สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

กดดันหนักไม่ยอมให้ชาวบ้านบูโดบุกทำเนียบ เผยอุทยานฯโยกโย้การแก้ปัญหาที่ดิน เหตุหวงอำนาจ หวั่นเป็นตัวอย่างให้ภาคประชาชนพื้นที่อื่นทำตาม

received_983996638310288
จากกรณีที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินในนามเครือข่ายปัญหาที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐเร่งดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 14 ตุลาคม 2551 เพื่อคืนสิทธิ์ที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านที่เดือนร้อนจากการประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ชาวบ้าน และมีการระดมพลเตรียมการเดินทางไปเรียกร้องความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 6 ตุลาคม 2558

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายสิโรต์ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายปัญหาที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี เปิดเผยว่า หลังจากมีการประสานไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องที่ชาวบ้านต้องการพบกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ชัดเจน จึงได้หารือกับตัวแทนชาวบ้านในแต่ละตำบล ซึ่งล้วนกังวลถึงความลำบากของชาวบ้านที่อาจต้องไปตากแดดตากฝนในช่วงฤดูฝนนี้ จึงข้อสรุปร่วมกันว่า ขอเลื่อนกำหนดการเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลออกไปก่อน โดยระหว่างนี้จะรอดูความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่เครือข่ายฯ มีการส่งหนังสือร้องเรียนพร้อมแถลงการณ์ไปถึงสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประธานเครือข่ายฯ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ตามแนวทางของคณะทำงานประสานการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ที่กำหนดให้ยึดมติ ครม.14 ตุลาคม 2551 ในการแก้ปัญหา แต่กลับไปใช้มติ ครม.30 มิถุนายน 2541 เป็นแนวทางในการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดิน ซึ่งขัดต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของพื้นที่ รวมทั้งมีการเร่งส่งมอบข้อมูลการสำรวจที่ดินไปที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินฯ ที่ตั้งขึ้นมา

“คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา ได้กำหนดแนวทางร่วมกันว่าจะยึดมติ ครม.14 ตุลาคม 2551 ที่จะใช้เอกสารสิทธิ์และข้อเท็จจริงในการพิสูจน์สิทธ์ของชาวบ้านเป็นรายแปลง โดยภาพถ่ายทางอากาศจะใช้เป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น เพราะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถยืนยันจากภาพถ่ายได้ชัดเจน ต้นยางพาราอาจมองจากภาพถ่ายทางกาศได้ แต่พื้นที่สวนดั่งเดิมของชาวบ้านไม่น้อยที่ยังเป็นสวนดุซงหรือสวนผลไม้ผสม เช่น ทุเรียนหรือลองกอง อาจจะแยกไม่ออกว่าเป็นป่าหรือสวนของชาวบ้าน ซึ่งต้องอาศัยเอกสารสิทธิ์และข้อเท็จจริงยืนยัน ที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว ทั้งชุมชนเก่าแก่ที่มีมัสยิดอายุกว่า 300 ปี อายุสวนผลไม้ดั่งเดิมที่มีการทำมาก่อนยางพารา หรือสภาพสวนยางพาราที่ผ่านการทำมาถึง 3 รุ่น และไม่ใช่ที่ดินนายทุน” นายสิโรต์ กล่าว

ด้านนายอนัส แมทาหลง เลขาเครือข่ายปัญหาที่ดินฯ อำเภอสุไหงปาดี กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่กำลังมีกำจัดทำข้อมูลที่ดินตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี 14 ตุลาคม 2551 โดยมีบางพื้นที่จัดทำข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหากหน่วยงานรัฐกลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 จะเท่ากับเป็นการทำลายกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับจังหวัด จึงอยากให้หน่วยงานด้านป่าไม้ยึดตามแนวทางหรือกรอบที่ทุกฝ่ายได้กำหนดไว้ร่วมกัน

ผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งในพื้นที่ใกล้เทือกเขาบูโด กล่าวว่า ภายหลังจากชาวบ้านประกาศว่าจะเดินทางมายื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 ตุลาคม ปรากฏว่ามีแรงกดดันอย่างหนักจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านถึงขนาดให้เตรียมเซ็นใบลาออกไว้ด้วย หากใครเดินทางไปร่วมขบวนเรียกร้องที่กรุงเทพฯ โดยผู้ใหญ่ในศอ.บต.ให้เหตุผลว่าขณะนี้ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหา แต่โดยข้อเท็จจริงจริงแล้วแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆเนื่องจากทางผู้แทนกรมอุทยานฯและศอ.บต.ยืนยันให้ใช้มติครม. 30 มิถุนายน 2541 และไม่ยอมให้ใช้มติครม. 14 ตุลาคม 2551 เพราะหวั่นเกรงว่า หากมีการทำตามมติที่ชาวบ้านต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อาจทำให้พื้นที่อื่นๆทั่วประเทศที่กำลังมีปัญหาอยู่กับอุทยานฯจะเอาเป็นตัวอย่าง

ทั้งนี้ การประกาศพระรากฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดี พ.ศ.2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส 7 อำเภอ ปัตตานี 1 อำเภอและยะลา 1 อำเภอ รวม 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ทับซ้อนที่ดินที่ทำกินของประชาชนซึ่งตั้งถิ่นฐานนานกว่า 300 ปีได้รับความเดือดร้อนกว่า 20,926 ราย ที่ดิน 23,015 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 127,612 ไร่ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการโค่นยางพาราเพื่อขอปลูกใหม่ทดแทน การเข้าทำกินในสวนดูซง เป็นการละเมิดสิทธิ์อันชอบธรรมตามกฎหมายต่อประชาชนจำนวนมากที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตนเอง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อาทิ สค.1 นส.3 และโฉนด และที่ครองครองที่ดินโดยชอบ แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม.
—————-

On Key

Related Posts

“ครูแดง”ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคนถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้สมช.-มท.ออกกม.เร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง พ่อเฒ่าแม่เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์คึกคักสอบสัมภาษณ์ขอสัญชาติไทย เผยอยู่ไทยร่วม 50 ปีแต่ไม่มีบัตรประชาชน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกRead More →

เหยื่อทวงคืนผืนป่า “ป้าวันเสาร์” ห่วงชาวบ้านหนองหญ้าปล้องถูกจับบุกรุกป่า ด้าน กมธ.ที่ดินฯ ชี้ควรเร่งสำรวจที่ดินร่วมกับชุมชนรอบป่าแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Read More →

“กัณวีร์”จี้รัฐบาลเร่งช่วยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ 110 คนจากแหล่งอาชญากรรมริมน้ำเมย แฉฟรีวีซ่าจีนกลายเป็นช่องทางข้ามไปคาสิโน ระบุรัฐบาลไทยตกหล่มรัฐบาลทหารพม่า เหยื่อชาวบังคลาเทศวอนรัฐบาลช่วยเหลือด่วน เผยจีนเทาสุดโหด

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรRead More →