มหาวิทยาลัยด้านเหมืองแร่โคโลราโด (The Colorado School of Mines) ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเมืองสี่ป้อที่หายสาบสูญ ในฐานะที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและเป็นศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้ หลังเรียนจบได้นำความรู้จากสหรัฐอเมริกาไปพัฒนาในด้านเหมืองแร่และด้านเกษตรกรรมให้กับประชาชนชาวเมืองสี่ป้อ มีรายงานว่า นาง อิงเง เซอร์เจน ชายาของเจ้าจ่าแสง อดีตมหาเทวีแห่งสี่ป้อพร้อมธิดาทั้งสอง เจ้าเกนรีและเจ้ามายารีได้เป็นผู้รับรางวัลแทนเจ้าจ่าแสงในพิธีมอบรางวัลซึ่งมีแขกมาร่วมงานกว่า 300 คน
ทั้งนี้ เจ้าเจ่าแสงได้ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ระหว่างปี ค.ศ. 1949-1953 และเรียนจบด้านวิศกรรมเหมืองแร่ โดยระหว่างที่เรียนอยู่ที่สถาบันแห่งนี้ได้พบรักกับ นาง อิงเง เซอร์เจน นักเรียนทุนจากประเทศออสเตรีย และทั้งสองได้แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1953 จากนั้นจึงเดินทางกลับมายังรัฐฉาน โดยนางอิงเง เซอร์เจนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาเทวี เจ้าทุซานดี แต่ประชาชนมักเรียกเธอว่า “เจ้าแม่”
ทั้งสองพระองค์ถือเป็นเจ้าฟ้านักพัฒนารุ่นใหม่หัวก้าวหน้า หลังย้ายมาอยู่รัฐฉาน นาง อิงเง เซอร์เจนได้เรียนภาษาไทใหญ่และมุ่งเน้นทำงานพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขของคนเมืองสี่ป้อ ขณะที่เจ้าจ่าแสงได้เปิดบริษัทไตเหมืองแร่(Tai Mining Company)ขึ้น และวางแผนจะพัฒนาด้านเหมืองแร่ในพื้นที่ เพื่อช่วยพัฒนาด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
นางอิงเง เซอร์เจน ได้กล่าวระหว่างขึ้นรับรางวัลว่า เจ้าจ่าแสงนั้นวางแผนที่จะพัฒนาเหมืองแร่ในเมืองสี่ป้อ แต่เป็นไปในทางที่รับผิดชอบและปลอดภัยต่อสังคม โดยหวังให้ชาวไทใหญ่ได้ผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้
“ขณะที่อุปกรณ์เครื่องมือบางส่วนจากต่างประเทศเพิ่งมาถึง แต่น่าเสียดายที่เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ชาวไทใหญ่ทุกคนที่เชื่อมั่นในการศึกษาจะภูมิใจในตัวเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของสี่ป้อ” นางอิงเง เซอร์เจนยังกล่าวด้วยว่า เจ้าจ่าแสงยังพยายามพัฒนาระบบการเมือง และทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้กับคนในรัฐฉานทั้งหมด
ทั้งนี้ หลังนายพลเนวินยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1962 เจ้าฟ้าส่วนใหญ่ถูกจับกุมและถูกคุมขัง โดยเจ้าส่วยแต้ก เจ้าฟ้าแห่งเมืองหยองห้วย และดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่าก็เสียชีวิตในคุก
“เราอาศัยอยู่ที่บ้านพักของเจ้าจ่าซอนที่เมืองตองงจี ในเช้าที่มีการทำรัฐประหาร ทหารได้มาปรากฎตัวที่บ้านและเรียกพ่อของผมไปประชุมกับผู้บัญชาการทหารท้องถิ่น พวกเขาไม่ได้อธิบายอะไร บอกเพียงแต่ว่าให้นำแปรงสีฟัน ยา และเสื้อผ้าอุ่นๆ ไปด้วย นั่นก็ชัดเจนแล้วว่า พ่อของผมกำลังถูกนำตัวไปคุมขัง การประชุมที่ว่านั้นใช้เวลาตั้ง 5 ปีในคุกอินเส่ง” ขุนทุนอู ผู้นำพรรคหัวเสือ SNLD อดีตนักโทษทางการเมือง และเป็นหลานชายของเจ้าจ่าแสง ได้เล่าย้อนถึงอดีต ทั้งนี้ เจ้าจ่าซอน พ่อบุญธรรมของขุนทุนอูนั้นเป็นพี่ชายของเจ้าจ่าแสง
“ผมแทบจะออกจากโรงเรียนเพื่อไปเตือนอาของผม(เจ้าจ่าแสง)ให้ระวังตัว ผมคิดไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดการทำรัฐประหาร เจ้าจ่าแสงใช้รถคันเดียวกันที่ส่งผมไปโรงเรียนขับต่อไปยังสนามบินแฮโฮ(ตองจี) แต่ระหว่างทางท่านถูกจับและถูกนำตัวไปยังฐานบัญชาการทางตะวันออก” ขุนทุนอูกล่าว
ทั้งนี้ มีการพบเห็นเจ้าจ่าแสงครั้งสุดท้ายที่ด่านทหารแห่งหนึ่งใกล้เมืองตองจี และนับจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของเจ้าจ่าแสงอีกเลย ในขณะที่นางอิงเง เซอร์เจน นั้นถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพัก จนในปี ค.ศ. 1964 จึงตัดสินใจพาลูกทั้งสองเดินทางออกจากพม่ากลับไปรัฐโคโลราโดและแต่งงานใหม่อีกครั้ง นาง อิงเง เซอร์เจนได้ทำงานอยู่ที่โรงเรียนมัธยมปลายจนกระทั่งเกษียน เธอและสามี นายโฮวาร์ด เซอร์เจนได้ก่อตั้งองค์กร Burma Lifeline เพื่อทำงานการกุศลช่วยเหลือประชาชนจากพม่า โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามชายแดน
แม้จะล่วงเลยมาเป็นระยะ 50 กว่าปี นับตั้งแต่นายพลเนวินยึดอำนาจและเจ้าจ่าแสงถูกจับตัวไป แต่ในทุกๆ ปี อดีตมหาเทวีแห่งสี่ป้อและธิดาทั้งสองยังคงเขียนจดหมายถึงรัฐบาลพม่า รวมถึงรัฐบาลเต็งเส่ง เพื่อทวงถามชะตากรรมของเจ้าจ่าแสง แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ
บทความโดย Sai Awn Murng/SHAN
แปลและเรียบเรียงโดย Transborder News