สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ร่วมสะท้อนข้อเท็จจริงชาวเล สื่อมวลชนคณะใหญ่ลงพื้นที่ชุมชนมอแกน-มอแกลน จังหวัดพังงา

ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2562 สำนักข่าวชายขอบโดยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร และมูลนิธิชุมชนไท ได้จัดกิจกรรมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนชาวเลอันดามัน จังหวัดพังงา โดยมีสื่อมวลชนจากส่วนกลางและนักสื่อสารชุมชนชายขอบกว่า 25 คนเข้าร่วม ซึ่งวันแรกได้มีการจัดเวทีเสริมสร้างจริยธรรมนักสื่อสารชายขอบ-พื้นที่เปราะบาง ขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมแสงสวรรค์ จ.พังงา

นายภาสกร จำลองราช จากสำนักข่าวชายขอบ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้สื่อกระแสหลักจากส่วนกลางได้ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงจากชาวบ้านและชุมชน เนื่องจากสถานการณ์ของสื่อมวลชนที่ยากลำบากในปัจจุบัน ทำให้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงน้อยลง ส่งผลให้สถานการณ์ของชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหาได้รับการถ่ายทอดในเชิงลึกน้อยลงไปด้วย

นายภาสกรกล่าวว่า ในการทำงานข่าวประเด็นปัญหาของชาวเล มีมิติของความไม่เป็นธรรมสูงในแทบทุกชุมชนที่มีชาวเลอาศัยอยู่ จึงได้พยายามชักชวนเพื่อนๆ สื่อมวลชนพื้นที่ทุกครั้งที่มีโอกาส แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข่าวนำเสนอออกไปแล้วมากมาย แต่ปัญหาความไม่เป็นธรรมยังคงเกิดขึ้นเสมอในชุมชนชาวเล แต่หากนักข่าวไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อทำข่าวอีก ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปอีก

นายภาสกรกล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังพยายามสร้างการพัฒนาให้นักสื่อสารชายขอบที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดประเด็นปัญหาของชุมชนตนเอง ซึ่งครั้งนี้มีนักสื่อสารชายขอบ 5-6 คนร่วมเรียนรู้การทำงานของสื่อมวลชนจากส่วนกลาง

หลังจากนั้นนายจำนงค์ จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเลและ 1 ในคณะกรรมการชาวเล และนางปรีดา คงแป้น กรรมการมูลนิธิชุมชนไท ได้ร่วมกันเล่าถึงสถานการณ์ชาวเล โดยนายจำนงค์ กล่าวว่าสังคมไทยรู้จักชาวเลมากขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ พบว่ามีกลุ่มที่คนไม่ได้รับของบริจาค เพราะไม่มีบัตรประชาชน หรือ ไม่กล้ามารับของ เนื่องจากถูกกดทับมานาน ชาวบ้านเหล่านี้อาศัยในชุมชนชายฝั่งอันดามันตลอด 6 จังหวัด จากระนอง ลงไปถึงสตูล อยู่ตามชายฝั่งและเกาะ จำนวนกว่า 40 ชุมชน ประชากรราว 15,000 คน มีชาวอุรักลาโว้ย มอแกน และมอแกลน

นายจำนงค์กล่าวว่า ชุมชนชาวเลเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่กันมานานสามารถสืบสาวประวัติได้มากกว่า 300 ปีจากการสอบผังตระกูลและบันทึกของชาวต่างชาติ แต่การท่องเที่ยวที่ส่งเสริมทางทะเล ชาวบ้านก็ยังอยู่แบบเดิมและไม่เคยขอเอกสารสิทธิ์ แต่เมื่อมีทุนเอกชนเข้ามาซื้อที่ดิน หรือนำไปออกเอกสารสิทธิ กลุ่มทุนเอาขวานกับลูกปืนมาวาง คือเป็นการทั้งซื้อทั้งบังคับ จนเกิดเป็นเรื่องราวที่ดังๆ เช่น กรณีพิพาทที่ดินชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ที่นายทุนออกโฉนดในที่ดินที่ชาวเลอาศัยมาก่อน เช่นเดียวกับที่เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหลา ซึ่งนายทุนมาทีหลังแต่ได้เอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินด้วยอำนาจ และการรู้กฎหมาย

“เกาะหลีเป๊ะ ในยุคที่ตกลงกันเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทางการได้ให้คนไปประสานกับชาวเลที่อาศัยที่เกาะหลีเป๊ะ ยืนยันว่าบริเวณนั้นเป็นเขตแดนสยาม ปัญหาก็ยุติ และกลายเป็นเขตแดนไทย แต่ปัจจุบันที่ดินบนเกาะแห่งนี้เป็นของชาวเลไม่ถึง 10 % เพราะชาวเลไม่รู้เรื่อง เดิมอาศัยอยู่รวมเป็นชุมชน แต่ถูกหลอก มีบางส่วนครอบครองที่ดินเพื่อนๆ ในชุมชนเอาไปออกโฉนด เมื่อนายทุนซื้อก็ขาย ในที่สุดชาวเลซึ่งเป็นผู้บุกเบิกกลายเป็นเป็นผู้บุกรุก” นายจำนงค์ กล่าว

นางปรีดากล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์สึนามิได้นำมาสู่การแก้ปัญหาชาวเลเป็นการเฉพาะ โดยหลายฝ่ายได้ร่วมกันผลักดันจนเกิดมติคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาชาวเล ทำให้มีที่ยืนในการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย เนื่องจากการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ปัจจุบันเกือบครบอบ 10 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ทำได้เพียงยันปัญหาไว้เท่านั้น

นางปรีดากล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวเล 28 ชุมชน ตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐ เช่น พื้นที่อุทยาน ป่าสงวน เพราะการประกาศของรัฐละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่ เนื่องจากชาวเลอยู่มาก่อน แต่พวกเขาไม่รู้หนังสือ ไม่รู้กฎหมายจึงยากที่จะลุกขึ้นสู้ เพราะหากอุทยานไม่อนุญาตก็เป็นเรื่องผิดทันที จากข้อมูลของทางการพบว่าในอดีตชาวเลมี 27 แหล่งหากินที่เป็นชื่อภาษาชาวเล แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่งเท่านั้น นอกจากนี้ชุมชนชาวเลยังประสบปัญหาถูกอ้างกรรมสิทธิในที่ดินจากเอกชนและถูกฟ้องร้องอีกจำนวนมาก โดยแต่ละคดีล้วนมีความซับซ้อน เช่นเดียวกับเรื่องที่ดินและจิตวิญญาณ ที่มีสุสานของชาวเล 23 แห่งถูกบุกรุก บางแห่งกลายเป็นเอกสารสิทธิ์ของเอกชนและถูกนำไปสร้างโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการประชุมสื่อมวลชนได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการทำข่าวชาวเล โดยนายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อํานวยการสํานักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่าการจัดลงพื้นที่ครั้งนี้ค่อนข้างครอบคลุมสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสมัยใหม่และสื่อเก่า ทั้งนี้ในปัจจุบันอาจต้องสื่อสารได้ตรงกลุ่มมากขึ้น ตนเชื่อในเรื่องการออกแบบการสื่อสารมีความสำคัญ

ขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักต่างร่วมกันสะท้อนถึงวิธีการนำเสนอข่าวชาวเลโดยเฉพาะการใช้สื่อสมัยใหม่ในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้จักว่าชาวเลเป็นใครในสังคม นอกจากนี้ควรมีการทำข้อมูลที่เป็นช่องทางสำหรับนำข่าวสารของชาวเลไปใช้ต่อ

นางสาวคำปิ่น อักษร นักสื่อสารลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าตนเองก็ได้ติดตามข่าวสารชาวเลตลอด และเห็นว่าเรื่องภาพถ่ายมีความสำคัญที่ดึงดูดได้ และควรสร้างการมีส่วนร่วมโดยวางแผนร่วมกัน

ต่อมาในเวลา 15.00 น. คณะสื่อมวลชนได้เดินทางมายังชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน หาดบางสัก อ.ตะกั่วป่า โดยนายวิทวัส เทพสง ตัวแทนชาวบ้านได้นำเสนอความเป็นมาของชุมชนซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงมากในช่วงสัมปทานเหมืองแร่ และจนมีโรงแรมมาสร้าง แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิ ชาวบ้านถูกห้ามไม่ให้เข้าไปที่เดิมของตนเอง โดนปักป้ายว่า ห้ามบุกรุก มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาคุ้มกันพื้นที่ของเจ้าของที่อ้างเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านก็เริ่มรวมกลุ่ม ทำความเข้าใจปัญหาที่ดินของตนเอง สร้างศูนย์วัฒนธรรมฟื้นฟูตนเอง ร่วมกันคิดว่าจะสู้อย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินและสิทธิของชุมชน ซี่งในที่สุดได้มีการไกล่เกลี่ยและชาวบ้านส่วนใหญ่ยินยอมเสียพื้นที่บางส่วนและนายทุนยอมออกโฉนดให้ แต่ยังเหลือที่ดินของบ้านนางลาบ หาญทะเล ที่นายทุนยังไม่ยอมลงนามให้ออกเอกสารสิทธิเป็นของนางลาบ

นางลาบ กล่าวว่าแม้ตนเองยังไม่สามารถทวงคืนที่ดินได้ ก็ไม่เสียกำลังใจ เพราะยังไงก็เป็นของเรา เพิ่งรู้ว่าการเป็นเจ้าของเอกสารสิทธิ์นี้ สำคัญเพราะต้องส่งต่อให้ลูกหลาน ก่อนหน้านี้คิดว่าเสาบ้านเป็นเหมือนโฉนดของเรา คิดว่าอย่างไร เสาบ้านก็คงไม่ได้หายไปไหน

ทั้งนี้ในวันที่ 28-29 เมษายน คณะสื่อมวลชนจะลงพื้นที่ชุมชนมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งถูกไฟไหม้ โดยทางเครือข่ายได้ร่วมกันระดมรับบริจาคผ่านเพจเทใจเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสารผ่านสำหรับชุมชนมอแกนในช่วงฤดูมรสุม

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →