เมื่อวันที่12 ตุลาคม 2558 นายสำราญ และนางสมัย กลางรัก สองสามีภรรยาอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เดินทางไปยังศาลจังหวัดสกลนคร เพื่อยื่นหลักฐานขออุทธรณ์กรณีที่นายสำราญ ถูกศาลจังหวัดสั่งจำคุกมาตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงกระเฌอ – ดงชมภูพาน เป็นเวลา 4 ปี และมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวหลังจากครอบครัวของนายสำราญยื่นขอประกันตัว
นางสมัยกล่าวว่า ศาลได้กำหนดระยะเวลาในการส่งหลักฐานเพิ่มจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 โดยตนได้นำหลักฐานทั้งใบเซ็นเอกสารการได้มาซึ่งที่ดินที่ตกเป็นคดี อาทิ สัญญาซื้อขายที่ดินแบบภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) และหนังสือการส่งมอบที่ดินส่วนแบ่งจากชาวบ้านในอดีต ใบรับรองความประพฤติของสามี ที่ได้รับการเซ็นรับรองจากผู้ใหญ่บ้านมามอบให้ศาลพิจารณา โดยความหวังของตนและครอบครัว คือให้นายสำราญได้รับการลดโทษจาก4 ปีเป็น2ปี เนื่องจากนายสำราญไม่เคยมีประวัติทำผิดกฎหมายใดร้ายแรง และไม่เคยมีคดีติดตัว แต่ผลการพิจารณาจากศาลจะเป็นอย่างไรนั้น ตนและนายสำราญพร้อมยอมรับ ซึ่งถ้าหากผลการตัดสินให้นายสำราญต้องติดคุกต่อไป หมายถึงหลังจากนี้ชีวิตของตนและครอบครัวไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน
นายสำราญ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีชาวบ้านอีก 9 คนที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกที่ป่า ในอำเภอวาริชภูมิและอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษา วันที่21ตุลาคม นี้ โดยส่วนตัวก็เครียดกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ที่ห่วงมากที่สุดคือ วิถีชีวิตการเกษตรของคนสองอำเภอกำลังจะหายไป ทั้งสวนยาง ไร่มันสำปะหลัง และอีกหลายๆ อย่าง ที่ชาวบ้านปลูก โดยไม่ทราบมาก่อนว่า กรรมสิทธิ์การทำกินจะสิ้นสุดลง โดยที่ชาวบ้านจะต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุก ทั้งที่ทำกินมานานหลายปี ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก แต่จะสู้คดีตามความสามารถ แม้คำตอบสุดท้ายแล้วชะตากรรมของตนและชาวบ้าน คือคุกก็ตาม
ด้านนางจันทร โพธิ์จันทร์ ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านไร้สิทธิ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า หลังจากที่สวนยางของชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ บุกทวงคืนและตัดฟัน ไปบางส่วนแล้ว ล่าสุดกรณียึดสวนยางเริ่มห่างหาย และเงียบไป โดยหาคนรับผิดชอบกรณีดังกล่าวไม่ได้ ชาวบ้านต้องรอระยะเวลาเจอหมายศาล ขณะที่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เริ่มเข้ารื้อไร่มันสำปะหลังชาวบ้าน โดยเจ้าของไร่ต่างไม่มีสิทธิ์จะตอบโต้ หรือเสนอเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้กรณีชาวบ้าน9 คนที่รอศาลตัดสินคดีบุกรุกป่าในวันที่21 นั้น ถ้าคำสั่งศาลออกมาแล้ว ชาวบ้านมีความผิด โดยไม่มีการประประนอม เชื่อว่าที่ดินโดยรอบบ้านจัดระเบียบที่ชาวบ้านทั้งจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่เคยครอบครองทำกิน จะเริ่มร้าง จะมีเพียงชุมชนที่ยังคงตั้งอยู่ ซึ่งปราศจากพื้นที่ทำกิน ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ชนบท จะต้องกลายมาเป็นแรงงานรับจ้างต่อไป ส่วนอาชีพเกษตรกรรมคงต้องปล่อยไปตามสภาพ
“จริงๆแล้วเรื่องผลกระทบที่เจ้าหน้าที่พยายามทวงคืนผืนป่านั้น เคยมีการร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนมาแล้ว แต่เรื่องเงียบหายไป เพราะมีแกงค์ต้มตุ๋นเข้ามาหลอกชาวบ้านว่าให้ยกเลิกการร้องเรียน แต่ให้จ่ายเงินสมทบครอบครัวละ 50,000 บาท โดยจะนำปัญหาไปเจรจากับฝ่ายปกครองที่มีอิทธิพลให้โดยไม่ต้องพึ่งพากรรมการสิทธิมนุษยชน ด้วยความกลัวและความกังวลว่าจะไร้ที่ทำกิน ก็มีชาวบ้านหลายคนหลงเชื่อและเสียเงินไปจำนวนมาก แต่แล้วคนเหล่านั้นก็เงียบหายไป ชาวบ้านส่วนมากที่ถูกดำเนินคดีจึงต้องหาเงินมาสู้คดีในชั้นศาลตามชะตากรรม” นางจันทร กล่าว
//////////////////////////////////////