สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

มุมมองทางบวกกับข้อกังวล ในเวทีถกเรื่องเขื่อนครั้งแรกในพม่า(บทความแปล)

ชาวกะเหรียงทำพิธสืบชะตา แม่น้ำสาละวิน พวกเขาต่อต้านการสรา้งเขื่อนกั้นแม่น้ำแห่งนี้ ภาพโดย Karen Rivers Watch
ชาวกะเหรียงทำพิธสืบชะตา แม่น้ำสาละวิน พวกเขาต่อต้านการสรา้งเขื่อนกั้นแม่น้ำแห่งนี้ ภาพโดย Karen Rivers Watch

เนปีดอว์ – บรรยากาศที่เต็มไปด้วยแง่บวกของโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในพม่า ถูกลดทอนกระแสลงด้วยข้อกังวลต่างๆ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเขื่อนครั้งแรกของประเทศที่กรุงเปีดอว์

ในขณะที่ธนาคารโลกเพื่อการพัฒนา เจ้าหน้าที่รัฐ และที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจต่างชูการขยายโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืนและเป็นธรรม นักเคลื่อนไหวกลุ่มชาติพันธุ์และองค์กรเอ็นจีโอก็ออกมาเตือนถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ต่อชุมชน สิ่งแลวดล้อม และความขัดแย้งที่ยังคงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดย International Finance Corporation (IFC) ณ กรุงเนปีดอว์ เป็นเวลา 2 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมจากพม่าและในภูมิภาค จำนวน 150 คน โดยได้เปิดเวทีให้มีการหารือกันเกี่ยวกับอนาคตของเขื่อนในพม่า ในชวงเวลาที่พม่าได้มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นเรื่องเขื่อน เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันมานานในพม่าในยุคที่พม่าปกครองโดยรัฐบาลทหารเรื่องการละเมิดสิทธิมนษยุชน ความขัดแย้งที่เลวร้ายลง และการตกลงทางธุรกิจลับ

นาย ขิ่น หม่อง โซ รัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้าพม่า กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเป็น “หนึ่งในความสำคัญอันดับต้นๆ ” ในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของพม่า ซึ่งเขื่อนเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักในแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า

“การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เราเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ลุ่มน้ำและการรับประกันให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนทรรศนะว่าจะผ่านพ้นความท้าทายนั้นได้อย่างไร” นาย ขิ่น หม่อง โซ กล่าว ก่อนที่จะเดินออกจากที่ประชุม พร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสส่วนใหญ่

ปัจจุบัน ประชนชนชาวพม่ามีไฟฟ้าใช้ เพียงแค่ 1 ใน 3 หรือราว 3 ล้านครัวเรือน โดยความต้องการด้านพลังงานจากประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศคาดว่าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ทั้งนี้เขื่อนต่างๆ ที่มีแผนการสร้างอาจจะตอบโจทย์ถึงความต้องการที่ว่านี้ แม้ว่าไฟฟ้าส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังประเทศจและประเทศไทยเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐก็ตาม

ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) และ IFC รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) กำลังให้การช่วยเหลือพม่าในการพัฒนานโยบาย แผนการ และกรอบของกฏหมายเพื่อให้บรรลุจุดหมายในการเพิ่มความเติบโตด้านพลังงานตามที่หวังไว้ ในขณะเดียวก็ได้สนับสนุนงบประมาณในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน อาทิ การขยายระบบสายส่งไฟฟ้าที่ยังไม่พัฒนา เป็นต้น

องค์กรต่างๆ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากชาติตะวันตกและญี่ปุ่นเพิ่งจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพม่าเมื่อปี 2012 หลังจากรัฐบาลพลเรือนของประธาธิบดีเต็งเส่งได้ปฏิรูปเรษฐกิจและเปลี่ยนการปกครองเป็นะบอบประชาธิปไตย ขณะที่บรรดาตัวแทนจากธนาคารที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ต่างเห็นดีเห็นงามกับทิศทางที่รัฐบาลพม่ากำลังเดินอยู่อย่างเห็นได้ชัด

แผนการหาประโยชน์จากขีดความสามารถอันมหาศาลในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้รับความเห็นชอบ แม้ว่าจะมีการเร่งให้มีการยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากลในการประเมิณและการลดผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อม “ในพม่า เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไฟฟ้าพลังน้ำจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในความเท่าเทียมกันด้านพลังงาน ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นด้วยวิธีการที่รับผิดชอบที่มากขึ้น เพราะเป็นโครงการระยะยาว” Raghuveer Sharma หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนจาก หน่วยงานสาธารณูปโภคและทรัพยากรธรรมชาติ ของ IFC กล่าวในการให้สัมภาษณ์

มิน ข่าย ผู้อำนวยการดำเนินงานไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงไฟฟ้า กล่าวว่า พม่ามีเขื่อนที่ใช้งานได้ 24 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 7 แห่ง ในขณะที่มีการลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นไปแล้ว 35 โครงการ อีก 4 โครงการได้รับการเสนอจากบริษัทผู้พัฒนา ถ้าทุกโครงการก่อสร้างเสร็จจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 43,709 เมกกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต 3,011 เมกกะวัตต์ ตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้นำเสนอ

ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าบางส่วนในที่ประชุมกล่าวว่า พวกเขามีความหวังในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับเขื่อน แต่ชี้ว่า กฏหมายและความสามารถของรัฐบาลในการจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนยังไม่เพียงพอ

“สิ่งที่เรายังขาดในตอนนี้ก็คือ กระบวนการ EIA(การประเมิณผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ที่จะกำหนดว่าจะมีการทำ EIA อย่างไร แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะมีการให้คำปรึกษาหารือและเผยแพร่อย่างไร” Vicki Bowman จากศูนย์ผู้อำนวยการศูนย์พม่าเพื่อธุรกิจที่รับผิดชอบ (Myanmar Center for Responsible Business) กล่าว

“กระทรวงสิ่งแวดล้อม…ไม่มีศักยภาพทางด้านเทคนิคในด้านสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ที่สำคัญที่สุดคือด้านสังคม ในการประเมิณว่า บริษัทและที่ปรึกษาที่พวกเขาจ้างมา จะทำการประเมิณ(ผลกระทบ)และจัดทำแผนการบรรเทาความเสียหายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม”

Vicki Bowman กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า โครงการเขื่อนที่เริ่มก่อสร้างไปแล้ว อย่างเช่น เขื่อนมิตส่งกั้นแม่น้ำอิรวดีในรัฐคะฉิ่น ที่ถูกระงับไป จะมีมาตรฐานสากล “การหลั่งไหลเข้ามาของ IFC และธนาคารโลก และการประชุมในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะรับรองว่า จะมีการประเมินคุณภาพและความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมกับเขื่อนทุกแห่ง”

มอว์ ทุน อ่อง นักเคลื่อนไหวชาวคะฉิ่นที่ทำงานกับสถาบันการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource Governance Institute) กล่าวในที่ประชุมว่า “มันเป็นการเลือกกลยุทธในพม่า เราจะก้าวเร็วๆ แล้วผิดพลาด หรือจะเดินช้าๆ อย่างถูกต้อง ? นี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมต้องตัดสินใจ”

 

เขื่อน เติมเชื้อไฟความขัดแย้ง
ปัจจุบันยังคงขาดข้อมูลเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของโครงการสร้างเขื่อน ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบอันยาวนานระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของพม่า ที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเอง

ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร รัฐบาลได้ลงนามเบื้องต้นกับบริษัทจีนในการสร้างเขื่อนอย่างน้อย 8 แห่งบนแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสาขาในรัฐคะฉิ่น ในขณะที่บริษัทไทยและจีนได้ลงนามเบื้องต้นในการสร้างเขื่อนอย่างน้อย 6 แห่งบนแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลผ่านรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และรัฐมอญทางภาคตะวันออกของพม่า

ในบรรดาโครงการเขื่อนเหล่านั้น มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างในพื้นที่สู้รบในรัฐคะฉิ่น เช่น เขื่อนชิบเว เขื่อนไลซา และพื้นที่สู้รบในรัฐฉาน อย่างเขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนฮัตจี และเขื่อนท่าซาง สถานะของโครงการเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แม้ว่า นาย มอว์ ตาร์ ทเว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไฟฟ้าจะกล่าวในสภาเมื่อปีที่แล้วว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะผลักดันเขื่อนทั้ง 5 แห่งที่ยังคงมีปัญหาถกเถียงกันอยู่

รัฐบาลได้ระงับการก่อสร้างเขื่อนมิตส่งในปี 2011 และเขื่อนอีก 6 แห่งในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบ โดยเขื่อนดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท Chinese Power Investment (CPI) ของรัฐบาลจีน

ในระหว่างการประชุม องค์กรเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวกลุ่มชาติพันธุ์ได้เตือนรัฐบาลพม่า ธนาคาร และที่ปรึกษาทางธุรกิจ ว่า การสร้างเขื่อนในพม่าจะนำมาซึ่งความเสี่ยงมหันต์ เนื่องจากบางโครงการจะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งในกลุ่มชาติพันธุ์และส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“เท่าที่ทราบ จะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 7 แห่งบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเขตของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ จากมุมมองทางการเมือง เราสามารถคิดได้ว่า รัฐบาลกำลังใช้เขื่อนเป็นอาวุธในการควบคุม และทำให้พื้นที่ดังกล่าวจมอยู่ใต้น้ำ ดังนั้น มันจึงสามารถทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นได้” เอพริว จู จู จากองค์กร Land In Our Hands กล่าว “ดังนั้น ขอให้คิด อย่าพยายามที่จะผลักดันการสร้างเขื่อนเลย… เพราะมันจะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในพม่า”

ด้านเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงเวลาเดียวกับการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยได้เรียกร้องให้ “ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินทันที เนื่องจากเป็นการเติมเชื้อไฟสงครามและละเมิดสิทธิของประชาชนในพื้นที่” แถลงการณ์ดังกล่าวได้ออกมาพร้อมกับคำร้องที่ลงชื่อโดยประชาชนกว่า 61,000 คน 131 องค์กร รวมทั้งพรรคการเมืองด้วย

ในช่วงรัฐบาลทหารที่ผ่านมา มีรายงานหลายฉบับที่รายงานเกี่ยวกับการทำสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้าง อันเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สร้างเขื่อน และเคลียร์พื้นที่ให้ปราศจากกองกำลังและชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์

ด้านรายงานขององค์กร Karen Rivers Watch ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุถึงการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA กับกองกำลังร่วมรัฐบาลพม่ากับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่ปะทุขึ้นในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญเมื่อปีที่แล้วว่า เป็นผลจากการที่รับาลพม่าพยายามรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจี

ด้านตัวแทนจากธนาคารระหว่างประเทศมีแนวทางที่ชัดเจนในการเจรจาเรื่องเขื่อนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แต่ก็ทราบดีถึงครามอ่อนไหวของโครงการ “หลายความขัดแย้งเป็นเรื่องของโอกาสในทางธุรกิจ…เราต้องเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้งดังกล่าว แต่ผมแน่ใจว่าเราจะหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งน้นได้” Sharma จาก IFC กล่าว ก่อนที่จะพูดว่า “แต่ถ้าเป็นเรื่องชาติพันธุ์ มันอาจจะแก้ยากกว่า”

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในช่วงที่มีการพุดคุยถึงความกังวลถึงความเชื่อมโยงระหว่างเขื่อนกับความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์

Ashley South นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์มาเป็นเวลานาน และเป็นที่ปรึกษาองค์กร Myanmar Peace Support Initiative ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากประเทศนอร์เวย์ กล่าวในที่ประชุมว่า “มันจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาสำหรับการสร้างเขื่อนในพม่านั้นเป็นไปในทางลบในหลายด้าน โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง”

“ดังนั้นชาวบ้านในพื้นที่จึงมีทัศนคติในแง่ลบต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐทั่วไป และโครงการสร้างเขื่อน” เขากล่าว โดยเสริมว่า ความคิดเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากโครงการสร้างเขื่อนมีมาตรฐานที่สากล

“เราก็ได้ยินมาเยอะถึงประโยชน์มหาศาลของเขื่อนที่จะมีต่อประเทศพม่า และฉันก็ยอมรับมัน มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก”

John Bright จากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยงและการเคลื่อนไหวทางสังคม (Karen Environmental and Social Action Network) กล่าวว่า การพัฒนาโครงการสร้างเขื่อนที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เอื้อต่อประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่และองค์ทางการเมืองต้องใช้เวลาหลายปี

“เราต้องทำให้มั่นใจว่าเรามีกระบวนการประชาธิปไตยที่รับรองการแก้ปัญหาอย่างสันติและสิ่งแวดล้อมที่สงบ” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์ “จากนั้นค่อยเริ่มวาระสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเราก็ต้องการพัฒนาเช่นกัน เพราะเรากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นและเพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง”

“มันต้องใช้เวลา ความขัดแย้งเกิดขึ้นกว่า 6 ทศวรรษแล้ว และคุณไม่สามารถสร้างความไว้ใจได้ในเวลา หนึ่ง สอง หรือสามปี มันอาจต้องใชเวลาเป็น 20 ปี”

 

แปลจาก http://m.irrawaddy.org/burma/optimism-concern-mark-burmas-first-workshop-hydropower-dams.html

On Key

Related Posts

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →

KNU ประกาศกอบกู้มหารัฐกลอทูเลภายใต้ปฏิบัติการ Taw Mae Pha Operation ยื่นคำขาดทหารทัพแตกมอบตัวภายใน 2-3 วัน เผยเตรียมหารือกองกำลังฝ่ายต่อต้านบริหารเมืองเมียวดี ระบุสกัดกั้นทัพเสริม SACจนถอยร่น

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ภายหลังกองปลดปล่อยแห่งชRead More →

ชักธงกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสาเหนือเมืองเมียวดี-เผาธงชาติพม่าทิ้ง KNU ประกาศทางสัญลักษณ์ยึดพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ รศ.ดุลยภาคชี้จีนเป็นตัวแปรสำคัญ

วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่กองบัญชาการควบคุมที่ 12 หRead More →

รัฐคะเรนนียังรบกันเดือด โฆษก IEC เผยฝ่ายต่อต้านยึดพื้นทางทหาร SACได้เกือบหมด-ปิดล้อมบอลาเค-ผาซอง ส่วนสู้รบในเมืองเมียวดีกองกำลังชาติพันธุ์รุมสกัดขบวนทหารพม่าเสริมทัพ

v เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 นายบันยา (Banya) โฆษกRead More →