สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เครือข่ายน้ำโขงบุกที่ประชุมเอ็มอาร์ซีค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ประนามลาวละเมิดข้อตกลง

เมื่อวันที่1 พฤษภาคม ที่โรงแรมเมอเวนพิค จ.ภูเก็ต ประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เป็นเจ้าภาพการประชุม ระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการลุ่มน้ำข้ามพรมแดน แม่น้ำโขงสู่ริโอ มีผู้บริหารองค์กรลุ่มน้ำ ผู้นำองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกกว่า 350 คน เพื่อหารือถึงแนวทางส่งเสริมให้แม่น้ำโขงสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นด้าน อาหาร น้ำ และพลังงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย โดยมีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุม

นายปรีชา กล่าวตอนหนึ่ง ว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างมิติน้ำข้ามพรมแดน รวมทั้งช่วยบรรเทาวิกฤตน้ำและอาหารที่มีความต้องการใช้ในปริมาณมากขึ้น เนื่องจากแม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ทั้งยังเป็นความรับผิดชอบในการแบ่งปันความรู้ ในการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงให้เกิดความสมดุล ลงตัว ไม่ขัดแย้งกัน

 

นายฮานส์ กุตต์แมน หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพิ่มความกดดันต่อทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ผลิตอาหารและพลังงานซึ่งในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มีความต้องการในการใช้น้ำ เพื่อผลิตพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้น การประชุมครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงจะได้หารือ ถึงการจัดการทรัพยากร ในลุ่มน้ำโขงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเปิดการประชุมนั้น ได้มีเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง นำโดยนายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเครือข่ายแม่น้ำโขง กว่า 30 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้บริหารคณะกรรมการเอ็มอาร์ซี และนายปรีชา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย โดยมีนายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการ รัฐมนตรีทส. มารับหนังสือ

 

นายนิวัติ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ จ. เชียงรายถึงอุบลราชธานี ขอคัดค้านการสร้างเขี่อนไซยะบุรีที่สร้างขวางแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาเมื่อเดือน ธันวาคม 2554 ได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีมติให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมรื่องผลกระทบจากเขื่อนในแม่น้ำโขง จึงเท่ากับว่าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ยังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิก แต่แล้วเมื่อเดือน มีนาคม 2555 ประเทศลาว ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว กลับไม่ปฏิบัติตามมติ และได้ลงมือก่อสร้างเขื่อนอย่างเป็นทางการโดยบริษัท ช. การช่าง ได้ลงนามกับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรีแล้ว ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีแล้วตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา

 

“ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนฯ ขอให้เอ็มอาร์ซีทบทวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือภาคประชาชนทั้ง 8 จังหวัด จะปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทุกแห่ง เพื่อแสดงมาตรการต่อต้านต่อไป” นายนิวัติ กล่าว

 

จากนั้นนายปรีชาและนายฮานส์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายปรีชา กล่าวว่า ขณะนี้ยอมรับว่าสถานการณ์แม่น้ำโขงเกิดผลกระทบระดับน้ำลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้งและอากาศร้อนมาก ส่วนผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐมนตีช่วยว่าการ กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน ได้เข้าพบตนและยืนยันว่าเขื่อนของประเทศจีนบนแม่น้ำโขง ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อประเทศปลายน้ำ ซึ่งหากมีข้อสงสัยก็พร้อมให้ความร่วมมือในการวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้น และร่วมมือกันในการหาทางออกต่อไป

 

ด้านนายฮานส์ กล่าวว่า เอ็มอาร์ซีได้เก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าแม่น้ำโขงยังมีสุขภาพดี แต่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วใน 4 ประเทศ ลุ่มน้ำโขง ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงให้มากที่สุดทั้งการชล ประทาน การเกษตร การผลิตอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบในเรื่องการใช้ปุ๋ย และสารเคมีที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง และด้านพลังงาน ส่วนการสร้างเขื่อนต้องยอมรับว่าแต่ละเขื่อนประโยชน์แตกต่างกัน มีทั้งเขื่อนที่ผลิตพลังงาน และเขื่อนสำหรับชลประทาน ซึ่งจากข้อมูลของเอ็มอาร์ซีพบว่ามีข้อห่วงใยในเรื่องของพันธุ์ปลาบางชนิดและ สิ่งแวดล้อม

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่ประเทศลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีถือเป็นการไม่ เคารพมติของเอ็มอาร์ซีหรือไม่ นายฮานส์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกันบ่อยครั้ง ในกลุ่ม 4 ประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งลาวยืนยันว่าได้ยังไม่ได้มีการก่อสร้างในแม่น้ำโขง เพียงแต่มีการตัดถนน และอาคารที่พักคนงานเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศลาวอ้างว่าได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยจ้างประเทศสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาดำเนินการ ซึ่งพบว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น

 

ขณะที่นายปรีชา กล่าวว่า ปัญหาการสร้างเขื่อนไซยะบุรีได้มีการหารือระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศอนุ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เมืองเสียมเรียบประเทศกัมพูชา โดยลาวยืนยันว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่เก็บกักน้ำ แต่ มีลักษณะคล้ายฝายน้ำล้นที่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า โดยรัฐมนตรีของไทย ลาว และกัมพูชา ได้ขอให้ลาวดูแลให้ดี เพราะว่าเป็นประเทศต้นน้ำ ซึ่งลาวก็รับปาก

 

เมื่อถามว่าท้ายที่สุดหากลาวตัดสินใจเดินหน้าสร้างเขื่อนเอ็มอาร์ซีจะสามารถทำ อะไรได้บ้าง นายฮานส์ กล่าวว่า เอ็มอาร์ซีเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานและให้ความรู้ในประเทศภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง แต่ไม่ใช่หน่วยงานทางศาล จึงไม่มีอำนาจไปยับยั้งใดๆ ได้ถ้าลาวจะสร้างเขื่อน.

 

 

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →