สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

หวั่นทำลายถิ่นฐาน ภาคประชาชนใต้-เหนือขยับใหญ่ ค้านแผนโครงการขนาดใหญ่-การจัดการน้ำโดยรัฐ คนด้ามขวานเดือดเอื้อทุน-ไม่สนชาวบ้าน ชาวบ้านต้นน้ำเซ็งฟังแต่ราชการ-ย้ำไม่เอาเขื่อนขนาดใหญ่

1

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 เวลาประมาณ 14.30 น. ตัวแทนภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสงขลา –สตูล และคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 15 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวโดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน เป็นตัวแทนรับหนังสือโดยยืนยันว่าจะส่งหนังสือและเอกสารให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเร็วที่สุด

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ตัวแทนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวระหว่างการประชุมร่วมนายสุขสวัสดิ์ว่า ว่า จากกรณีโรงแยกก๊าซในอำเภอจะนะนั้น ชาวบ้านเคยต่อสู้แลกด้วยชีวิตแต่ก็ไม่สามารถต่อต้านไว้ได้ แต่มายุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ครั้งนี้ เราต่อสู้ด้วยสันติวิธีทุกรูปแบบ ไม่ต้องการให้บรรยากาศแบบเดิมกลับมาอีกแล้ว ขอให้ คสช.ทบทวนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ทั้งหมดและขอให้สั่งระงับโครงการทั้งหมดและขอให้เชื่อมั่นว่าภาคประชาชนจะพัฒนาท้องถิ่นด้วยศักยภาพของตนเอง ไม่จำเป็นต้องยึดแผนอุตสาหกรรมเพื่อสนองตอบนโยบายคนบางกลุ่ม

ก่อนหน้าในวันเดียวกันเมื่อเวลา 10.00 น.ที่ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีเวทีเสวนาเรื่อง”จากท่าเรือน้ำลึกปากบารา : หายนะของคนสตูล – โรงไฟฟ้าถ่านหิน : คนกระบี่ได้อะไร” โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้าถ่านหิน นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ รวมทั้งสื่อมวลชนประมาณ 50 คน เข้าร่วมกิจกรรม

นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กล่าวว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา นั้นเป็นโครงการที่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติคืออุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ตะรุเตา เภตรา และทะเลบัน รวมทั้งกระทบต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดด้วย โดยพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวเป็นมรดกของอาเซียน และเทือกเขาที่อยู่ในแผนระเบิดเพื่อนำหินมาสร้างท่าเรือและสะพานเชื่อมชายฝั่งทะเลประมาณ 8-10 ลูกนั้น เป็นภูเขาที่มีซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลอายุหลายล้านปี โดยมีการศึกษาจากนักวิชาการจากศูนย์พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและนักวิชาการอิสระ

“ขณะนี้ทางนักวิชาการยืนยันว่าพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ควรจะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เรียกว่าอุทยานธรณีวิยา ซึ่งศึกษาเป็นผลสำเร็จแล้ว เหลือแค่ผลักดันภาคนโยบาย ระดับประเทศเท่านั้น ส่วนทางทะเลอันดามันยืนยันว่าเป็นพื้นที่สมบูรณ์ทางทรัพยากร ที่พื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ทั้ง 3 แห่งพบทั้งพะยูน และพบปูทหารพระราชา เป็นสัตว์ที่ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล ซึ่งควรพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาธรรมชาติมากกว่าการสร้างอุตสาหกรรม ที่คนใต้กังวลกันมาก คือ หากเกิดอุตสาหกรรมขึ้นพื้นที่สตูลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชายแดน เมื่อทะเลไทยพินาศ คนก็ไประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องรักษาไว้และเรายืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับทุกรัฐบาลที่ผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึก และเขตอุตสาหกรรม” นายไกรวุฒิ กล่าว

ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า 25 ปีแล้วที่โครงการปากบารา มีการเคลื่อนเพราะรัฐบาลไทยกับภาคอุตสาหกรรมต้องการผลักดันเรื่องโครงสร้างปิโตรเคมีในอาเซียน แต่ก็มีการคัดค้านมาตลอดทำให้ต้องชะงักไป โดยโครงการปากบาราและโครงการอื่นๆในภาคใต้ เช่น โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าหินกูดบ่อนอก และโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่นครศรีธรรมราช ฯลฯ ทุกอย่างมีเคลื่อนไหวโดยอ้างการขาดแคลนแห่งพลังงานและอ้างการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่อันดับสองของโลก แต่สิงคโปร์ไม่เหมือนประเทศไทย เพราะสิงคโปร์เป็นพื้นที่ ที่ขาดความสมบูรณ์ด้านทรัพยากร จึงอยากให้รัฐบาลยุคนี้ประเมินความเสียหาย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่มุ่งเอาคุณค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจเอกชนเป็นใหญ่

ดร.อาภา กล่าวต่อว่า ในแผนพัฒนาโครงการในภาคใต้ที่มีประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทนี้ พบว่าภาครัฐมีแผนปลดล็อคหลายอย่าง เช่น การกำหนดระยะเวลาแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ( อีเอชไอเอ) ที่กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีการพิจารณาและแนะนำการแก้ไขอีเอชไอเอให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ขณะที่แผนการวางผังเมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมจากเดิมใช้ระยะเวลา 20 ปี มายุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลดระยะเวลาเหลือแค่ 5 ปี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมและทุนใหญ่อย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่นายสุทัศน์ ไชยมด ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ในอำเภอเหนือคลองนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนแต่อย่างใด เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นมีการผลิตกระแสไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ ขณะที่คนกระบี่ใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันแค่ 120 เมกะวัตต์และในอนาคตประมาณ 5-10 ปีก็อาจใช้เต็มที่ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ดังนั้นไฟฟ้าที่เหลือจะส่งไปที่การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา และบริการด้านอุตสาหกรรมต่อไป

“ในอดีตเมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่เมื่อประมาณปี 2507 กฟผ.เคยพูดไว้ว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งเรื่องพลังงานและเรื่องการสร้างงาน แต่กระบี่มีไฟฟ้าใช้ในภายหลังการก่อสร้างเกือบ 10 ปี บทเรียนตอนนั้นยังจำได้ดีแต่ตอนนี้เราไม่ปล่อยให้คนกระบี่ตกอยู่ในความเสียหายเดิมอีกแล้ว เพราะเรามีบทเรียนแล้วว่าไม่ได้อะไรเลยจากการพัฒนาด้านพลังงาน” นายสุทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 16 กันยายน 2557 นี้ตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มดังกล่าวจะเดินทางไปพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในเวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

2

ในวันเดียวกันที่สถาบันวิจัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ได้จัดประชุมหารือถึงอนาคตการบริหารจัดการน้ำโดยภาคประชาชน‬ โดยภายหลังการประชุมได้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้อง 2 ข้อดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลยุติการจัดงบประมาณผูกพันในการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ดำเนินงานโดยกรมชลประทาน

2. ขอให้รัฐบาลถอดถอนแผนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ออกจากแผนพัฒนาการชลประทานในกรอบ 60 ล้านไร่ ที่ดำเนินงานโดยกรมชลประทาน

3. ให้รัฐบาลมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของกรมชลประทานที่ผ่านมา ว่ามีการใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ และผลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาผลกระทบได้เกิดประโยชน์อย่างไรต่อประเทศชาติ

4. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ มีข้อเสนอเร่งด่วนในกรณีเขื่อนแม่สรวยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยให้มีการเก็บกักน้ำไม่เกินร้อยละ 60 และให้ยุติการใช้เขื่อนชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ถ้าจะมีการใช้ประโยชน์จากเขื่อนในอนาคต ควรจะจัดเวทีให้ประชาชนในอำเภอแม่สรวยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการจัดการเขื่อนแม่สรวย ในอันที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชนและชุมชนที่อยู่ท้ายเขื่อนแม่สรวย

5. ขอให้รัฐบาลตรวจสอบปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการบริหารการจัดการน้ำที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนรูปธรรมการจัดการน้ำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →