Search

รายงานเปิดโปง เงินมหาศาลจากการขายหยกเข้ากระเป๋าครอบครัวนายพลพม่า ชี้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นชนวนทำสงครามกับชาติพันธุ์ ขัดขวางสันติภาพและประชาธิปไตย

ภาพโดย JPaing / The Irrawaddy
ภาพโดย JPaing / The Irrawaddy

องค์กรเอ็นจีโอ Global Witness ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงานชื่อ “Jade: Myanmar’s ‘Big State Secret” เปิดโปงว่า ธุรกิจการค้าขายหยกในพม่ายังคงถูกควบคุมโดยเครือข่ายของทหารพม่าและนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับทหาร โดยเงินจากการค้าขายหยกจำนวนมหาศาลก็ยังคงเข้ากระเป๋าบริษัทที่เป็นของครอบครัวนายพลตานฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จทหารและผู้นำในกองทัพคนอื่นๆ โดยเมื่อปี 2557 หยกที่สกัดออกมาได้จากเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่นมีมูลค่าสูงถึง 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รายงานฉบับนี้ ใช้เวลาในการค้นคว้าหาข้อมูลนาน1ปี

นาง Juman Kubba จากองค์กร Global Witness กล่าวว่า การทำธุรกิจหยกในพม่านั้น ถือเป็นการปล้นเอาทรัพยากรธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ก็ว่าได้ โดยยังกล่าวว่า ตัวเลขมูลค่าการค้าขายหยกที่ผิดกฎหมายเมื่อปีที่แล้วเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่ธนาคารโลกระบุอยู่ที่ 64.33 พันล้านดอลลาร์ และคิดเป็น 46 เท่าของงบประมาณที่รัฐใช้จ่ายในด้านสุขภาพเมื่อปีที่แล้วเช่นเดียวกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า เหมืองหยกผากั้นในรัฐคะฉิ่น เป็นเหมืองหยกที่ใหญที่สุดอีกแห่งหนึ่ง นาง Juman Kubba กล่าวว่า หากรายได้และความมั่งคั่งจากการขายหยกถูกนำมาจัดสรรให้กับคนในท้องถิ่นในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งเหมืองหยกอย่างเท่าเทียม จะสามารถขจัดปัญหาความยากจนใหักับคนในท้องถิ่นได้ และสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั่วทั้งประเทศ

ในรายงานระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และควบคุมธุรกิจหยกส่วนใหญ่กลับเป็นครอบครัวของนายพลอาวุโสตานฉ่วย นายพลโอมิ้น อดีตผู้บัญชาการทหารประจำภาคเหนือ รวมไปถึงนายพลคนอื่นๆ ในกองทัพ สมาชิกของพรรครัฐบาล USDP นอกจากนี้ยังมีบริษัท Asia World บริษัท Htoo Group และบริษัท กัมบอซ่า (KBZ) ก็อยู่ในกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลโยชน์จากธุรกิจการค้าหยกด้วย ซึ่งทั้งสามบริษัทต่างเป็นบริษัทใหญ่ในพม่าและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทหาร มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง

แม้จะพบว่ามีบริษัทที่เป็นของเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่ากับบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายของกองทัพพม่า นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากธุรกิจหยกในพม่าในนามของบริษัทท้องถิ่นหรือสวมรอยเป็นพลเมืองพม่าเพื่อมาทำธุรกิจอีกด้วย ในรายงานยังเผยว่า หากต้องการทำธุรกิจเหมืองหยกจะต้องมีเส้นสายของกองทัพพม่า

นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2556 – 2557 บริษัทที่เชื่อมโยงกับครอบครัวของตานฉ่วยนั้นมีเงินเข้ากระเป๋าจากการขายหยกอยู่ที่ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดกันว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หยกทำรายได้ให้กับบรรดานายพลพม่าไปแล้วกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ยังเป็นเรื่องยากที่ทหารจะยอมสูญเสียอำนาจทางการเมือง เนื่องจากการที่กองทัพยังมีอำนาจ นายพลระดับสูงก็จะยังคงสามารถหาผลประโยชน์และทุจริตจนร่ำรวยมหาศาลต่อไปได้ ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่า “หยก”นั้นยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สงครามในรัฐคะฉิ่นไม่สามารถยุติได้ โดยยังเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนที่สำคัญสำหรับทั้งกองทัพพม่าและกองทัพชาติพันธุ์คะฉิ่น

ทางด้านนาย Mike Davis จาก Global Witness กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มีคนบางกลุ่มในรัฐบาลที่ต้องการให้สงครามเกิดขึ้นต่อไป เพื่อที่จะได้หาผลประโยชน์จากเหมืองหยกเหล่านี้ “เป็นเรื่องที่เห็นได้ง่ายมากว่า ทำไมสันติภาพและการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ประชาธิปไตยถึงไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ทำเงินได้หลายร้อยล้านดอลลาร์จากการทำเหมืองหยก” นาย Mike Davis กล่าว

เหมืองหยกผากั้น ทางภาคตะวันตกของรัฐคะฉิ่น อยู่ภายใต้การครอบครองของกองทัพพม่าในปี 2537 หลังทางกองทัพพม่าได้ทำสัญญาหยุดยิงกับคะฉิ่น KIA แม้การทำสัญญาหยุดยิงระหว่างทั้งสองฝ่ายจะแตกหักในปี 2554 แต่กองทัพพม่าก็ยังคงควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของเหมืองหยกผากั้นต่อไป และนับตั้งแต่ปี 2554 มักจะพบเห็นการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและ KIA บ่อยครั้งในพื้นที่นี้ ซึ่ง KIA เป็นอีกกลุ่มที่ยังไม่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า

ในขณะที่ประชาชนท้องถิ่นที่อยู่รอบเหมืองกลับได้รับผลกระทบทั้งทางด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาทางสังคม เช่น การใช้และค้ายาเสพติด ปัญหาโสเภณี อีกทั้งชาวคะฉิ่นเป็นเพียงแรงงานชั้นล่างที่ได้ค่าแรงเพียงน้อยนิด

“เรารู้สึกว่าที่นี่ไม่มีความปลอดภัย ในอีกไม่นานผากั้นจะหายไปโดยที่คนท้องถิ่นไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ” บาทหลวงจากเมืองผากั้นให้สัมภาษณ์ไว้ในรายงาน

ที่มา Myanmar Times /Irrawaddy/BBC
แปลและเรียบเรียงโดย Transborder News

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →