สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เด็กดอยกินดี กายสุข ร่ายรำ ออกแรง ลดโรค

ภาคภูมิ ป้องภัย

เด็กประถม 5-6 ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ ลีซอ และจีนยูนนาน ในโรงเรียนบ้านพนาสวรรค์ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ดูตื่นเต้น เก้อเขินมาก ระหว่างแสดงการเต้นรำดั้งเดิมของชนเผ่าให้คณะผู้มาเยือนจากกรุงเทพฯชม และรับรู้ว่า นี่คือหนึ่งในวิชาพลศึกษาและศิลปะซึ่งถูกบรรจุไว้ตามเป้าหมายลดภาวะ “เนือยนิ่ง” ควบคู่ไปกับการสืบสานอัตลักษณ์ชนเผ่า

ตรงข้ามกับนักเรียนระดับมัธยม 3 ของโรงเรียนบ้านรวมใจ อ.แม่จัน พวกเธอดูสนุกสนานร่าเริงกับการเต้นรำต่อหน้าผู้มาเยือน หาได้ประหม่าเหมือนเด็กเล็กไม่ ยิ่งได้แสงแดดยามบ่ายช่วยขับเน้น ชุดแต่งกายพื้นเมือง 4 เผ่าจึงเปล่งประกายสดใส สวยงาม เครื่องประดับสีเงินสะท้อนแดดแวววับ เกิดเสียงดังกรุ๊งกริ๊งยามนางขยับกายซ้ายขวา

นี่เป็นครั้งแรกของใครหลายคนที่มีโอกาสได้เห็นชุดประจำชาติพันธุ์มากมายบนดอยแม่สลองมาประชันกันพร้อมหน้า

ข้างต้นคือหนึ่งในหลายกิจกรรมยืนยันความก้าวหน้าเป็นปีที่ 4 ของ“โครงการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะและชุมชนคนต้นน้ำ จ.เชียงราย” หรือโครงการ “เด็กดอยกินดี” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562

เชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนเขตภูเขา (พชภ.) และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ตลอด 2 วัน คณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และท้องถิ่น ได้สัมผัสกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนหลายแห่งจากที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 33 แห่งใน 4 อำเภอของ จ.เชียงราย อันได้แก่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.แม่สรวย และ อ.เวียงแก่น คิดค้น ดัดแปลง และนำมาสาธิตให้ชมมากมาย ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อตอบสนองหัวใจ 2 ประการของโครงการเด็กดอยกินดี ได้แก่ 1. กิจกรรมทางกายเพื่อลดอาการ “เนือยนิ่ง” 2.โภชนาการอาหารที่ดี ปลอดสารพิษ

ที่โรงเรียนบ้านพนาสวรรค์ สุทิน ปิงสุแสน รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า โรงเรียนได้ประยุกต์อัตลักษณ์ชาติพันธุ์เข้าในวิชาพลศึกษา และศิลปะ เพิ่มเวลาส่วนนี้เข้าไป ส่งผลให้เด็กๆเคลื่อนไหวทางกายมากขึ้น ดีขึ้น สนุกสนาน กล้าแสดงออก สุขภาพดีขึ้น แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเหมือนที่ผ่านมา ถือเป็นความก้าวหน้าของโครงการเด็กดอยกินดีอีกขั้นหนึ่ง หลังจากประสบความสำเร็จในการห้ามนำเครื่องดื่มน้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบเข้ามาในโรงเรียน ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้เด็กเห็นโทษจากการบริโภคมากๆ

ด.ญ.กัญญาณี แซ่เหมา อายุ 12 ปี ชาวอาข่า และ ด.ญ. ศศิวิมล ลาฟูนา อายุ 10 ปี ชาวลาหู่ ช่วยยืนยันความสำเร็จในการลดปริมาณลง จนสามารถประหยัดเงินซื้อขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลมได้วันละ 5-10 บาท พอลดการกินลง และได้ออกกำลังกายมากขึ้น ก็ช่วยให้สุขภาพดี ไม่ค่อยป่วยไข้เหมือนก่อน

“หนูก็อยากกินอ่ะนะ แต่เมื่อรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ครูเขายังแนะนำให้งด ก็พยายามตัดใจลดลงได้เยอะเลยค่ะ”ด.ญ.กมลพร เชอหมื่อ วัย 11 ขวบ พูดเสริมด้วยภาษาไทยสำเนียงอาข่า

ส่วนเรื่องโภชนการอาหารที่ดี ปลอดสารพิษ เป็นคิวของนักเรียนมัธยมต้นรับโจทย์ไปทำ หลายโรงเรียนบูรณาการโครงการปลูกพืชผักปลอดสารพิษเข้าในวิชาเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนบ้านรวมใจ ให้เด็กปลูกผักแล้วนำผลผลิตไปขายโรงอาหาร ใครปลูกได้มาก ได้คะแนนดี แถมมีรายได้เข้ากลุ่ม ถึงปลูกได้ไม่มากนักเพราะพื้นที่จำกัด แต่ก็เห็นความตั้งใจ

“เด็กบางกลุ่มอยากกินหมูกระทะมาก แต่ราคามันค่อนข้างสูง เขาเลยช่วยกันสะสมเงินจากการขายผักให้โรงเรียนจนมากพอไปกินมื้อพิเศษ”อาจารย์วิชาวิทย์ฯกล่าวโมเมนต์น่ารักของเด็กให้ฟัง จากนั้นพานักเรียนในห้องนำผู้มาเยือนไปชมแปลงพืชผักอินทรีย์ สาธิตการเรียนรู้ระบบนิเวศน์ของจริงบนภูเขา ต่อด้วยดูฟาร์มไก่และการผลิตปุ๋ย

ทางด้านโรงเรียนปอวิทยา อ.เวียงแก่น นักเรียน ม.ต้นวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ยกคณะมาแนะนำโมเดลจำลองเครื่องสูบน้ำ 2 แบบ เด็กๆคำนวณรายละเอียดชิ้นส่วนตามหลักวิชาการที่เรียนมา เครื่องหนึ่งใช้ขาปั่น อีกเครื่องใช้แรงมือหมุน ตั้งเป้าหมายแก้ปัญหาน้ำใช้รดผักและล้างพื้นไม่พอเพียง ใช้ออกกำลังกายลดการเนือยนิ่ง ท้ายสุดช่วยประหยัดไฟฟ้า พวกเขาทำต้นแบบจำลองเสร็จแล้ว เหลือเพียงสร้างของจริงที่ยังต้องรอทุนสนับสนุนต่อไป

ยังมีหลายโรงเรียนนำการแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนและการออกกำลังกาย เช่น รำยกน้ำชาอี้เมี่ยง รำกระทบไม้อาข่า รำกระบองลัวะจากชุมชนบนดอยแม่สลอง การเต้นบัดสลบจากชุมชนบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น ปั่นจักรยานล้อเดียวแห่งชุมชนบ้านลู่ ฯลฯ ทั้งหมดถูกนำมาแสดงให้ผู้มาร่วมงานชมในวันสรุปผลการดำเนินปีที่ 4

บนเวทีเสวนาสรุปผลโครงการ “เด็กดอยกินดี” ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นด้วยกับการเร่งผลักดันให้ทุกชุมชนบนดอยแม่สลองหันมาผลิตอาหารปลอดสารพิษเพื่อป้อนโรงเรียนให้เพียงพอ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องพึ่งตลาดสารเคมีเป็นหลัก ล่าสุดมีการจัดตั้ง “กลุ่มไลน์”เชื่อมโยงทุกภาคส่วนในตำบลเพื่อเแสวงหาแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษป้อนโรงเรียน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยให้โครงการบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น

ธีรวุฒิ แสงแก้ว เกษตรกร อ.แม่สรวย ผู้คิดค้นการปลูกผักคะน้าต้นละ 1 กิโลกรัมสำเร็จ กล่าวบนเวทีเสวนาถึงการนำวิชาฟู้ดไซน์ (food science) มาใช้ปลูกพืชผักปลอดสารพิษว่า เกษตรกรต้องมีความรู้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ ศึกษาจนเข้าใจธาตุอาหาร 3 ตัวซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลิตผลให้มีราคาและมากเพียงพอรองรับตลาดพืชผักปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรที่ผ่านมา หลังจากลองทำเกษตรอินทรีย์แล้วได้ผลน้อย มีคุณภาพ ไม่พอกับความต้องการของตลาด

ด้านจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการเด็กดอยกินดี สรุปผลงานว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมเมืองแยกการเคลื่อนไหวทางกายออกจากวิถีชีวิต เช่น คนกรุงนั่งทำงานทั้งวัน ตกเย็นไปฟิตเนส เล่นโยคะ ซึ่งสภาพดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนบนดอยแม่สลอง จำเป็นต้องปรับการเคลื่อนไหวทางกายให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน

“เรามีสถานการณ์การบริโภคดีขึ้น ชุมชน โรงเรียนเข้าใจมากขึ้น ที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวทางกายสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ร่างกาย และจิตวิญญาณมากขึ้น”หัวหน้าโครงการกล่าวปิดท้าย

4 ปี โครงการเด็กดอยกินดีก้าวหน้าและประสบผลมากพอที่จะนำไปเป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะการผสมผสานการละเล่นชนเผ่าเข้ากับหลักสูตรการศึกษา เชื่อมโยงหลักโภชนาการที่ดีเข้ากับวิชาในห้องเรียน
กล่าวได้ว่า กินดี กายสุข เรียนสนุก เริ่มสอดสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของเด็กๆบนดอยแม่สลองแล้ว
…………………………………………………….

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →