เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 นางหนูเดือน แก้วบัวขาว ชาวตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตนและตัวแทนชาวตำบลหนองกินเพล จำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ เพื่อให้เร่งรัดจัดประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามเร่งรัดและช่วยแก้ปัญหาที่ดิน ระดับจังหวัดภายหลังเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ขับเคลื่อนประเด็นปัญหามาหลายปี โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีการแต่งตั้งขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่เริ่มเปิดการประชุมสักครั้ง ส่งผลให้ประชาชนหลายพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับที่ดินได้ เนื่องจากนโยบายระดับจังหวัดไม่มีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรอคอยช่วงเวลาของการเปิดวาระประชุม เพื่อจะได้ระดมความคิดถึงแผนแก้ปัญหาโดยรวมและยั่งยืน ซึ่งภายหลังการยื่นหนังสือร้องเรียน ผู้ว่าฯได้นัดมาเจรจาอีกครั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน นี้
“หลายเรื่องที่เราต้องอาศัยเจ้าเมืองเป็นประธานขับเคลื่อน หลายเรื่องที่พีมูฟเสนอ ทั้งโฉนดชุมชน ทั้งเรื่องการสร้างนโยบายป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุน เราล้วนต้องหาทางออกร่วมกัน ในเมื่อรัฐบาลตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแล้ว ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานควรจะเร่งรัดให้ชาวบ้าน เพราะการประชุมถ้าปราศจากประธาน ก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ เราอยากให้เรื่องที่ดินได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ก่อนนายทุนจะยึดไปหมด” นางหนูเดือนกล่าว
นางหนูเดือน กล่าวด้วยว่า นอกจากการยื่นหนังสือเร่งรัดการจัดประชุมแล้ว ชาวบ้านยังมีการร้องเรียนกรณีที่ดินที่บริเวณหาดเว บ้านคูสว่าง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจพบมีการออกโฉนดทับที่สาธารณะโดยมิชอบธรรมกว่า 200 ไร่ด้วย และยังมีหลายไร่ที่ยังไม่มีการตรวจสอบทางจังหวัดน่าจะมีมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีกหนองกินเพล และบ่งหวายอีก8 รายที่ถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ดินทำกินเนื้อที่รวมราว 200 ไร่ เช่นกัน ซึ่งหากผู้ว่าฯ ไม่เร่งรัดจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหา ชาวบ้านต้องรับเคราะห์ไปตลอด ทั้งนี้ภายหลังการร้องเรียนปัญหาที่ดินในภาพรวมของหนองกินเพลแล้ว ตนได้ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม กรณีสำนักงานที่ดินในจังหวัดอุบลฯ ปฏิบัติงานล่าช้า ยังไม่ทำการเพิกถอนโฉนดที่ดินอันเกิดจากการออกโฉนดโดยมิชอบ จากอดีตนักการเมืองดังด้วย โดยในวันที่ 21 ตุลาคม ครบกำหนด 90 วันที่ตามคำสั่งศาลปกครองที่สั่งให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังไม่ความคืบหน้าใดๆ ตนจึงรองเรียนศูนย์ดำรงธรรมไว้ และจะรอดูผลสักระยะ หากไม่คืบหน้าก็อาจจะมีมาตรการอื่นต่อไป
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการด้านที่ดินและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยจากสถาบันรพีพัฒนศักดิ์ที่เคยร่วมวิจัยปัญหาที่ดินหนองกินเพล กล่าวว่า กระบวนการเพิกถอนที่โฉนดที่ดิน ที่เกิดจากความไม่ชอบธรรมนั้น หากหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนสามารถฟ้องศาลบังคับคดีได้ อย่างไรก็ตามกรณีหนองกินเพล ควรเป็นกรณีตัวอย่างของคดีคนจน ที่ได้สะท้อนการต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า การสูญเสียที่ดินของประชาชนยากจน ส่วนหนึ่งมาจากความไม่สุจริตของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นถ้าสำนักงานที่ดินจะพิสูจน์ตัวเองก็ควรเร่งรัดการเพิกถอนโฉนดที่ไม่ชอบธรรม
ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวด้วยว่า นอกจากข้อพิพาทที่ดินระหว่างเอกชน นักการเมืองกับประชาชนกับการได้มาซึ่งความยุติธรรมที่ล่าช้าแล้ว ปัจจุบันพบว่า คนจนกลายเป็นคนถูกกระทำเข้าไม่ถึงสิทธิของรัฐ เช่น ทำกินในที่ดินป่าสงวน ซึ่งในเชิงหลักฐานและความไม่มั่นคงทางข้อมูลข่าวสาร เรื่องการจัดเก็บหลักฐานทางที่ดินนั้นพบว่า หลายพื้นที่องค์กรรัฐไม่มีการบันทึกข้อมูลข่าวสารและหลักฐานที่ดีพอ เช่น บางกรณีเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินนั้น พบว่าชาวบ้านรู้ตัวว่าตนเองถูกรุกราน จึงแจ้งความต่อผู้นำชุมชน แต่เมื่อเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนการปกครอง หลักฐานที่เคยยื่นฟ้องหาย รัฐมักใช้อำนาจเพื่อยึดเป็นที่ดินของรัฐทันที เพราะกระบวนการพิสูจน์หลักฐานการถือครองหาไม่พบ โดยไม่สนใจว่าราษฎรยังขาดแคลนการทำกินที่อยู่อาศัย อีกทั้งรัฐบาลยังพยายามประกาศเขตป่าสงวนทับที่ดินทำกิน เอกชนออกเอกสารสิทธิมิชอบ ตัวอย่างที่สะท้อนการถือครองที่ดินที่ไม่มีความเป็นธรรม จากความร่วมมือของรัฐและเอกชนคือ เมื่อทำเลที่ดินมีความสำคัญเชิงธุรกิจ เชิงท่องเที่ยว เช่น กรณีหนองกินเพล พบว่าก่อนกระแสสามเหลี่ยมอินโดจีนเริ่มมีขึ้น ไม่มีใครสนใจว่าที่ดินจะเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่เมื่อมีกระแสท่องเที่ยวเข้ามา ที่ดินริมน้ำซึ่งติดถนนใหญ่กลายเป็นแผ่นดินทองของนายทุน อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่หลายแห่งทราบว่า กระบวนการแย่งชิงที่ดินเกิดจากหลายกรณี ได้แก่ นักการเมืองและอิทธิพลใช้อำนาจบารมีสร้างความไว้ใจ ปล่อยเงินกู้ อ้างการช่วยเหลือแล้วแปลงเอกสารเพื่อครอบครอง มีการออกโฉนดทับที่ขึ้นมา
ทั้งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบที่มาของโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของนางหนูเดือนและครอบครัว ซึ่งมีใบจอง นส.2 ตั้งแต่ปี 2510 และได้ทำประโยชน์จนปัจจุบัน เมื่อมีหลักฐานยืนยันว่าโฉนดที่ดินที่นายทุนนำมากล่าวอ้างออกโดยมิชอบให้เสนออธิบดีกรมที่ดินเพิกถอน ภายใน 90 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา (อ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมที่https://transbordernews.in.th/home/?p=9238 )
//////////////////////////