สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ศิลปะชุมชน และความไม่ดูดายของศิลปิน

แรก ๆ ที่ดูศิลปะแสดงสด หรือ Performance Art บอกกับตัวเองว่า เราคงเข้า “ไม่ถึง” จริง ๆ เพราะตีโจทย์ไม่ออกเอาซะเลยว่าศิลปินเขาต้องการสื่อสารอะไร พอหันไปทางเพื่อนข้าง ๆ ก็ตกอยู่ในอาการ “มึน” เช่นเดียวกัน

ผมสัมผัสได้เพียงแค่ว่ามีพลังงานบางอย่างพลุ่งพล่านอยู่เบื้องหน้า และพลังงานขับเคลื่อนที่พยายามสะท้อนภาพๆหนึ่งให้เห็น

ระยะหลังมีโอกาสได้ชมศิลปะแขนงนี้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะผ่านทางพี่เลน-จิตติมา ผลเสวก ทำให้พอจะซึมซับอะไรบางอย่างได้บ้าง และชักสนุกกับหยิบยกข้อเท็จจริงมาถ่ายทอดในรูปแบบนี้

ไม่รู้เป็นเพราะชีวิตที่ผ่านมา ผมคุ้นชินอยู่กับการสื่อสารในช่องทางแคบๆ แบบตรงไปตรงมาตามประสานักข่าวมากเกินไปหรือไม่ นักข่าวถูกสั่งสอนมาให้เขียนข่าว “กระชับ” และเข้าใจง่ายที่สุด แต่พอต้องละเลียดกับการตีโจทย์ในรูปแบบการถ่ายทอดที่ไม่คุ้นเคยจึงทำให้อ่านภาษาที่ศิลปินสื่อสารไม่เข้าใจ ซึ่งพี่เลนบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเสน่ห์ของมันก็อยู่ตรงนี้แหละ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ค่อยไปหาคำตอบเพิ่มเติมเอา

ผมรู้จักพี่เลน และพี่ศาล-ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง มาหลายปี หลายครั้งได้จ๊ะเอ๋กันในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ระยะหลังยังมีโอกาสเดินทางร่วมกันทั้งตามแม่น้ำ ป่าเขา และชุมชนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้รับรู้ถึงพลังอีกสายหนึ่งของศิลปินกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ดูดายต่อสังคม

พี่เลนและพี่ศาล ร่วมกันทำโครงการศิลปะชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547


“ตอนนั้นเราได้รับเชิญไปลงพื้นที่พม่า 1 เดือน เดินทางไปทั้งที่แม่น้ำอิระวดีและแม่น้ำสาละวิน ได้รู้จักกับศิลปินพม่าคนหนึ่งที่เป็นครูด้วย เลยคิดถึงปัญหาของแม่น้ำสาละวินที่กำลังจะมีการสร้างเขื่อน เราเลยชวนเขามาลงพื้นที่บ้านท่าตาฝั่ง ริมแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราได้ร่วมกันเพอร์ฟอร์มและทำศิลปะจัดเรียง ถ่ายวีดีโอและภาพนิ่งนำมาแสดงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” พี่เลน เล่าถึงการรณรงค์สร้างความเข้าใจแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของโครงการศิลปะชุมชน

ปลายปี 2547 ชายฝั่งอันดามันถูกถล่มด้วยคลื่นยักษ์สึนามิ พี่เลนได้รับการเชิญชวนจากพี่หน่อย-วรรดี จิตรนิรัตน์ นักพัฒนาซึ่งช่วยชาวบ้านที่กำลังลำบากจากภัยที่ตามมากับสึนามิ พี่เลนและพี่ศาลจึงนำโครงการศิลปะชุมชนลงไปในพื้นที่ชาวเลอันดามัน

“หลังจากลงพื้นที่เก็บข้อมูลชาวเลในพื้นที่ต่างๆ เราได้ชักชวนเพื่อนๆ ศิลปินไปร่วมกันจัดงานบนเกาะลันตา เราอยากสะท้อนให้สังคมเข้าใจถึงสิทธิของชาวเล เราไปทำงานอยู่ที่นั่นเป็นเดือน ก่อนนำผลงานมาแสดงที่สวนสันติชัยปราการ”

โครงการศิลปะชุมชนลงไปคลุกในปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมอยู่เรื่อย ๆ แม้ไม่ค่อยมีทุนรอนสักเท่าไหร่ แต่ก็มีผู้ปรารถนาดีหยิบยื่นให้ไปทำงานบ้างเป็นคราว ๆ ไป

ในปี 2550 พี่เลนและพี่ศาล ได้เจอครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว พี่ใหญ่ของกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการสร้างเขื่อนและระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเดินหน้าโครงการศิลปะชุมชนสำหรับแม่น้ำโขง โดยชักชวนเพื่อนศิลปินทั้งไทยและเทศลงพื้นที่ทั้งที่บ้านตามุย จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ก่อนนำผลงานมาแสดงทั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสุดท้ายด้วยการจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“ศิลปินจากสิงคโปร์เขาหลงใหลแม่น้ำโขงมาก เพราะแม่น้ำในบ้านเขามันเหมือนกับคลองบ้านเรา แม่น้ำโขงใหญ่มาก เขาถึงขนาดหาทุนให้ทำงานต่อ เพราะเขารู้ว่าเราไม่ค่อยมีเงิน เราข้ามไปฝั่งลาว ไปลงพื้นที่จุดสร้างเขื่อนไซยะบุรี จนเกือบถูกจับและถูกบังคับให้ลบภาพที่ถ่าย”

ศิลปะแสดงสดถูกนำมาเผยแพร่ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อครบ 10 ปีโครงการศิลปะชุมชน โดยนำผลงานต่าง ๆ มาจัดงานขึ้นที่หอศิลป์ฯ กทม. ซึ่งมีศิลปินทั้งไทยและเทศมาร่วมกันอย่างคับคั่ง และมีผู้ชมเรือนหมื่น ทำให้ศิลปะแขนงนี้เป็นที่รู้จักของสังคมไทยมากขึ้น

“แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ศิลปะแสดงสดยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ปกติศิลปะทั่ว ๆ ไปคนก็ไม่ค่อยได้ดูอยู่แล้ว

ยิ่งเป็นเพอร์ฟอร์มยิ่งดูยาก จริง ๆ แล้วศิลปินเองก็ต้องดูด้วยว่าควรทำแบบไหน ถ้าทำให้พวกเดียวกันดู จะทำแบบหลุดโลกก็ได้ แต่ถ้าเพอร์ฟอร์มหน้าม็อบหรือทำให้ชาวบ้านดูมันก็ต้องอีกแบบหนึ่ง” พี่เลนให้แง่คิดไว้สำหรับคนทำงาน “แต่สิ่งที่เราได้เห็นในพื้นที่ที่เราลงไปทำงานด้วยก็คือ ชาวบ้านมีกำลังใจมากขึ้น”

ในวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2560 โครงการศิลปะชุมชน ได้เตรียมจัดงานขึ้นอีกครั้งภายใต้ชื่อ “เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเกาะลันตา” แต่ในครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ คือศิลปินที่จะเดินทางไปร่วมงานต่างต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องค่าเดินทาง เนื่องจากข้อจำกัดด้านทุนรอน ที่น่าดีใจคือ ขณะนี้มีศิลปินทั้งไทยและเทศแสดงความจำนงมาร่วมงานแล้วกว่า 20 คน

ในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 4-5 พฤศจิกายน 2560 นี้ จะมีการจัดงานระดมทุนตลาดนัดสินค้าศิลปะ เพื่อหาทุนสำหรับจัดงาน ซึ่งขณะนี้มีทั้งศิลปินและมิตรสหายมากหน้าหลายตาได้มอบผลงานและข้าวของต่างๆ เพื่อให้นำไปวางขาย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน

เสาร์-อาทิตย์นี้ เชิญชวนครับ ใครว่างไปร่วมสนุกและให้กำลังใจศิลปินกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่ดูดายต่อชุมชนและธรรมชาติ

————
เรื่อง-ภาสกร จำลองราช

On Key

Related Posts

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →

KNU ประกาศกอบกู้มหารัฐกลอทูเลภายใต้ปฏิบัติการ Taw Mae Pha Operation ยื่นคำขาดทหารทัพแตกมอบตัวภายใน 2-3 วัน เผยเตรียมหารือกองกำลังฝ่ายต่อต้านบริหารเมืองเมียวดี ระบุสกัดกั้นทัพเสริม SACจนถอยร่น

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ภายหลังกองปลดปล่อยแห่งชRead More →

ชักธงกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสาเหนือเมืองเมียวดี-เผาธงชาติพม่าทิ้ง KNU ประกาศทางสัญลักษณ์ยึดพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ รศ.ดุลยภาคชี้จีนเป็นตัวแปรสำคัญ

วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่กองบัญชาการควบคุมที่ 12 หRead More →

รัฐคะเรนนียังรบกันเดือด โฆษก IEC เผยฝ่ายต่อต้านยึดพื้นทางทหาร SACได้เกือบหมด-ปิดล้อมบอลาเค-ผาซอง ส่วนสู้รบในเมืองเมียวดีกองกำลังชาติพันธุ์รุมสกัดขบวนทหารพม่าเสริมทัพ

v เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 นายบันยา (Banya) โฆษกRead More →