เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ที่สำนักงานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม กทม. ตัวแทนประชาชนที่คัดค้านนโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่12จังหวัด ประมาณ 500 คน ได้เข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอประชุมร่วมกับรัฐมนตรี (รมต.)กระทรวงอุตสาหกรรมกรณีข้อกังวลและความเดือดร้อนของประชาชนรอบเหมืองทอง และผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ ภายหลังรมต. และผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่เหมืองทองอัครา ที่จังหวัดพิจิตรในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร และตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาการพบปะระหว่างชาวบ้านและผู้บริการกระทรวงฯ
อย่างไรก็ตาม นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ไม่ได้เข้าพบชาวบ้านในครั้งนี้ แต่สั่งการให้ผู้บริหาร ระดับสูง ทั้ง นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงฯ นายศักดิ์ดา พันธุ์กล้า รองปลัดกระทรวงฯ และนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. มาพบ ชาวบ้านแทน ซึ่งภายหลังการชุมนุมหน้า กพร.ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จนถึงเวลา 10.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้ชาวบ้านทุกคนเดินทางเข้าเจรจาในห้องประชุมทองคำ ภายในอาคารของ กพร. เพื่อไม่ให้ขัดต่อ พระราชบัญญัติ (พรบ.)การชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า การเดินเคลื่อนไหวของชาวบ้านในครั้งนี้ ไม่ได้ขออนุญาตฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นจะทำการปักหลักชุมนุมไม่ได้ ทั้งนี้กรณีมีความประสงค์จะชุมนุม ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบก่อนเวลาดำเนินการ 24 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังชาวบ้านได้ยอมตกลงเข้าประชุมภายในห้องประชุมกับคณะผู้บริหาร โดยตัวแทนแต่ละพื้นที่แสดงเจตนารมณ์ตรงกันคือ ขอให้ กระทรวงฯยกเลิกการขออาชญาบัตร ประทานบัตร ทำเหมืองทองทุกพื้นที่
นายณัฐพงษ์ แก้วนวล ชาวบ้านอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ชาวบ้านไม่ได้มาประท้วง คณะชาวบ้านที่ถือป้ายนั้นเป็นแค่สารที่ส่งถึงผู้บริหารกระทรวงฯ เท่านั้น เป็นเพราะในระหว่างการลงพื้นที่ของ รมว.อุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ที่ผ่านมา ชาวบ้านเนินมะปรางไม่ได้มีโอกาสพบทั้งๆ ที่ตั้งตารอให้คณะผู้บริหารไปพบปะประชาชน ในเนินมะปรางและจังหวัดอื่นๆ โดยรอบ แต่ผลที่เกิดขึ้น คือ คณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมแค่เหมืองทองอัคราฯ และชาวบ้านทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เท่านั้น ไม่ได้ไปรับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่คัดค้านการเปิดสัมปทานและการเปิดขออาชญาบัตรสำรวจพื้นที่ทำเหมืองรอบใหม่ ซึ่งภายหลังมีข่าวปรากฏออกในสื่อมวลชนว่า รมว.นัดหมายชาวบ้านทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาเจรจา ชาวบ้านจึงได้เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อเจรจาตามนัด
ด้านนานศักดิ์ดา กล่าวว่า จากกรณีที่ชาวบ้านเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า รมว.อุตสาหกรรมนัดหมายกลุ่มค้านเหมืองและกลุ่มสนับสนุนเหมืองมาเพื่อประชุมร่วมกันนั้นไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามขณะนี้ขอให้ชาวบ้านไว้วางใจว่า กระทรวงฯ ยังไม่มีการเปิดเหมืองเพิ่มแต่อย่างใด ที่ผ่านมาบริษัทแค่ขอสำรวจเท่านั้น ยังไม่มีการอนุญาตทำเหมืองต่อ ขอให้ประชาชนวางใจว่า ทุกกระบวนการ กระทรวงฯ จะรับฟังความคิดเห็นเสมอ ทั้งนี้ข่าวดีอีกเรื่องคือ ขณะนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อตรวจสอบ ทั้งด้านสุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ทำเหมืองแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการดำเนินการจากคณะกรรมการดังกล่าวในเร็วๆนี้
นางอารมณ์ คำจริง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำแล กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านทั้ง 12 จังหวัดเดินทางมาเพื่อต้องการแสดงการคัดค้าน และต้องการให้มีการยกเลิกหรือเพิกถอนประทานบัตรและอาชญบัตรเหมืองแร่ทองคำ โดยเฉพาะขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ พศ.2510 และยกเลิกร่าง พ.ร.บ. แร่ทุกฉบับ รวมทั้งการที่ กพร. เตรียมเสนอร่างนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถือเป็นการเจตนาละเมิดสิทธิ์ต่อประชาชน เนื่องจากในอนาคตหากมีเหมืองแร่ทองคำเกิดขึ้นในพื้นที่ 12 จังหวัด จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ และในขณะนี้ในหลายพื้นที่กำลังมีการแปลงที่ดินให้กลายเป็นเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อเอื้อต่อการทำเหมืองที่สามารถขออนุญาติทำเหมืองในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งปัญหานี้ได้มีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว
ด้านนายทิวา แตงอ่อน ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งยุติการผลักดันร่างนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากในพื้นที่เป้าหมาย 1.6 ล้านไร่ของเหมืองแร่ที่จะเกิดขึ้น มีประชาชนอาศัยอยู่และจะได้รับผลกระทบหลายแสนคน รัฐบาลจะย้ายชาวบ้านเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เงินค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับคุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งที่จะต้องสูญเสียไปจากการทำเหมือง ทั้งป่าต้นน้ำที่จะถูกทำลาย การปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนว่าจะจัดการผลกระทบอย่างไร เพราะชาวบ้านเดินทางมาเรียกร้องเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ไม่ต้องการให้การมาเรียกร้องแต่ละครั้งสูญเปล่า รัฐบาลพอจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้มั้ยว่าจะยุติหรือเดินหน้าผลักดันให้เกิดเหมืองทอง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขอยืนยันกับชาวบ้านที่มาในวันนี้ว่าในขณะนี้ไม่มีนโยบายขยายพื้นที่การทำเหมืองแร่ที่มีอยู่เดิม และยังไม่มีการให้สัมปทานเหมืองแร่รอบใหม่ เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนการให้อาชญบัตรเพื่อสำรวจ ซึ่งต้องมีขึ้นตอนอีกมากมายกว่าจะสามารถอนุญาตการทำเหมืองแร่ได้ ส่วนความเดือนร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ที่มีอยู่เดิมนั้น ทางกระทรวงรับทราบดี และรัฐมนตรีเพิ่งจะลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาเมือสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้มีการนำปัญหาของชาวบ้านมาคุยกันในระดับผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า หากพิสูจน์ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองจริง ก็จะไม่มีการเปิดสัมปทานเหมืองเพิ่ม ดังนั้นเพื่อให้ปัญหาเกิดความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมร่วมหารือถึงปัญหานี้
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนเองเป็นลูกชาวนามาก่อน จึงเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านเป็นอย่างดี ขอยืนยันว่าหัวใจเป็นชาวบ้าน แต่อยากให้ทุกคนใจเย็นเพราะขั้นตอนขณะนี้กระทรวงกำลังเร่งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำอัครา ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วม โดยมีตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้าน เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจะมีการนำข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สรุปนำเสนอต่อรัฐบาลในการตัดสินใจต่อนโยบายเหมืองแร่ทองคำต่อไป
ทั้งนี้มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่าระหว่างวันที่17 –18ตุลาคม นี้ คณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะลงพื้นที่เพื่อเจาะเลือดและเก็บปัสสาวะชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ ที่เคยพบว่ามีความผิดปกติ และ มีสารโลหะหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐาน 400 กว่าราย รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง และเด็กที่มี DNA ผิดปกติ รวมถึงเด็กที่ต้องการตรวจใหม่ ณ ศาลาการเปรียญ วัดดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
//////////////////////////////////