สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

พล.อ.สุรินทร์จี้สำนักนายกฯเร่งแก้ปัญหาชาวเลเผยแก็งค์อิทธิพลบนเกาะหลีเป๊ะเหิมเกริมหนักข่มขู่ชาวบ้าน-ปลอมแปลงเอกสารอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินปลัดอำเภอแฉตำรวจมีอคติไม่รับแจ้งความ

image

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเล 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล และระนอง เครือข่ายแก้ปัญหาคนไทย สมาพันธ์ชาวกะเหรี่ยงแห่งสยามและองค์กรพัฒนาเอกชนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องประมาณ 50 คน ได้เข้าประชุมร่วมกับนายวรพันธ์ เย็นทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือกรณีการแก้ไขปัญหาชาวเล โดยมีประเด็นนำเสนอที่ประชุมเพื่อรับทราบประเด็นปัญหาและการแก้ไขด้านต่างๆ อาทิ ปัญหาเรื่องการข่มขู่ขับไล่ ชาวเลออกจากพื้นที่ที่ถูกอ้างกรรมสิทธิ์จากภาคเอกชนและภาครัฐ ปัญหาเรื่องการคุกคามวิถีชีวิตทางการประมงของชาวเลในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย การเร่งประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษของชาติพันธุ์พื้นเมืองทั่วประเทศไทย โดยใช้เวลาในการประชุมนาน 3 ชั่วโมง 

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล กล่าวในที่ประชุมว่า ครั้งหนึ่งอนุกรรมการฯเคยมีข้อเสนอการแก้ปัญหาโดยให้ผู้ประกอบการที่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่มารายงานตัวและทำรังวัดเพื่อแจ้งข้อมูลการครอบครองที่ดินเพื่อความชัดเจนในสิทธิ และเร่งแก้ปัญหาชาวเลทั่วไปที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เช่น กรณีเกาะหลีเป๊ะ พบว่ามีที่ดินมีการประกาศเอกสารสิทธิ์การครอบครอง 26 แปลง สำนักงานที่ดินเคยประกาศให้เอกชนมารายงานสิทธิการครอบครอง มีผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่มารายงานเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือธนาคารกรุงไทย มารายงานแค่แปลงเดียว หน่วยงานอื่นอีก 25 แปลงไม่ได้มาแจ้งข้อมูล ซึ่งปัจจุบันไม่มีอำนาจดำเนินการได้เพราะคณะอนุกรรมการหมดวาระลง และไม่ได้ดำเนินการต่อ

พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า อยากให้สำนักนายกฯ ดำเนินการแก้ปัญหา เช่น ออกคำสั่งหรือแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เพื่อสานต่อการทำงานและให้สำนักนายกฯออกคำสั่งเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างโปร่งใสต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีชาวเลได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย ถูกไล่รื้อ เจอปัญหาคุกคามพื้นที่วัฒนธรรมทั้งสุสาน และถูกกีดกันจากการทำอาชีพประมงในทะเล เพราะกระแสการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น

ด้านนางแสง โสม หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กล่าวว่า ขณะนี้ชาวเลหลายพื้นที่ถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่พัฒนาเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประสบความลำบาก โดยเฉพาะกรณีการร้องเรียนปัญหาผ่านสื่อมวลชน ทำให้ชาวเลหลายรายไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลและออกจากพื้นที่ แต่ปัญหาจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องการการแก้ปัญหาเร่งด่วน คือ อยากให้สำนักนายกรัฐมนตรี เร่งออกคำสั่งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการฯแก้ไขปัญหาชาวเล เร่งประสานงานเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตของชาวเลในพื้นที่ ที่ให้ข้อมูลแก่สาธารณะแล้วถูกคุกคาม และเป็นตัวกลางในการประสานงานเพื่อของบประมาณในการแก้ไขปัญหา เช่น สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดงานวันนัดพบชาวเล

“ที่ผ่านมาปัญหาที่รุนแรงที่สุด คือตอนเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และหน่วยงานอื่นๆ ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อประชุมทำข้อมูลแผนที่ทำมือสำหรับใช้การเปรียบเทียบกับแผนที่ครอบครองที่ดิน แต่พบว่า มีชาวบ้านถูกคนมีอิทธิพลข่มขู่ ทั้งถูกไล่ ถูกขู่ทำร้าย ถูกใช้คำไม่ดีสารพัด จุดนี้ชาวบ้านเริ่มไม่มั่นใจ อยากให้ปัญหานี้หายไป ชาวบ้านจะได้กล้าแสดงตัว และบอกปัญหามากขึ้น “ นางปรีดากล่าว

นาย พีรพัฒน์ เงินเจริญ ปลัด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล กล่าวว่าปัญหาที่ดินในเกาะหลีเป๊ะ เป็นปัญหาซับซ้อน เริ่มแรกที่นายทุนเข้ามานั้น มีอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นคู่กรณีกับชาวบ้านแล้วมีนายหน้าเข้ามาจะมาในรูปแบบทนายความ ซึ่งเมื่อชาวบ้านรุกที่อุทยานฯ จะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ชาวบ้านถูกฟ้องไม่มีเงินจ่าย ทนายเสนอว่า หากชนะคดีขอที่ดินเป็นการตอบแทน โดยมีที่ดินตอบแทนมากถึง 50 % ในบางราย ส่วนเจ้าของที่ดินซึ่งเดิมถือเอกสารเป็น สค.1 นั้น มักยอมแลกกับเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้ชนะคดี ต่อมาการโกงที่ดินมีมากขึ้น เจอประกาศ นส.3 ทับที่ สค.1 เป็นเอกสารลอยมีแค่เอกสารชี้แจงว่า ครอบครองที่ดินตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่มีหลักหมุดชัดเจน ทำให้เอกชนบางรายไม่มาแจ้งกับสำนักงานที่ดินเพื่อทำรังวัดที่ชัดเจน

“เดิมนั้นการสรุปที่ดินนั้น มีการแบ่งแยก เป็น นส 3 มากถึง 26 แปลง สค.1 มีประมาณ 23 แปลง และในส่วน สค.1 เตรียมออกเป็น นส. 3 ทั้งหมด 17 แปลง แต่ปัญหาซ้อนอีกแบบ คือ นส. 3 มีแจ้งผู้ครอบครองร่วมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในอดีตเมื่อหุ้นส่วนครอบครองอยากขายที่ดิน กรณีมี 4 คนครอบครองร่วมกัน พบบางที่ เซ็นยินยอมขาย แค่ 2 คน อีก 2 คนไม่มีตัวตน จุดนี้ อยากให้รัฐบาลหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือใครก็ได้เป็นตัวกลางเร่งสอบเอกสารลอย ปัญหาจึงจะยุติ” นายพีรพัฒน์ กล่าว

ปลัดอำเภอ กล่าวด้วยว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีมากกว่านั้น คือ แรกๆ มีนายทุนบุกรุกยึดที่ ช่วงวิกาล เช่น 3 ทุ่ม ชาวเลไปแจ้งตำรวจปรากฏตำรวจไม่รับแจ้งความ อ้างว่า เอกสารถูกต้อง และการกระทำของนายทุนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะตามหลักการไม่มีเจ้าของที่ดินรายไดมีสิทธิเข้ายึดที่ดินยามวิกาล

“อคติแค่นี้ ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยข้ามพ้นสักที ชาวเลไม่ได้รับความเป็นธรรม ข้อเสนอกรณีการขัดแย้งเรื่องที่ดินขอให้ตรวจสอบตรงไปตรงมา ส่วนกรณีการแจ้งความไม่เป็นธรรมต่างๆ ขอให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจริงใจเท่านั้น และตรวจสอบความโปร่งใสของคดีได้ เรื่องการยึดที่ดินนั้นผมเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐ คือ ต้นเหตุ เปิดทางให้เข้ามาประกาศ นส.3 ได้อย่างไร ทำไมเอกชนมีอำนาจมากขนาดนั้น” ปลัดอำเภอ ฯ กล่าว

ด้านนายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากสานต่อการทำงานเพื่อ แก้ปัญหา ชาวเล คือ ขอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลและดำเนินการกับชาวบ้านในทุกชุมชน เพื่อทยอยแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามกรณีชาวเลหาดราไวย์ถือว่าเป็นตัวอย่างการดำเนินการที่ดี เพราะสามารถนำประเด็นการพิสูจน์กระดูกโบราณบรรพบุรุษ มาร่วมพิจารณาเพื่อต่อสู้ด้านคดีความได้ โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการในการสืบหลักฐานที่ชัดเจน แต่อีกปัญหาที่รัฐบาลหรือ คสช.ต้องให้ความสำคัญและสานต่อ คือ หากผลการพิสูจน์กระดูกโบราณ สามารถยืนยันความเป็นชุมชนเก่าแก่ได้ หวังว่ากรมที่ดินจะสามารถใช้หลักฐานนั้นเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบธรรมเพื่อให้ชาวเลได้ดำรงชีวิตต่อไป เพราะชาวเลส่วนมากอยู่ในชุมชนที่แออัดและใช้น้ำและไฟ ราคาแพงจากภาคเอกชน อีกทั้งถูกกีดกันจากกรมอุทยานฯ ไม่ให้หากินในทะเลเพราะขัดทัศนียภาพของนักท่องเที่ยว ทำให้คุณค่าความเป็นคนของชาวเลลดลง

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงรายกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งทบทวนกฎหมายเรื่อง มติคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เรื่องการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษของชาติพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีชาวเลรวมอยู่ด้วย เพื่อรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่อไป โดย คสช. อาจใช้วิธีประกาศในนาม คสช.เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป

นายวรพันธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้นำเสนอเรื่องการแต่งตั้ง คณะ อนุ กก.ชาวเลให้ปลัดสำนักนายกฯ พิจารณาแล้ว ส่วนเรื่องการรวบรวมข้อมูลชาวเลแต่ละชุมชนนั้นให้ พอช.ดำเนินการต่อได้ ส่วนกรณีการถูกคุกคามข่มขู่ จากผู้มีอิทธิพลนั้น จะส่งหนังสือให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล

.

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →