สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ศาลปกครองสูงสุดชี้กรมอุทยานฯใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เผา-ทำลายทรัพย์สินชาวบ้านบางกลอย “ปู่คออี้”ยังไม่ได้กลับป่าใหญ่เหตุไร้หลักฐานยืนยัน เสนอรื้อใหญ่กฎหมายอุทยานฯ

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดฟังคำตัดสินคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 ระหว่างนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้อาวุโสวัย 107 ปี ชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีกับพวก 6 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และผู้ฟ้องยังได้อุทธรณ์ขอกลับไปอยู่ในที่เดิม

ทั้งนี้คดีดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมาก และรอฟังคำพิพากษากันอย่างคึกคักโดยในส่วนของผู้ฟ้องคดีนั้น ได้มีตัวแทนชาวบ้านบางกลอย 4 คนและทีมทนายความเดินทางมาถึงตั้งแต่เช้า โดยปู่คออี้ไม่สามารถเดินทางมาด้วยได้เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพและเส้นทางสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้านบางกลอยเป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงนี้เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ขณะที่ตัวแทนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคือนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ 10 กรมอุทยานฯและอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า 1.การรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องทั้ง 6 ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แม้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพื่อคุ้มครองและดูแลอุทยานฯก็ตาม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำได้ตามอำเภอใจ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่รู้สำนึกถึงความเสียหายและเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจเกินความจำเป็นและไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขึ้นตอนมาตรา 22 แห่ง พรบ.อุทยานฯ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายและละเมิดผู้ฟ้องทั้ง 6 ผู้ถูกฟ้องจึงต้องรับผิดแห่งผลการละเมิด โดยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ฟ้องที่ 1จำนวน 51,407บาท ผู้ฟ้องที่2 จำนวน 51,032 บาท ผู้ฟ้องที่ 3 จำนวน 51,407 บาท ผู้ฟ้องที่ 4 จำนวน 45,302 บาท ผู้ฟ้องที่ 5 จำนวน 50,807 บาทและผู้ฟ้องที่ 6 จำนวน 51,032 บาท (แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ชดใช้ให้รายละราว 10,000 บาท)

2.สำหรับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องทั้ง 6 ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนเพื่อขอกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีคำสั่งทางปกครองนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทที่ผู้ฟ้องที่ 1 ละเมิดกฎหมายโดยรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องทั้ง 6 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และทั้ง 6 ขอให้ผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน วัตถุแห่งคำสั่งคดีนี้จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 จะขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้นได้อีก อีกทั้งคำขอดังกล่าวมิได้ว่ามาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ผู้ฟ้องทั้ง 6 ขอกลับสู่สภาพเดิมก่อนมีคำสั่งปกครองนั้น ศาลเห็นว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องทั้ง 6 ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานฯและผู้ฟ้องไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ ดังนั้นศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ฟ้องทั้ง 6 กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยให้กลับไปอยู่ในอาศัยในที่ดินเดิมได้

นายชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาว่า คำสั่งศาลที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการละเมิดชาวบ้านนั้น ทางกรมอุทยานฯคงโต้แย้งอะไรไม่ได้ การที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 10,000 บาทเป็น 50,000 บาท ศาลคงพิจารณาจากรายละเอียดข้าวของเครื่องใช้ต่างๆทั้งหมด ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่ดูแลป่าอนุรักษ์

“ที่เราดีใจคือศาลยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปในที่เดิมได้ เราอาจถูกสอบวินัยเรื่องการละเมิดแต่ที่ศาลเห็นพ้องต้องกันคือพื้นที่บริเวณนั้นเป็นป่าอนุรักษ์ เป็นเขตต้นน้ำ เป็นเขตสงวนหวงห้าม ห้ามบุคคลใดเข้าไปอีกโดยเฉพาะ 6 รายนี้ ถ้าบุคคลใดเข้าไปถือว่าผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน”นายชัยวัฒน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าศาลชี้ชัดว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ จะมีการขอโทษชาวบ้านหรือไม่ นายชัยวัฒน์กล่าวว่า คงไม่ต้องขอโทษ เพราะเรารู้ทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไร ทุกคนในป่าก็รู้ว่าใครบุกรุกป่า เราทำหน้าที่ด้วยชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีความชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน กล่าวว่าคำพิพากษาไม่ได้ห้ามชาวบ้านกลับเข้าไปอยู่ในป่า เพียงแต่ศาลใช้คำว่าชาวบ้านไม่มีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่าอยู่มานาน ศาลจึงไม่สามารถออกคำสั่งบังคับให้ชาวบ้านกลับไปได้ และในคดีนี้ศาลไม่ได้พิจารณาว่าชาวบ้านอยู่แบบผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลพูดถึงมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 เกี่ยวกับการฟื้นฟูชาวกะเหรี่ยง โดยมติดังกล่าวได้เขียนในรายละเอียดไว้ชัดเจนว่าในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทหรือโต้แย้งกันในลักษณะนี้ ต้องยุติการจับกุมไว้ก่อนแล้วให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบว่าชาวบ้านอยู่ก่อนอุทยานฯหรืออุทยานฯอยู่ก่อนชาวบ้าน หากชาวบ้านอยู่ก่อนก็ให้มีการเพิกถอนเขตอุทยานฯบริเวณนั้น

ขณะที่น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของนายพอลละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ซึ่งถูกบังคับอุ้มหายตัว กล่าวว่าปู่คออี้ฝากมาบอกว่าไม่ต้องการเงินทองอะไรเพราะเงินได้มาก็ไม่สามารถเลี้ยงได้ทั้งชีวิต แต่ปู่อยากกลับไปอยู่บ้านเกิดที่ใจแผ่นดิน ซึ่งเมื่อกลับไปก็ต้องไปเล่าให้ปู่คออี้ฟังตามที่ศาลพิพากษาว่ายังไม่สามารรถกลับเข้าไปอยู่ในป่าได้เหมือนเดิม

“เชื่อว่าปู่ก็คงเสียใจ ปู่มักพูดเสมอว่าการที่ต้องถูกย้ายมาอยู่บ้านบางกลอยล่างก็เหมือนมาแย่งที่ของคนอื่น เพราะพอเขาอพยพชาวบ้านลงมาก็เอาที่ดินของชาวบ้านโป่งลึกไปยกให้ชาวบ้านบางกลอย ซึ่งปู่รู้สึกไม่มีความสุข แถมลูกชายและหลานชายก็ยังหายไป ตอนนี้สุขภาพปู่ก็ไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังไม่ลืมว่าอยากกลับไปอยู่บ้านเดิม เรายังมีความหวังว่าจะได้กลับไป”น.ส.พิณนภา กล่าว

ขณะที่นางสุนี ไชยรส อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่ารู้สึกสะเทือนที่ปู่คออี้ยังไม่สามารถกลับไปอยู่บ้านเดิมในป่าได้ทั้งๆที่อยู่มานานเพียงแต่กฎหมายไม่ยอมรับทำให้ปู่ไม่มีเอกสารมาพิสูจน์ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก ดังนั้นควรมีการรื้อกฎหมายป่าไม้และอุทยานฯกันใหม่เพื่อให้ยอมรับวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านเพราะมีอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอนุโลมและอนุญาตให้ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ เช่น สปก. หรือมติครม.ต่างๆอยู่ในพื้นที่ได้ แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้กลับไม่ได้รับการแก้ปัญหา

“แถมคุณอพยพชาวบ้านเขาลงมาแล้ว คุณก็ไม่สามารถดูแลเขาได้ ทุกวันนี้ชาวบางกลอยยังไม่มีที่ดินปลูกข้าวให้พอกินเลย ทำให้หลายคนต้องออกไปรับจ้างข้างนอก”นางสุนี กล่าว

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →