เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จัดประชุมแกนนำ ชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเตรียมความพร้อมในการ ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ลงนามซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ของสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ไป เมื่อเดือน ต.ค. 54 ในโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว
สำหรับประเด็นในการฟ้องคดีที่คณะทนายความระบุนั้นคือการลงนาม ซื้อ ไฟฟ้าครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในรัฐธรรมนูญในมาตรา 57 ระบุว่าประชาชนมีสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานรัฐ ก่อนดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของบุคคลหรือชุมชน แต่การลงนามครั้งนี้ไม่ได้มีการแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับข้อมูลใดๆ
นอกจากนี้ยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 58 ที่รับรองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ แต่โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์กฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ขณะที่การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกลับเพียงศึกษาเพียงด้านเดียว ของผู้เสนอโครงการ ที่สำคัญคือไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคมและสุขภาพ
ประเด็นการฟ้องร้องยังระบุว่ามีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม สุขภาพและนโยบายพลังงาน เนื่องจาก เขื่อนไซยะบุรีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นี้ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ที่เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำอเมซอน ซึ่งหากมีเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบนิ เวศน์รวม ไปถึงผู้คนหลายล้านคน
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ“ครูตี๋”ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนจน โดยคดีนี้จะเป็นคดีแรกของโครงการที่ก่อนผลกระทบข้ามแดน จะได้เป็นตัวอย่างให้นักลงทุนและหน่วยงานราชการได้ตระหนักถึงสิทธิชุมชน ไม่ใช่คิดจะปล้นทรัพยากรของสาธารณะก็ทำได้
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 4 มิถุนายน 2555