สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

สงครามพม่า -โกก้าง สั่นคลอนสันติภาพในพม่า วิกฤติ ทางออกของใคร

ภาพ DVB
ภาพ DVB

ในขณะที่การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศไม่ประสบความสำเร็จในวันที่ 12 ก.พ. ซึ่งตรงกับวันสหภาพ เหมือนที่รัฐบาลพม่าตั้งใจ อีกด้านหนึ่ง ทางภาคเหนือของรัฐฉาน สงครามครั้งใหม่ปะทุขึ้น ชื่อของโกก้างถูกกล่าวถึงเพียงข้ามคืนในฐานะกบฎก่อการร้าย สงครามโกก้าง – พม่า กำลังส่งผลร้ายต่อกระบวนการสร้างสันติภาพพม่า และกำลังส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้ด้วยหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม

เหตุการณ์สู้รบในเมืองเหล่ากาย เมืองหลวงเขตปกครองพิเศษโกก้าง เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังโกก้าง (MNDAA-Myanmar National Democratic Alliance Army) หรือ กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า” การสู้รบครั้งนี้รุนแรงดุเดือด กองทัพพม่าได้ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ขณะที่ทหารโกก้างเข้าร่วมรบราว 1,000 คน และยังมีทหารจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีก 100 คนร่วมรบเคียงข้าง เหตุสู้รบส่งผลให้มีประชาชนกว่า 3 หมื่นคนอพยพไปยังเมืองหนานส่าน เขตมณฑลยูนนาน ฝั่งจีน ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งราว 4-5 พันคนอพยพไปยังเมืองล่าเสี้ยวและมัณฑะเลย์ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่

ภาพจาก คนเครือไท
ภาพจาก คนเครือไท
ภาพจาก wikimedia
ภาพจาก wikimedia

ทางกองทัพพม่าออกมายอมรับว่ามีทหารเสียชีวิตจากเหตุสู้รบครั้งนี้ 55 นาย ขณะที่โกก้างเสียชีวิต 72 นาย ขณะที่ทางสำนักข่าวไทใหญ่ Panglong รายงานว่า เหตุการณ์ในเมืองเหล่ากายนั้นเข้าสู่ภาวะวิกฤติ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกกองทัพพม่าฆ่าเสียชีวิตมากกว่า 100 คน และมีชาวบ้านถูกทุบตีทำร้าย โดยกองทัพพม่าได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ และระบุจะไม่อ่อนข้อให้กับโกก้าง และไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่นิ้วเดียวให้ศัตรู ซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริง

ชาวโกก้างก็คือชาวจีนฮั่น พูดภาษาจีนเช่นเกียวกับชาวจีนในมณฑลยูนนาน ย้อนไปเมื่อสมัยที่รัฐฉานยังอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ หลังจีนและอังกฤษได้แบ่งเขตแดนกัน เขตปกครองของโกก้างได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน ขณะที่หลายเมืองของรัฐฉานก็ตกไปอยู่ในจีน ระหว่างปี 2503 – 2532 พื้นที่นี้ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ หลังพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย โกก้างจึงได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลในปี 2532 และขอตั้งเขตปกครองพิเศษโกก้างขึ้น โดยมีผู้นำคือเผิงจาเซิง เคยมีกำลังพลมากถึง 3,000 นาย

เขตปกครองโกก้างอยู่อย่างสงบภายใต้การนำของนายเผิงจาเซิงเป็นเวลากว่า 20 ปี จนมาถึงในปี 2552 ที่กองทัพพม่าได้เข้ายึดเขตโกก้างอย่างเบ็จเสร็จ โดยอ้างการยึดครองครั้งนี้ว่า โกก้างมีโรงงานผลิตยาเสพติดและอาวุธ แต่เหตุผลที่แท้จริงเชื่อกันว่า เพราะโกก้างไม่ยอมแปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่า หลังยึดครองโกก้างได้สำเร็จ ทหารโกก้างแตกระส่ำระสาย กองทัพพม่าอ้างว่า เผิงจาเซิงนั้นได้หนีไปอยู่ประเทศจีนเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะรวบรวมกำลังพลกลับมารบกับกองทัพพม่าในครั้งนี้

ทางโกก้างยืนยันชัดเจนว่า การกลับมาครั้งนี้ต้องการทวงเขตปกครองของตนคืนจากทหารพม่า ที่ถูกยึดไปเมื่อปี 2552 และต้องการทวงคืนข้อตกลงหยุดยิงที่เคยทำไว้กับรัฐบาลพม่าในปี 2532 โดยระบุ แค่ต้องการปกครองตนเองเหมือนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ไม่ได้ต้องการแยกจากพม่า แม้จะพูดภาษาจีน แต่พวกเขาคือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่า

แต่ไม่อาจปฏิเสธว่า สงครามครั้งนี้กำลังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อขบวนการสร้างสันติภาพในพม่า และอาจขยายไปยังพื้นที่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เพราะล่าสุด การแถลงข่าวที่เนปีดอว์เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้ออกมาโจมตีว่า สามารถยึดอาวุธจากทหารโกก้าง และพบว่าอาวุธได้ผลิตในโรงงานของกองทัพว้า (UWSA-United Wa State Army) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมาทางพม่าก็กล่าวหาว้ามาโดยตลอดว่าให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่โกก้าง

received_920887937941819

นอกจากนี้ ยังมีชนกลุ่มน้อยอีก 4 กลุ่มคือ กองทัพรัฐฉานเหนือ/พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Army / Shan State Progress Party) กองทัพเอกราชคะฉิ่น(Kachin Independence Army-KIA) กองกำลังปลดปล่อยดาระอั้ง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกับกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือโกก้าง อย่างไรก็ตาม มีเพียง TNLA กับกองทัพอาระกัน (Arakan Army) เท่านั้นที่ออกมายอมรับ ทั้งนี้ ตัวผู้บัญชาการสูงสุดอย่างมิ้นอ่องหล่ายก็เคยออกมากล่าวอย่างแข็งกร้าวว่า ชนกลุ่มน้อยที่ช่วยเหลือโกก้างจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์สู้รบในโกก้างนั้นยังสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและพม่า เพราะกองทัพพม่ากล่าวหาว่า ทหารรับจ้างชาวจีนช่วยโกก้างรบพม่า และยังกล่าวหาว่า จีนให้ความช่วยเหลือโกก้างโจมตีทหารพม่าจากดินแดนของจีน โกก้างที่มีเชื้อสายจีน จึงทำให้ดูเหมือนว่า ไม่ใช่โกก้างรบพม่าเท่านั้น แต่เป็นจีนรบกับพม่าด้วย เรื่องนี้กำลังสร้างความไม่พอใจและปลูกกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวพม่าเป็นอย่างมาก และเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนชาวพม่าหันมายืนข้างกองทัพและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นการพลิกโอกาสท่ามกลางวิกฤติได้เป็นอย่างดี

ชื่อของโกก้างนั้นอาจยังไม่เป็นที่คุ้นหู แต่ในตอนนี้พวกเขาถูกรู้จักในฐานะกบฎก่อการร้ายผ่านทางรัฐบาล การโจมตีรถสภากาชาดพม่าถึงสองครั้ง หรือแม้แต่โจมตีรถนักโทษหญิงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าอ้างว่าล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของโกก้าง เรียกความสงสารและความเห็นใจต่อกองทัพ แถมเติมเชื้อไฟความเกลียดชังจากจากประชาชนชาวพม่าที่มีต่อโกก้างมากยิ่งขึ้น ขณะที่โกก้างออกมาปฏิเสธไม่มีนโยบายทำร้ายประชาชน

ทางด้าน ทุนเมียตหน่าย จากกองทัพอาระกัน กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลเนปีดอว์กำลังทำในตอนนี้ก็คือ ทำให้สงครามครั้งนี้เหมือนว่าถูกรุกรานจากต่างชาติ หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลพม่าก็สามารถร้องเรียนไปยังนานาชาติได้ ในขณะเดียวกันพม่ากลัวที่จะกล่าวหาจีนตรงๆ ว่าเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ แต่อ้างว่าเป็นทหารจีนรับจ้างแทน การที่กองทัพพม่าได้กล่าวหาว่ามีทหารจีนรับจ้างมาร่วมรบกับโกก้างนั้น เป็นวิธีการของกองทัพพม่าที่ต้องการปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวพม่า

ทางด้าน โพ ทาน ชอง(Pho Than Chaung) โฆษกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma (CPB) หรือแม้แต่นักวิเคราะห์การเมืองชื่อดังของพม่าอย่าง ดร.หม่องซาร์นิ กลับมองว่า นี่อาจจะเป็นเกมการเมืองของรัฐบาลเต็งเส่งก็เป็นได้ เพื่อหาทางออกการเมือง โดยการก่อความไม่สงบในประเทศ สร้างสถานการณ์ความหวาดกลัว ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือยกเลิกการเลือกตั้ง เพราะพรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ โพ ทาน ชอง ที่เชื่อเช่นกันว่า รัฐบาลเหมือนรู้ว่าจะแพ้การเลือกตั้ง หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรมเกิดขึ้น

สอดคล้องกับทางจายยุ้นหลิ่น เลขาธิการพรรคหัวเสือ (Shan National League for Democracy – พรรคสันนิบาตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมืองออกมาลงเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะหาเหตุผลเพื่อจะไม่จัดการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลจะบริหารประเทศต่อไปโดยไม่จัดการเลือกตั้ง “หากมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง พวกเขาก็จะเดินหน้าต่อ แต่หากไม่ พวกเขาก็จะนำประเทศกลับไปเหมือนอดีต” จายยุ้นหลิ่นกล่าว

ทางด้าน เจ้าเสือแท่น ผู้นำกองทัพรัฐฉานเหนือ/ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Yangoon Media Group ว่า หากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) ปัญหาสู้รบ ความวุ่นวายต่างๆ ในประเทศก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน อย่างไรก็ดี ถึงเวลาวัดใจกันว่า รัฐบาลและกองทัพพม่าจะยอมเปลี่ยนแปลงนำประเทศไปสู่สหพันธรัฐที่แท้จริงเหมือนที่ประกาศปาวๆ หรือไม่ หรือเพียงเล่นเกมการเมืองไปเรื่อยๆ เพื่อยื้ออำนาจบารมีของตนต่อไป การเมืองพม่าในปี 2558 ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป

 

บทความโดย หมอกเต่หว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก DVB/Irrawaddy/www.panglong.org/Independent Mon News Agency

————

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →