
การประชุมที่เมืองป๋างซาง (ป๋างคำ) เขตปกครองพิเศษของว้า รัฐฉาน ซึ่งนำโดยกองทัพว้า (UWSA) ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยได้เชิญกลุ่มติดอาวุธทั้งสิ้น 12 กลุ่ม ที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่าเข้าร่วมประชุม โดยทั้งหมดได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องร่วมกัน 7 ข้อ คือ
1.การเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ขอให้ทางยูเอ็นและนานาชาติสามารถเข้าสังเกตการณ์และตรวจสอบ อีกทั้งให้มีการจัดเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม
2.ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาบริหารประเทศให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ และสนับสนุนให้ใช้การเมืองแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยขอต่อต้านการใช้กำลังทางทหารสร้างปัญหาความวุ่นวายในประเทศ
3.ทางกลุ่มจะร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้มาจากการเลือกตั้งในทุกๆ เรื่อง โดยเรียกร้องให้มีการจัดประชุมใหญ่พูดคุยทางการเมืองให้เห็นเป็นรูปธรรม
4.ขอให้รัฐบาลชุดใหม่กลับมายึดเอาแนวทางคำมั่นสัญญา ในสัญญา”ป๋างโหลง” และเรียกร้องให้ก่อตั้งระบอบสหพันธรัฐที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยภายในชาติ สิทธิเท่าเทียมและมีสิทธิในการตัดสินใจอย่างอิสระเป็นพื้นฐาน
5.การแก้ปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของพม่า จำเป็นต้องจัดตั้งตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยกัน ทั้งตัวแทนจากรัฐบาล กองทัพพม่า ตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาลจีนและฝ่ายกองทัพจีนช่วยกันแก้ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นในขณะนี้ เรียกร้องให้มีการสร้างความมั่นคงและสันติภาพตามแนวชายแดนพม่า-จีน
6.ความร่วมมือระหว่างกันภายในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จะดีขึ้นกว่าเดิมได้นั้น จะต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อกัน และมีการติดต่อสื่อสารกัน
7.การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551(2008)เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่และผู้นำที่จะขึ้นมาใหม่จะต้องร่วมมือกันทำงานกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ผู้แทนพรรคการเมืองในสภาและกลุ่มนอกสภา โดยเรียกร้องให้ดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด
เป็นที่ชัดเจนว่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ประชุมที่เมืองป๋างซางในครั้งนี้ ไม่ต้องการที่จะเจรจากับรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบัน แต่แสดงความต้องการที่จะเจรจากับรัฐบาลพม่าชุดใหม่แทน ซึ่งรัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศในเดือน มีนาคมปี 2559 ขณะที่การประชุมที่เมืองป๋างซาง ทางว้าไม่ได้เชิญกลุ่มติดอาวุธ 8 กลุ่มที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้เชิญนางซิปโปราห์ เส่ง รองประธานของ KNU มาประชุม โดยรองประธาน KNU มาประชุมในฐานะตัวแทนจากกลุ่ม KNDO(Karen National Defence Organisation) ซึ่งเป็นฝ่ายทหารของ KNU นางซิปโปราห์ เส่ง ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวกังขาเกี่ยวกับการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ ซึ่งเธอปฏิเสธที่จะร่วมเดินทางไปกับผู้นำ KNU เพื่อลงนามหยุดยิงเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การโจมตีเขต SSPP/SSA ทางกองทัพพม่าต้องการกดดันต่อไปยังพื้นที่ทางภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ในเขตควบคุมของว้า อีกด้านหนึ่ง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางทหารพม่าได้ปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน(IDP) ในเขต “ฮายป๋า” ทางภาคกลางรัฐฉาน อยู่ในพื้นที่สู้รบ ซึ่งผู้พลัดถิ่นจากภัยสงครามกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน สงครามทำให้โรงเรียน 14 แห่งต้องปิดเรียน และเด็กๆกว่า 1,250 คน ไม่ได้ไปโรงเรียน จนถึงขณะนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในกว่า 6,000 คน
ขณะที่กลุ่มติดอาวุธที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศได้แก่ กองทัพว้า (UWSA) กองกำลังเมืองลา (NDAA) กองกำลังปะหล่อง (TNLA) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี(KNPP) พรรครัฐมอญใหม่(NMSP) คะฉิ่น(KIA)พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA กองกำลังโกก้าง (MNDAA) เป็นต้น
ที่มา Tai Freedom/Myanmar Times