ชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ฟ้องศาลปกครองคดีตัวอย่างผลกระทบข้ามแดน ร้องระงับกฟผ.รับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรี ฐานทำผิดเงื่อนไขกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทบวิถีชุมชน 2 ฝั่งโขง “ครูตี๋”จวกรัฐบาลไทย-ลาวสมคบกันปล้นชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ทิชเชอร์แคมป์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้จัดประชุมแกนนำชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเตรียมความพร้อมในการยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยุติการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ลงนามซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ของสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ในโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของสปป.ลาว โดยเครือข่ายชาวบ้านเห็นว่าเป็นการลงนามอย่างเงียบๆในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตน้ำท่วม ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและมีอำนาจในการตัดสินใจ อาทิ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับปล่อยให้กฟผ.ทำสัญญาสำคัญโดยไม่ทำหน้าที่ในแจ้งข้อมูลและปรึกษาหากรือกับสาธารณะ รวมทั้งไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ทั้งนี้โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีดำเนินการโดยบริษัทช.การช่างจำกัด(มหาชน)ซึ่ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 50 โดยเป็นเขื่อนแรกของการสร้างไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 11 เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง ใช้เงินลงทุน 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(114,000 ล้านบาท) ผลิตไฟฟ้าได้ 1,285 เมกกะวัตต์ โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขงออกมาคัดค้าน ทำให้คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง(เอ็มอาร์ซี) มีมติชะลอโครงการนี้ไว้ก่อนจนกล่าวจะมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน
สำหรับประเด็นในการฟ้องคดีที่คณะทนายความระบุนั้นคือการลงนามซื้อไฟฟ้าครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในรัฐธรรมนูญในมาตรา 57 ระบุว่าประชาชนมีสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานรัฐ ก่อนดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของบุคคลหรือชุมชน แต่การลงนามครั้งนี้ไม่ได้มีการแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับข้อมูล และไม่ได้รับโอกาสศึกษาเอกสารที่อยู่ในภาษาของตนเองในช่วงที่เหมาะสม นอกจากนี้ยบังขาดการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบข้ามแดน
นอกจากนี้ยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 58 ที่รับรองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ แต่โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ขณะที่การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกลับเพียงศึกษาเพียงด้านเดียวของผู้เสนอโครงการ ที่สำคัญคือไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคมและสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมด และไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามแดน ทั้งๆที่ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับรัฐอื่นๆ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ แต่การที่ไทยเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเสียเองจากเขื่อนแห่งนี้ถึงร้อยละ 95 เท่ากับเป็นการสนับสนุนการสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอื่นๆ
ประเด็นการฟ้องร้องยังระบุว่ามีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม สุขภาพและนโยบายพลังงาน แสดงให้เห็นว่าโครงการซื้อไฟฟ้าของกฟผ.ครั้งนี้ไม่เหมาะสมที่จะเกิดขึ้น เนื่องจาก เขื่อนไซยะบุรีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นี้ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงที่เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำอเมซอน ซึ่งหากมีเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างความเสียหายอย่ากมากต่อระบบนิเวศน์และผู้คนหลายล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำแห่งนี้
ทั้งนี้จากการศึกษาเชิงลึกพบว่า หากเขื่อนไซยะบุรีสร้างสำเร็จมีโอกาสจะเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ 41 ชนิด เช่น ปลาบึก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาและปลากหลายพันธุ์ที่ต้องอพยพไม่สามารถข้ามเขื่อนได้ นอกจากนี้ยังมีการกักตัวของตะกอนที่ไม่อาจผ่านเขื่อน ทำให้ธาตุอาหารทีสำคัญในการทำการเกษตรลดลง ที่สำคัญคือการสร้างเขื่อนแห่งนี้จะทำให้สันดอนทรายในแม่น้ำโขงเปลี่ยนทิศทางซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลักดินแดนของประเทศไทย
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ“ครูตี๋”ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรักษ์เชียงของ กล่าวว่าสถานการณ์ของการก่อสร้างเขื่อนโซยะบุรีขณะนี้ในพื้นที่ได้มีการก่อสร้างเส้นทางกันอยู่ แต่รัฐบาลลาวและผู้ที่เกี่ยวข้องบอกว่าไม่ได้สร้าง ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นหนังสือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วโดยเฉพาะกฟผ.ไม่รับฟังและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องต่อศาลปกครองซึ่งเป็นที่พึ่งของคนจน เมื่อเราใช้พลังของชาวบ้านและด้านกฎหมายแล้ว เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นตัวการใหญ่คือรัฐบาลไทยและองค์กรของรัฐบาลคือกฟผ.ซึ่งสำนวนของคนเหนือเหมือนกับการปล้นหน้าหมู่นั่นคือเป็นการปล้นเอาทรัพยากรสาธารณะไปใช้ ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวร่วมมือกันปล้นของหน้าหมู่ซึ่งทำตัวเป็นโจรปล้นทรัพยากรของชาวบ้านหลายล้านคน
“เราจะต้องช่วยกันลงนามเป็นผู้สนับสนุนการฟ้อง แต่คนฟ้องอาจใช้ไม่กี่คน วันนี้เราใช้แนวทางกฎหมายของบ้านเมืองมาเป็นเครื่องมือในการปกป้องแม่น้ำโขง คดีนี้จะเป็นคดีแรกของโครงการที่ก่อนผลกระทบข้ามแดน จะได้เป็นตัวอย่างให้นักลงทุนและหน่วยงานราชการได้ตระหนักถึงสิทธิชุมชน ไม่ใช่คิดจะปล้นทรัพยากรของสาธารณะก็ทำได้”นายนิวัฒน์ กล่าว
ทนายความรายหนึ่งในคณะฟ้องร้องกล่าวว่า รัฐบาลลาวได้ประกาศว่าจะชะลอโครงการออกไปก่อน แต่ไม่รวมเรื่องการตัดต้นไม้และตัดเส้นทาง ทั้งหมดเกิดจาก 4 ประเทศคือไทย ลาว เขมรและเวียดนามร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ช.การช่างได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกผฝ.แล้ว ทำให้ราคาหุ้นมีราคาสูงขึ้นเพราะนักลงทุนอยากซื้อไว้ แต่ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านประท้วงเรียกร้องให้ช.การช่างชี้แจง และชาวบ้านได้เดินทางไปยื้นหนังสือที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ให้เงินกู้ในโครงการ ทำให้เกิดผลพอสมควร
ทนายความอาสารายนี้ยังกล่าวว่า หลังจากที่ชาวบ้านยื่นหนังสือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซีที่จ.ภูเก็ต เอ็มอาร์ซีบอกว่าไม่สามารถชะลอบังคับให้ลาวชะลอการก่อสร้างออกไปได้ แต่การยื่นหนังสือของชาวบ้านทำให้เกิดแรงกระเพื่อมและสังคมเกิดความห่วงใยถึงผลกระทบจากการสร้าง เขื่อน ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่ามีความยินดีให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาผลกระทบ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาเองก็ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลลาวให้ยุติโครงการ ขณะที่รัฐบาลเวียดนามได้ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยเหลือศึกษาเรื่องนี้
เขากล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้สรุปผลแล้วว่าโครงการนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลจากการสร้างเขื่อนเลยทั้งชาวบ้านฝั่งไทยและลาว โดยกสม.ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ชะลอโครงการ ในที่สุดราคาหุ้นของบริษัทช.การช่างลดลงไป เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจ ในที่สุดบริษัทต้องกลับมาพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่บริษัทช.การช่างยังไมได้ทำ
เขากล่าวว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติซึ่งได้มีการคำนวนปริมาณไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นเพื่อให้เกิดการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลลาวได้ว่าจ้างบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสให้มาดูผลกระทบและบริษัทได้ออกมาการันตีว่ารัฐบาลลาวได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลลาวไม่ได้ปฎิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศเลย เพราะไม่เคยศึกษาผลกระทบข้ามแดน และไม่มีการพูดถึงผลกระทบเรื่องพันธุ์ปลาหรือตระกอนดินเลย
น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความฟ้องร้องครั้งนี้ กล่าวว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าของกฟผ.มีปัญหาในหลายจุด เพราะต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชนที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น และยิ่งเป็นโครงการร้ายแรงต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งเราไม่เคยได้ยินว่ากฟผ.จัดทำ ที่สำคัญเรื่องสิทธิชุมชนเพราะหากเกิดโครงการนี้จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนี้ในมาตรา 57 รัฐธรรมนูญระบุว่าชาวบ้านต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร แต่กฟผ.ไม่เคยบอกชาวบ้านเลย เช่นเดียวกับมาตรา 58 ระบุว่าชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย
นส.ส.รัตนมณี กล่าวว่า คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติได้กำหนดเงื่อนไขไว้ 4 ข้อก่อนที่กฟผ.จะลงนากคือ 1.ต้องปฎิบัติตามข้อตกลงว่าด้วยความรี่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง แต่กฟผ.กลับไม่ปฎิบัติตาม 2ร่างสัญญาต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด 3.ต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการต่อสาธารณะ แต่กฟผ.แจ้งว่าเอาขึ้นเวปไซแล้วซึ่งไม่มีใครเคยเข้าไปดู และ4.หากเกิดปัญหาต้องใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฟผ.ได้ทำผิดเงื่อนไขอย่างน้อย 3 ข้อ