สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เขื่อนแตกในลาว ถามถึงคุณธรรม-จริยธรรมนักสร้างเขื่อน-นักปล่อยกู้ไทย ผ่านมุมมอง “วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ”

การที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือทางตอนใต้ของลาวแตก นอกจากความห่วงใยที่ส่งไปถึงประชาชนลาวซึ่งได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สายตาจำนวนมากจับจ้องไปยังกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนในครั้งนี้ แน่นอนกลุ่มทุนสัญชาติไทยย่อมตกเป็นจำเลยสำคัญ

โครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 26 บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 25 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 25 และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้นร้อยละ 24
โครงการนี้ก่อสร้างบนที่ราบสูงบอละเวน ในแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ห่างจากเมืองปากเซประมาณ 80 กิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนโดยการกูู้เงินมูลค่า 22,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อร่วม (Syndication loan)ของสถาบันการเงินไทยชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารธนชาติ

ภาพจาก https://www.facebook.com/idsalapage

ถามว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ ทั้งบริษัทร่วมทุน ธนาคารต่างๆ ที่ร่วมกันปล่อยกู้ ตลอดไปจนถึงบริษัทที่รับเหมาก่อสร้าง และบริษัทที่ศึกษาผลกระทบและประเมินผลกระทบต้องมีส่วนในความรับผิดชอบนี้หรือไม่ อย่างไร

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network:MEE-NET) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่าน่าจับตามองว่าบริษัทเหล่านี้จะแสดงความรับผิดชอบกันหรือไม่ อย่างไร เพราะในกฎหมายลาวเขียนไว้ว่า ผลความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดระหว่างก่อสร้างเป็นหน้าที่ของบริษัทที่รับสัมปทานตัองรับผิดชอบ แต่ถ้าสร้างเสร็จแล้วความรับผิดชอบจะตกอยู่กับรัฐบาล

“โครงการนี้แม้เริ่มต้นด้วยบริษัทของเกาหลีใต้ได้รับสัมปทาน แต่เมื่อมาแตกหุ้น และดำเนินการก่อสร้าง ทุนเกือบทั้งหมดไปจากประเทศไทย แถมยังขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพราะฉะนั้นต้องถามว่าบริษัทเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายครั้งนี้อย่างไร ที่น่าสนใจคือบริษัทที่จัดทำอีไอเอซึ่งเข้าใจว่าเป็นของไทย จะต้องรับโทษหรือไม่ เพราะถือว่าผลการศึกษานี้มันไม่ใช่”

ผอ.เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง ฉายให้เห็นภาพเขื่อนในประเทศลาวซึ่งมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าส่งขายและเรียกตัวเองว่าเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียว่า มีทั้งโครงการที่สร้างในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา โดยผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศและขายต่างประเทศ แต่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกขายต่างประเทศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี ร่วมกันศึกษาและการันตีความมั่นใจให้กับบริษัทเอกชนและธนาคารที่จะมาลงทุน หลังจากนั้นจึงเกิดเขื่อนอื่นๆตามมา เช่น เขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งบริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุนกันร้อยเปอร์เซ็นต์

“ธนาคารต่างๆของไทยต่างก็พากันไปปล่อยกู้ในโครงการสร้างเขื่อนเพราะได้ผลประโยชน์มหาศาล ดีกว่าการปล่อยกู้ให้รายย่อยเป็นไหนๆ แถมยังมีกฟผ.เป็นผู้ให้หลักประกันในการรับซื้อไฟฟ้า เขาเริ่มต้นจากธนาคารนำเป็นหลักแห่งหนึ่งก่อน แล้วค่อยชวนเพื่อนธนาคารอื่นมาร่วม ซึ่งคนนำนี้ได้รับคอมมิสชั่นมหาศาล “
นายวิฑูรย์กล่าวว่า การที่เขื่อนในลาวประสบปัญหาหลายครั้ง เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ควรตระหนักและทบทวนในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อนในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด เพราะขนาดเขื่อนแห่งนี้ยังสร้างไม่ทันเสร็จก็แตกเสียแล้ว จึงน่าข้องใจว่าเขื่อนอีกหลายแห่งที่สร้างมาแล้ว 5-10 ปีจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามถึงคุณธรรมและจริยธรรมของนักลงทุนรวมถึงการแสวงหากำไรโดยการปล่อยกู้ของธนาคารเอกชนว่าควรเป็นอย่างไร นายวิฑูรย์กล่าวว่า ทั้งธนาคารโลกและเอดีบีต่างเคยเขียนกฎกติกาไว้ แต่ธนาคารเอกชนไทยบางแห่งก็ยังกำกวมยอมลงนามบ้าง ไม่ยอมบ้าง เพราะเป็นที่รับรู้กันดีกว่าแท้จริงแล้วธนาคารไทยจำนวนมากขายให้กับต่างชาติไปแล้ว

“จริงๆแล้วเราควรตั้งคำถามกับกฟผ.ด้วยเพราะสถานการณ์ไฟฟ้าปัจจุบัน เราไม่มีความจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีกแล้ว เพราะไฟฟ้าสำรองเราเหลือเฟือ แต่กฟผ.มักชี้แจงว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งมันไม่ใช่ เหมือนกับการที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนตร์แต่ดันไปซื้อมาจอดทิ้งไว้เฉย ย่อมมีค่าความเสื่อมต่างๆ ผมเชื่อว่าประโยชน์จากเขื่อนตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของการผลิตไฟฟ้าแล้ว แต่เป็นผลประโยชน์เรื่องอื่นๆ เช่น การก่อสร้าง การปล่อยกู้ของธนาคาร”

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →