ตัวแทนชาวบ้าน ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเดินทางมาร่วมชี้แจงข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่างรู้สึกตกใจและเกิดความกังวลภายหลังรับทราบข้อมูลจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองซึ่งชี้แจงต่อที่ประชุมว่า จ.เชียงราย ได้คัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชนบุญเรือง เนื้อที่ 3,021 ไร่ เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ให้พิจารณาเป็นพื้นที่รองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดที่ชาวบ้านบุญเรืองรับทราบมาจากการประชุมชี้แจงของเท็จจริงของบริษัทเอกชน เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ในฐานะผู้จัดทำร่างแผนแม่บทเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย ชี้แจงว่า หากชาวบ้านไม่ยินให้ใช้ป่าชุมชนแห่งนี้ ก็จะจัดหาพื้นที่แห่งใหม่แทน
น.ส.อัจฉรา เทพไชย สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงราย กล่าวว่า เบื้องต้นได้นำเสนอพื้นที่ป่า ต.บุญเรือง จำนวน 3,021 ไร่ เข้าสู่การพิจารณาของ กนพ.เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่าจะใช้ผืนป่าบุญเรืองดำเนินการ เราเพียงแต่เสนอพื้นที่แห่งนี้ให้กับส่วนกลางพิจารณาเท่านั้น
นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ชาวบ้าน อ.เชียงของ กล่าวว่า ตามเอกสารสิทธิ์ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งสำรวจเมื่อปี 2510 ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าบุญเรือง 3,021 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์เลี้ยงสัตว์ แต่จากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีกว่า 3,700 ไร่ โดยที่ผ่านมามีความพยายามจะร้องขอให้ชาวบ้านยกผืนป่าทั้งหมดให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อเปิดใช้เอกชนเช่าต่อตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายจีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าชุ่มน้ำสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง มีระบบนิเวศเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงคือปลาจากแม่น้ำอิงกว่า 80 ชนิด จะอพยพขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาชาวบ้านใช้ประโยชน์และร่วมกันรักษากันมายาวนาน หากป่าผืนนี้ถูกทำลายไปจะกระทบต่อวิถีชาวบ้านจนเกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผืนป่าแห่งนี้ทำหน้าที่คอยรับน้ำตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ซึ่งหากมีโครงการหรือนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจะเป็นการตั้งขวางทางน้ำ มีการคำนวณว่าหากระดับน้ำสูง 1 เมตร ท่วมเต็มทั้งพื้นที่ จะมีปริมาณถึง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร คำถามคือหากมีการสร้างโครงการกั้น น้ำเหล่านี้จะไหลไปไหน
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า มีโอกาสลงพื้นที่ป่าบุญเรืองและได้พบว่าพื้นที่แห่งนี้มีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโดยธรรมชาติ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 ได้นิยามพื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุมนอกเหนือจากที่ประกาศไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ คือรวมถึงหนองน้ำ บึง ทางน้ำไหลผ่าน พื้นที่น้ำท่วมขัง ทะเล ชายฝั่งชายหาดด้วย
“ถ้าดำเนินการในพื้นที่แห่งนี้จะขัดต่อมติครม.ซึ่งห้ามหน่วยงานใดๆ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำโดยเด็ดขาด ต้องสงวนไว้เพื่อเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ”นายหาญณรงค์ กล่าว
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาต้องไม่ทำร้ายชาวบ้าน และหากจังหวัดไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมก็ต้องแจ้งรัฐบาลไปว่าไม่มีพื้นที่รองรับ เพราะถ้าชาวบ้านไม่เอาด้วยนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและการมีส่วนร่วมของประชาชนถ้าไม่มีแผ่นดินคงจะลุกเป็นไฟ
ทั้งนี้ กสม.จะทำหนังสือถึง กนพ.และนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นประเด็นความเดือดร้อนที่เร่งด่วน แล้วจะทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอไปอีกครั้ง
//////////////