง


หนึ่งในนั้นมีนางสาวอัญชลี อิสมันยี สมาชิกวงคีตาญชลี ที่เป็นนักร้องเพลงเพื่อชีวิตซึ่งมักปรากฏตัวในพื้นที่กิจกรรมของชุมชนมากมาย หลายครั้ง เช่น เวทีต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เวทีเพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนที่รณรงค์เพื่อสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งหลายครั้งเธอจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเติมเต็มกำลังใจให้ชาวบ้านในฐานะคนรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม และเข้าใจสิทธิชุมชน และครั้งนี้แม้มีชาวบ้านเพียงไม่กี่รายมากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลระงับEHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ตาม แต่เธอยืนยันว่า จำเป็นต้องมาและอยู่เล่นดนตรี ร้องเพลงร่วมกับคนเทพาถึง 2วัน
อัญชลี ให้เหตุผลว่า ที่ตัดสินใจมาไม่ใช่แค่เพียงเพราะมีจุดยืนชาวบ้านซึ่งมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่จำเป็นต้องมาเพราะเข้าใจดีว่าการเป็นคนต่างจังหวัดแล้วต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงนั้นลำบากอย่างไร

“คือการที่จะให้เรามานั่งประท้วงหรือนั่งเรียกร้องอะไรซักอย่างมันนานเช่นนี้ยอมรับตรงตรงว่า ตัวเราเองทำไม่ได้ แต่เราก็ถามตัวเองว่าในฐานะนักดนตรีเราจะมีส่วนร่วมยังไง ในเมื่อเรามีต้นทุนของดนตรี หลายคนให้กำลังใจกันและกันผ่านเสียงเพลง ผ่านดนตรี ทำไมละเราจะทำไม่ได้ มาถึงจุดนี้เราจำเป็นที่จะต้องอยู่เพื่อใหกำลังใจพวกเขา จะสังเกตเห็นว่าเวลาที่ต้องต่อสู้เพื่ออะไรซักอย่าง กำลังใจมันสำคัญมาก และวันแรกแรกที่ชาวบ้านมาแสดงจุดยืนด้วยกัน นั่งประกอบพิธีศาสนา ตาม Facebook ตาม social ตลอด และเชื่อว่าพวกเขาทำเพื่อชุมชนจริงๆ อยากให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเทพาไม่ใช่เรื่องไกลตัว แน่นอนเทพาอยู่ไกล แต่อาหารจากทะเลเทพาก็มีกระจายไปหลายๆ ที่ บ้านเรือน วัฒนธรรม หลายอย่างพวกเขาหวงแหน เมื่อมีโอกาสก็อยากมีส่วนร่วมด้วย” สมาชิกสาววงคีตาญชลี เสริมในแง่มุมของดนตรีที่เยียวยาจิตใจ

ทั้งนี้ในวันสุดท้ายของการนั่งเรียกร้องให้ยกเลิก EHIA ทางเครือข่ายเปอร์มาตามาสและเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้อ่านแถลงการณ์ทั้งน้ำตา โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า

“สูเจ้าจะต้องปกป้อง และรักษาหน้าแผ่นดินนี้ให้ยังคงอยู่กับลูกหลานสืบไป”

“เราอินนาลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิรอญิอูน”

“แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแน่นอนว่าพวกเราจะต้องกลับไปหาพระองค์”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรามิอาจยอมจำนนต่ออำนาจอธรรมและพร้อมจะยืนหยัดปกป้องหน้าแผ่นดินเพื่อพระผู้เป็นเจ้าและด้วยพระนามของอัลลอฮฺ พระองค์ย่อมทรงทราบดีถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ของพวกเราต่อการออกมาสื่อสารกับสังคมและส่งสารถึงรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อจะให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความความทุกข์ร้อนที่แท้จริงของพี่น้องชาวเทพา จังหวัดสงขลา ด้วยกังวลถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ด้วยขณะนี้ โครงการดังกล่าวได้ใช้กลไกอันไม่เป็นธรรม เพื่อให้โครงการผ่านไปอย่างรวดเร็วอันเป็นการสะท้อนจุดยืนของรัฐบาล ทั้งที่พวกเราพยายามเสนอแนะ และทักท้วงถึงความผิดพลาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ได้ใช้กระบวนการที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นธรรมกับพวกเรามาแล้วหลายครั้ง การเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะยื่นข้อเสนอสำหรับทางออกต่อเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงด้วยหวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจ และเอาใจใส่ต่อความตั้งใจดังกล่าว ดังวาทกรรมการพัฒนาแห่งยุคสมัยที่บอกว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ”หากแต่จนถึงขณะนี้ เราได้เห็นถึงความเพิกเฉยที่สะท้อนถึงความไม่จริงใจของผู้มีอำนาจอันทำให้สรุปได้ว่า “คนเทพากำลังจะถูกเบียดขับให้ตกขอบของสังคมในอนาคตอันใกล้นี้“

สามวันที่ผ่านมานี้ พวกเราได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ได้ย้ำเตือนเราว่า “สูเจ้าจะต้องปกป้อง และรักษาหน้าแผ่นดินนี้ให้ยังคงอยู่กับลูกหลานสืบไป” แม้การมาในครั้งนี้ รัฐบาลจะไม่สนใจต่อการที่แผ่นดินของเราจะถูกทำลายด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ด้วยคำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้บอกกับพวกเราว่า “การญีฮาจที่ประเสริฐที่สุด คือ การหาญกล้าที่จะพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่อธรรม ถึงแม้จะต้องพบกับความขมขื่นก็ตาม” พวกเราจะทำหน้าที่รักษาแผ่นดินนี้จนวันสุดท้าย
จากนี้ไป เราจะกระทำทุกอย่างตามวิถีทางของผู้ปกปักรักษาแผ่นดิน เพื่อจะนำไปสู่การหยุดยั้งการข่มเหงรังแกพวกเราด้วยหัวใจที่ไม่เป็นธรรม เราจะขอยืนหยัดปกป้องหมู่บ้าน ชุมชน มัสยิด กุโบร์ โรงเรียน วัด ตลอดถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันดีงามของพวกเราในดินแดนแห่งนี้ให้ถึงที่สุดในสภาวะเช่นนี้ “ถึงพวกเราจะรู้สึกโศกเศร้า แต่เราก็จะสู้ ด้วยหัวใจศรัทธา” เราเชื่อว่าการออกมาครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า แต่จะทำให้ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา นักกฎหมาย ตลอดถึงภาคประชาสังคมทั่วไปได้เข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น พลังของสังคมเหล่านี้จะก่อตัวขึ้นในไม่ช้า และจะร่วมกันหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อรักษาหน้าแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลานของพวกเราสืบไป
การยุติกิจกรรมครั้งนี้เครือข่ายชาวบ้านยืนยันว่าไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นการจากไปเพื่อกลับมาสู้ครั้งใหม่ และยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพื่อให้เทพารอดพ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →