สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชำแหละเบื้องหลัง “เขาหัวโล้น-ไร่ข้าวโพด”เมืองน่าน เจ้าคณะอำเภอแฉชาวบ้านตกเป็นเหยื่อ-บิณฑบาตนายทุนเลิกเอาชาวบ้านเป็นทาส สมาพันธ์ข้าวโพดวอนรัฐหนุนเงินทุนเปลี่ยนวิถีเกษตร

received_980713458638606

ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2558 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและกลุ่มฮักเมืองน่าน และสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 15 สำนัก ร่วมกันลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง “ภูเขาหัวโล้น-ไร่ข้าวโพด ที่จังหวัดน่าน โดยนอกจากเก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่ทำไร่ข้าวโพด นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน แล้วยังได้ไปดูกระบวนการผลิตข้าวโพดที่นำมาแปรรูป

ทั้งนี้ที่วัดอรัญญาวาส อำเภอสันติสุข ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนหัวข้อ “วิถีวัฒนธรรมกับการจัดการทรัพยากร จากดอยหัวโล้น ไร่ข้าวโพด สู่ท่างออก” โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน ผู้นำชุมชน และชาวบ้านประมาณ 70 คนเข้าร่วมการเสวนา โดยพระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาสและเจ้าคณะอำเภอสันติสุข กล่าวว่า ปัจจุบันคนน่านกำลังตกเป็นจำเลยที่ถูกสังคมมองว่าเป็นตัวการทำลายป่าไม้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากอธิบายว่า ปัญหาป่าไม้จังหวัดน่านนั้น มีจุดเริ่มต้นตั้งรัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาประเทศเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ที่ให้การเปิดสัมปทานป่าไม้ ทำให้มีการตัดไม้ยืนต้นออกมาจากป่าเป็นจำนวนมาก จนมาถึงยุคปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำเกษตรที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังทำให้ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อของกลไกการเกษตรของนายทุนที่เอาเปรียบเกษตรกรจนเป็นหนี้สิน และไม่มีทางเลือกในวิถีการเกษตร ซึ่งคิดว่าถึงเวลาที่ต้องร่วมคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหานี้ จึงอยากขอบิณฑบาทจากนายทุนให้หยุดเอาชาวบ้านเป็นทาสรับใช้ และควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหา เพื่อเป็นการไถ่บาป

received_980714005305218

เจ้าคณะอำเภอสันติสุขกล่าวว่า ควรมีการนำองค์ความรู้วิชาการที่ถูกต้องไปพัฒนาการเกษตรแก่ชาวบ้านให้มีทางเลือก นักวิชาการต้องเลิกรับใช้นายทุนหันมารับใช้ชาวบ้าน เพื่อเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ที่จะส่งผลกระทบไปอีก 22 จังหวัดของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กลับคืนความสมบูรณ์

“เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ก็ไม่แข็งแรง ต้องซื้อตามที่บริษัทแนะนำว่าควรใช้พันธุ์ใด ต้องซื้อยา ถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปกู้ยืม รัฐบาลก็สนับสนุนระบบการปลูกข้าวโพดแบบนี้เต็มที่ พอหักค่าใช้จ่ายเหลือค่าแรงต่อวันไม่ถึง 100 บาท พอถึงฤดูปลูกใหม่ก็ไม่เหลือเงินทุน ต้องไปกู้ใหม่ เขาเอาเมล็ดพันธุ์ ยามาวางให้คนเข้าแถว บอกว่าใครมาช้าจะไม่ได้ซื้อ เขานับดอกเบี้ยไปแล้วตั้งแต่ยังไม่เริ่มปลูก เท่ากับชาวบ้านถูกมัดตราสังทั้งเป็นเตรียมขึ้นเชิงตะกอน และสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารถูกทำลายย่อยยับ” พระครูพิทักษ์นันทคุณ กล่าว

received_980714008638551

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ตลอดกว่า 30 ปี ที่ทำงานกับชาวประมง ทำให้เห็นว่าชาวประมงรายย่อยตลอดชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ยิ่งทำประมง ยิ่งจนลง จนถึงขั้นต้องทิ้งเรือเลิกอาชีพไปทำงานรับจ้าง และพบสาเหตุสำคัญว่า ในทะเลมีเรือประมงขนาดใหญ่ที่ทำประมงแบบทำลายล้าง จับสัตว์น้ำวัยอ่อนนำไปเข้าโรงงานปลาป่นและนำไปผสมกับข้าวโพดเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งนับวันเรืออวนลากอวนรุนมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีการรวมกลุ่มกันของเจ้าของเรือเพื่อต่อรองรับกับรัฐให้เกิดนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจ ทำให้ชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้แพ้มาโดยตลอด

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวต่อว่า ตนจึงตั้งคำถามในใจว่า เมื่อคนจับปลาจน คนปลูกข้าวโพดก็อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อมูลที่พบจากการลงพื้นที่น่านทำให้เห็นว่าสิ่งที่คิดไว้นั้นถูกต้อง เพราะหักต้นทุนแล้วคนปลูกข้าวโพดเหลือค่าแรงต่อวันไม่ถึง 100 บาท โดยความเป็นมาของการทำลายป่าเมืองน่านมีจุดเริ่มจากนโยบายของรัฐ แต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ไม่มีขอบเขต คือบริษัทใหญ่สามารถทำอะไรก็ได้เมื่อกลไกรัฐอยู่ในมือ

“ทะเลถือเป็นของคนน่านด้วย ป่าไม้ก็เป็นของคนสงขลาด้วย แต่วันนี้กลุ่มทุนธุรกิจกับอำนาจรัฐเป็นพวกเดียวกัน ทำให้คำขอบิณทบาตของพระคุณเจ้าอาจไม่สำเร็จ แต่การลุกขึ้นสู้ของเกษตรกรอาจจะสำเร็จได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ ถ้าชาวบ้านประมงจะออกเรือ น้ำแข็งกับน้ำมันก็ยังต้องไปเอาของเถ้าแก่มาก่อน หรือช่วงที่เรือออกทะเลไม่ได้ก็ต้องไปเอาข้าวสารกับเถ้าแก่ ถ้าจะให้ชาวบ้านไปเปิดแนวรบกับเก้าแก่ก็ไม่ได้ หรือจะปลดตราสังโดยไม่ขายปลาให้ถ้าแก่ก็คงไม่ได้ เพราะชาวบ้านจะเอาค่าเทอมให้ลูกจากที่ไหน มันเป็นตราสังหลายชั้น ต้องใช้เวลาในการปลดปล่อยเช่นเดียวกับปัญหาของเกษตรกรที่ทำไร่ข้าวโพด” นายบรรจง กล่าว

ขณะที่นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 7.2 ล้านไร่ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.6 ล้านไร่อยู่ในเขตป่าหรือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ใครได้ประโยชน์จากการปลูกข้าวโพดเหล่านี้ ซึ่งจากข้อมูลสัดส่วนในธุรกิจอาหารสัตว์จะเห็นว่า เกษตรกรจะได้เงินเพียง 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่พ่อค้าคนกลางหรือเจ้าของไซโลรับซื้อข้าวโพดจะได้เงิน 3 แสนล้าน และโรงงานอาหารสัตว์จะได้เงินมากกว่าถึง 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อมองว่าพื้นที่ป่าที่หายไปกลายเป็นไร่ข้าวโพด แต่สำหรับจังหวัดน่านที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 8 แสนไร่นั้น ไม่ใช่การบุกรุกป่าใหม่ แต่เป็นการที่ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ไร่หมุนเวียนดั่งเดิมให้กลายเป็นไร่ข้าวโพด ดังนั้นเบื้องหลังเขาหัวโล้นเมืองน่านจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสืบค้น เพื่อทำให้สังคมเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่ามองชาวบ้านเป็นผู้ทำลายป่าต้นน้ำ

นายเอนก จาวะนา กรรมการสมาพันธ์สมาคมผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่าน กล่าวว่า หากต้องการให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีการเกษตรไปสู่การปลูกพืชทดแทนหรือแนวทางเกษตรแบบผสมผสาน รัฐต้องสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อให้แก่ชาวบ้านเป็นทุนตั้งต้น เพราะต้องใช้เวลาในการรอให้ต้นไม้โตจนมีผลผลิต ต้องออกมาตรการควบคุมกลไกตลาดป้องกันไม่ให้นายทุนหรือพ่อค้าคนกลาง เข้ามากดราคารับซื้อผลผลิตอย่างที่กำลังประสบปัญหาในตอนนี้ และต้องสร้างตลาดรองรับผลผลิต นอกจากนี้หากรัฐบาลต้องการทวงคืนผืนป่าจากไร่ข้าวโพดโดยเฉพาะในอำเภอสันติสุข จะพบว่าแทบทุกแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะเดิมเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ที่เมื่อมีการขยายครอบครัวจะมีการแบ่งที่ดินให้แก่ลูกหลายเพื่อทำกิน ซึ่งไม่ใช่การขยายพื้นที่ใหม่ ดังนั้นเป้าหมายทวงคืนผืนป่าให้ได้ 60 เปอร์เซ็นของรัฐ จึงทำให้ชาวบ้านมองไม่เห็นทางออก

นางฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม หรือฝนแล้ง ชาวบ้านมักตกเป็นจำเลยว่าเป็นผู้ทำให้ภูเขาที่เคยมีป่าไม้กลายเป็นเขาหัวโล้น ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ขยายพื้นที่่การเกษตรเพิ่ม แต่ทำในพื้นที่ดั่งเดิมที่เคยทำไร่หมุนเวียนมาก่อน การแก้ปัญหาจึงควรมองไปที่สภาพความเป็นจริงของปัญหา เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ และกันเขตป่าชุมชนหรือที่ดินทำกินให้ชัดเจน โดยรัฐต้องมุ่งหนุนเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้ที่เหลืออยู่

….………………………

On Key

Related Posts

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →

กองทัพ KNDF-KNPP ยึดพื้นที่รัฐคะเรนนีได้ 90% โดยเฉพาะหลายเมืองติดชายแดนไทย ส่วนทัพโกก้างเริ่มฟื้นฟูเมืองเล่าก์ก่ายหลังสงครามสงบชั่วคราว ขณะที่ทัพอาระกันรุกคืบพื้นที่-กลไกรัฐยะไข่ราชการหยุดทำงาน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Myanmar Now แRead More →

ชาวบ้านสามพร้าวยื่นหนังสือ 4 หน่วยงาน เผยถูกรัฐขับไล่ออกจากที่ทำกินกว่า 500 ไร่ เตรียมสร้างวิทยาลัยแพทย์ เคยร้องเรียนตั้งแต่ปี 65 ไร้ความคืบหน้า หวังเร่งแก้ปัญหาเยียวยาผลกระทบ

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลากลางจังRead More →