สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

รัฐบาลลาวเข้ม-ออกกฏเหล็ก 5 ข้อขันน็อตเขื่อนไฟฟ้าทั่วประเทศ มวลน้ำถึงกัมพูชาแล้ว 21 องค์กรภาคประชาชนไทยจี้ถามความรับผิดชอบนักลงทุน-ธนาคารไทย

บรรยายภาพ-ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงที่บ้านตามุย จ.อุบลราชธานี ร่วมกันเรียกร้องให้บริษัทลงทุนสร้างเขื่อนในลาวร่วมรับผิดชอบกรณีที่เขื่อนแตก

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เว็บไซด์ Stung Treng Post ได้แชร์ภาพสถานการณ์น้ำที่ไหลออกจากเขื่อนเซน้ำน้อยในแขวงอัตตะปือซึ่งแตกทำให้ปริมาณน้ำมหาศาลทะลักท่วมบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนัก ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่าน โดยปริมาณน้ำมหาศาลได้ไหลในแม่น้ำเซกองและกำลังไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ของประชาชนในเขตเมืองเสียมปง จังหวัดสตรึงเตรง ของกัมพูชาซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเซกง และอยู่ห่างจากตัวเมืองอัตตะปือประมาณ 70 กิโลเมตรเท่านั้น

ในวันเดียวกันนายมัม ซารุน ผู้ว่าจังหวัดสตรึงเตรง ได้นำเจ้าหน้าที่ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในการขนของขึ้นไปยังที่สูง และบางส่วนขนย้ายออกมาอยู่นอกหมู่บ้านบนภูเขาเพื่อความปลอดภัย แต่ยังไม่มีรายงานจำนวนผู้เสียหายในครั้งนี้ โดยระดับน้ำบนแม่น้ำเซกองอยู่ที่ระดับ 11.36 ม. ขณะที่ระดับเตือนภัยอยู่ที่ 11.50 เมตร ซึ่งสถานีวัดน้ำของลุ่มน้ำโขงคาดการณ์ว่า ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 2-3 วัน

ขณะที่ดร.คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของลาว ได้ออกจดหมายแจ้งถึงแนวการปฏิบัติงานของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทั่วประเทศ ให้เพิ่มความเอาใจใส่ การจัดบริหารจัดการน้ำและการคุ้มครองการผลิตของเขื่อนไฟฟ้าในแต่ละแห่งทั่วประเทศ โดยอิงตามกฎหมายว่าด้วยไฟฟ้ามาตรา 31 และมาตรา 35 เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมชาติและความปลอดภัยในการดำเนินงานและการบำรุงรักษา โดยระบุ 5 ข้อที่ต้องปฏิบัติ คือ

1. ให้ทุกเขื่อน ทุกโครงการก่อสร้างต้องเพิ่มความเอาใจใส่ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะพายุ ปริมานน้ำฝนตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลางและมาก หรือตกหนักติดต่อกันหลายวัน ติดตามสภาพการเพิ่มขึ้น-ลดลงของปริมาณน้ำอยู่หน้าเขื่อนและใต้เขื่อนให้เป็นระบบปกติ เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นให้ทันการ

2. ให้ทุกเขื่อน ทุกโครงการก่อสร้างต้องรายงานสภาพการกักเก็บ บริหารน้ำ แผนการคุ้มครองการผลิต ติดตามสภาพทางธรณี โครงสร้างของเขื่อน โรงเครื่องจัก สถานีและระบบส่งจ่ายไฟฟ้า องค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ทุกอาทิตย์ ทั้งนี้ให้สำนักงานกระทรวงส่งรายงานให้คณะกรรมการกระทรวงและสำนักงานนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ

3. ในกรณีที่หลายเขื่อนร่วมดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ในลำน้ำเดียวกัน ให้แต่ละเขื่อนประสานงานให้ละเอียดอย่างสม่ำเสมอ เกี่ยวกับ แผนการกักเก็บและบริหารจัดการน้ำ แผนการคุ้มครองการผลิของแต่ละเขือ่นให้เละเอียด ชัดเจน เพื่อความเป็นเอกภาพ

4. ในกรณี แต่ละเขื่อนมีแผนที่จะระบายน้ำ ต้องมีระบบแจ้งข่าว โดยร่วมกับอำนาจการปกครองท้องถิ่นแต่ละขั้น เพื่อประกาศให้ประชาชน ชนเผ่าที่อยู่ในบริเวณใต้เขื่อนทราบอย่างทั่วถึง อย่างน้อยล่วงหน้า 7 วัน เพื่อรับประกันไม่ให้มีสภาพแตกตื่น และเกิดความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการระบายน้ำ
5. ให้แต่ละเขื่อนต้องมีแผนละเอียดร่วมกับอำนาจการปกครองท้องถิ่นในแต่ละขั้น เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นเช่น สถานที่รับประกันความปลอดภัย พาหนะการเคลื่อนย้ายประชาชนไปอยู่ชั่วคราว วัสดุอุปกรณ์ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายวัตถุสิ่งของและประชาชนไปสู่ที่ปลอดภัย

ขณะที่หลายองค์กรในประเทศไทยได้ตื่นตัวเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลาว เช่นเดียวกับสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยต่างหาช่องทางเข้าไปรายงานข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแขวงอัตตะปือ ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยกว่า 20 องค์กรได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยระบุว่าขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดต่อการสูญเสียของประชาชนชาวลาวครั้งยิ่งใหญ่นี้ และขอเรียกร้องถามความรับผิดชอบของผู้ลงทุนในเหตุการณ์เขื่อนเซน้ำน้อยแตกคือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ลงทุนโครงการ และธนาคารไทย ที่ให้เงินกู้สำหรับโครงการสนี้ แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากต้อง สูญเสียชีวิต ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่เกษตรกรรมและมีผลกระทบทางร่างกายและจิตใจจากการสูญเสียครั้งนี้

ในแถลงการณ์ระบุว่าเขื่อนเซน้ำน้อย เริ่มแตกตั้งแต่กลางคืนของวันจันทร์(23 กรกฎาคม 2561) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 6 หมู่บ้านและประชาชนกว่า 6,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย มีผู้สูญหายอย่างน้อย 200 คนและพบว่าเสียชีวิตแล้ว 50 คน เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด แถลงว่า เขื่อนคันดินเกิดรอยแตกร้าวหลังจากมีพายุฝนอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำมหาศาลไหลออกจากอ่างเก็บน้ำ และยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการผลิตไฟฟ้าตามกำหนดการ แทนที่จะแสดงความห่วงใยหรือแถลงถึงมาตรการช่วยเหลือหลังเขื่อนแตก แต่บริษัทกลับเงียบกริบในประเด็นเหล่านี้

“เขื่อนคันดินที่แตกในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการก่อสร้างต่อมาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของเขื่อน ตามหลักการและแนวทางของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งหลักการดังกล่าวเสนอว่า ควรมีการพัฒนากลไกเพื่อให้การชดใช้ค่าเสียหายหรือการชดเชยย้อนหลังสำหรับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากเขื่อนที่มีอยู่แล้วตลอดจนฟื้นฟูความเสียหาย การขาดกระบวนการที่สอดคล้องต่อมาตรฐานในการสร้างเขื่อนระดับโลกของเขื่อนเซน้ำน้อยนี้ เป็นผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสูญหายของประชาชนกว่า 6,000 คน”ในแถลงการณ์ระบุ

เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มนี้ได้เรียกร้องให้ผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศเรียนรู้ว่า ความปลอดภัยของเขื่อน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จากกรณีเขื่อนเซน้ำน้อย รวมถึงการประเมินผลกระทบเชิงลึกต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้วก่อนที่จะมีการดำเนินการในโครงการใหม่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และขอให้บริษัทไทยแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสียครั้งนี้ และบริษัทต้องให้ชุมชนได้เข้าถึงกระบวนการพูดคุยเกี่ยวการชดเชยและเยียวยาอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด
/////////////////

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →