แม้จะยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะเข้ามาฉายในประเทศไทยเมื่อไหร่ แต่ภายหลังจากภาพยนตร์เรื่อง Twilight Over Burma หรือสิ้นแสงฉาน จากหนังสือที่เขียนโดย อิงเง เซอร์เจน อดีตมหาเทวีแห่งสีป้อ ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีเสียงขานรับจากแฟนๆ อย่างเกรียวกราว ทั้งชาวไทย ชาวไทใหญ่ และผู้ที่สนใจชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ โดยหนังกำลังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Cannes Film Festival
Twilight Over Burma เป็นหนังสะท้อนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ตกสะเก็ดเมื่อราว 50 กว่าปีก่อนมาบอกเล่าถึงความงดงามของวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานซึ่งปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้าใน 34 เมือง (1 เมืองเป็นของโกก้างซึ่งไม่ใช่ชาวไทใหญ่) และ 1 ในนั้นคือเมืองสีป้อ ที่มีเจ้าจ่าแสงเป็นผู้นำ และเป็นสมาชิกรัฐสภาพม่า ก่อนถูกทหารพม่าที่นำโดยนายพลเนวิน ยึดอำนาจและอุ้มหาย
หนังซึ่งกำกับโดย Sabine Derflinger ชาวออสเตรีย เปิดตัวฉากรอบปฐมทัศน์ทางทีวีแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีแผนจะฉายที่เยอรมันนีในปีนี้ นำแสดงโดย “เป้” ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ พระเอกชาวไทย หลานชายพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เสรีไทยในสหรัฐฯ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่รับบทเป็นเจ้าจ่าแสง โดยมี Maria Ehrich นักแสดงสาวเยอรมัน รับบทเป็นอิงเง เซอร์เจน อดีตมหาเทวี ผู้ซึ่งเป็นนักศึกษาชาวออสเตรียซึ่งพบรักกับเจ้าจ่าแสงขณะเรียนอยู่ที่สหรัฐฯ โดยไม่รู้มาก่อนว่าเขาคือเจ้าฟ้า ก่อนจะติดตามคนรักกลับมาอยู่สีป้อหลังเรียนจบ นอกจากนี้ยังร่วมด้วยนักแสดงชาวไทใหญ่

หนุ่ม“เป้” ทวีฤทธิ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรับบทเป็นเจ้าจ่าแสงว่า ได้ไปแคสคาแรกเตอร์นี้กับบริษัท Living film จนได้รับคำตอบว่าถูกเลือกหลังจากนั้น 1 สัปดาห์
“พอถูกเลือก ผมก็ได้รับบทกลับมาอ่าน ซึ่งในขณะนั้นก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากภรรยาของผม Caitlin Lee Haas ผู้ที่หาข้อมูลต่างๆ ของเจ้าจ่าแสง หลังจากที่อ่านไป ผมก็ได้ความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือเรื่องสิ้นแสงฉานแปลโดย มนันยา ผมได้พูดคุยกับผู้กำกับ Sabine Derflinger และ โปรดิวเซอร์ Alfred Deutsch ซึ่งทั้งสองก็รู้จักกับอิงเงเป็นการส่วนตัวมาหลายปีอยู่แล้ว”
หนุ่มเป้บอกว่า การรับบทเป็นเจ้าจ่าแสงถือได้ว่าเป็นบทบาทที่ท้าทายและน่าสนใจยิ่ง พอได้ทราบประวัติของเจ้าจ่าแสงแล้ว ยิ่งรู้สึกอยากเล่น ไม่ใช่เป็นเพราะท่านเป็นเจ้าชายที่มีคุณธรรมและเป็นที่รักของประชาชนอย่างเดียว แต่ท่านเป็นทั้งสามีและพ่อที่ดีอีกด้วย ท่านเป็นคนที่อบอุ่นโรแมนติกและขี้เล่น
“การที่ผมได้พบเจอกับคนไทใหญ่ทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของไทยมาก โดยเฉพาะความเป็นมิตร ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเห็นอกเห็นใจ ผมรู้สึก welcome จากพวกเขามากครับ สิ่งนึงที่ผมจำได้คือ ชาวรัฐฉานยังคงรักษาประเพณีของพวกเขาได้อย่างดี เป็นที่น่าจดจำและผมก็ยังประทับใจกับการต้อนรับของพวกเขามากจนถึงทุกวันนี้” หนุ่มเป้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับชาวเมืองสีป้อระหว่างถ่ายทำ
“เราไปถ่ายกันตั้งแต่ออสเตรีย มาประเทศไทย และไปจบที่สีป้อครับ สีป้อเป็นสถานที่ที่สงบมาก อากาศบริสุทธิ์ ยิ่งช่วงเช้าๆ เราต้องล่องเรือฝ่าหมอกไปถ่ายทำทุกวัน มันสวยงามมาก ผมเชื่อว่าคนเราเวลาได้ทำงานในบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติจริงๆ จิตใจก็ผ่องใส สมองก็มีแต่สิ่งดีๆ”

ขณะที่ท่านขุนทุนอู ผู้นำพรรคหัวเสือ หรือ Shan Nationalities League for Democracy-SNLD ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ของรัฐฉาน และเป็นหลานชายเจ้าจ่าแสง (ขุนทุนอูเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าจ่าส่ง พี่ชายเจ้าจ่าแสง) เล่าถึงประวัติศาสตร์ในวันที่ถูกทหารพม่าคุกคามว่า “เวลานั้นพวกเราอยู่ที่หอหลวงที่ตองยี เช้าวันนั้น (วันที่นายพลเนวินยึดอำนาจ) ทหารมาที่บ้านและเรียกพ่อของผมไปร่วมประชุม ที่กองบัญชาการ เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกอะไร แต่บอกให้ท่านพ่อเอาแปรงสีพัน ยาประจำตัว และเสื้อกันหนาวไปด้วย แค่นี้เราก็รู้แล้วว่าท่านพ่อจะถูกนำไปคุมขัง” ขุนทุนอูกล่าวอย่างติดตลกว่า “การประชุม ครั้งนั้นนานถึง 5 ปีเต็มที่ (เรือนจำ) อินเส่ง” เวลานั้นตนกำลังจะไปโรงเรียน “ผมบอกเจ้าอา (จ่าแสง) ให้ระวังตัว ผมกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ พอรถส่งผมที่โรงเรียน ท่านอาก็นั่งรถคันนั้นไปที่เมืองเฮโฮ ระหว่างทางนั้นเองที่ท่านอาจ่าแสงถูกกุมตัวไปโดยกองกำลังภาคตะวันออก”
การถูกจับกุมและอุ้มหายตัวไปของเจ้าจ่าแสงได้สร้างความเจ็บปวดให้กับมหาเทวีและลูกๆ ที่รอคอยมายาวนาน เช่นเดียวกับชาวเมืองสีป้อและชาวไทใหญ่ที่รักและเคารพเจ้าฟ้าของพวกเขามาก การถูกข่มเหงในครั้งนั้น ได้กลายเป็นหนึ่งในบาดแผลที่ฝังลึกทางความรู้สึกที่ชาวไทใหญ่มีต่อรัฐบาลทหารพม่ามาโดยตลอด”นี่จึงเป็นสาเหตุที่พวกเราต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค ของกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งที่ผมถูกทหารพม่ากระทำ (ถูกจับปี 2005 ถูกสั่งลงโทษขังคุก 95 ปี แต่ปล่อยตัวก่อน)นั้น เทียบไม่ได้กับที่เจ้าอาและผู้นำคนอื่นถูกกระทำ เราไม่มีอะไรที่ต้องสูญเสียอีกแล้ว (จากการต่อสู้ทางการเมืองจนถึงทุกวันนี้)” ขุนทุนอูระบายความรู้สึก ภายหลังจากต่อสู้และขับเคลื่อนเพื่อเสรีภาพของชาวไทใหญ่มาแล้วกว่าครึ่งทศวรรษ
เช่นเดียวกับ “พิพพา” ญาติอีกคนหนึ่งของเจ้าจ่าแสงที่มีมุมมองเกี่ยวกับภาพยนต์เรื่องนี้ว่า “สิ่งสำคัญคือ ผู้ชมไม่ควรคิดเพียงว่านี่คือภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าจ่าแสงในอดีตนั้น คือสิ่งที่ทหารของรัฐบาลพม่าได้กระทำกับชนชาติพันธุ์มาโดยตลอด ความน่าสะพรึงกลัวและทำร้ายจิตใจจากการสูญหาย การฆาตกรรม ยังคงดำรงอยู่จวบจนทุกวันนี้ ความรู้สึกขมขื่นจากการชมภาพยนตร์นี้ มิควรพุ่งไปเพียงที่การกระทำในอดีตของ ผู้นำทหารพม่า แต่ควรพุ่งไปถึงผู้ที่ยังคงมีอำนาจในปัจจุบัน ผู้ซึ่งยังดำเนินอาชญากรรม ในลักษณะเดียวกันโดยมิได้รับโทษใดๆ”
ขณะที่ “จ๋ามตอง” นักสิทธิมนุษยชนชาวไทใหญ่ บอกถึงความรู้สึกที่มีการนำนวนิยายสิ้นแสงฉาน มานำเสนอเป็นบทภาพยนต์ว่า ความรู้สึกเศร้าแรกคือเหมือนกลับเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ไทใหญ่ในช่วงสมัยนั้น แต่เป็น living history เพราะเจ้าแม่ (มหาเทวี) และลูกทั้ง 2 คือ เจ้ากินรี แลเจ้ามายารี ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน กับความเจ็บช้ำมาทั้งชีวิต พร้อมๆกับคนไทใหญ่ทั้งหมด เป็นรอยแผลในอดีตจนถึงปัจจุบัน และการกระทำอันโหดเหี้ยมจากทหารพม่ายังคงเกิดขึ้นกับคนไทใหญ่ และชาติพันธุ์โดยไม่เคยได้รับความยุติธรรมใดๆจนถึงปัจจุบัน
“ทุกปี ลูกสาวทั้ง 2 ของเจ้าจ่าแสงได้เขียนจดหมายไปยังรัฐบาลพม่าถึงการหายสาปสูญของพ่อ เจ้าจ่าแสง แต่ไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาลเลย”
จ๋ามตองบอกว่า ส่วนที่ดีใจที่นวนิยายเรื่องนี้ทำเป็นภาพยนตร์ อยากให้คนดูเยอะๆ เพราะคนรุ่นหลังจะได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการเอ่ยถึงชะตาชีวิตของเจ้าจ่าแสง และเจ้าฟ้าไทใหญ่ในยุคนั้นจากการยึดอำนาจของนายพลเนวิน โดยในหนังสือเรียนประวิติศาสตร์พม่า ไม่มีการเขียนถึงเรื่องนี้ ทำให้เยาวชนรุ่นหลังไม่รู้ข้อมูลอย่างนี้ และหวังว่าจากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว จะสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์ในพม่า การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ และช่วยให้เกิดพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพม่าอย่างแท้จริง
การที่ “สิ้นแสงฉาน” ถูกแปลงจากตัวอักษรเป็นบทภาพยนต์ระดับโลก ได้สร้าง “ความหมาย”ให้คนจำนวนไม่น้อยที่ถูกกดขี่ห่มเหงและรุกรานทั้งด้านอาณาเขตและวัฒนธรรม
จับตาดูกันว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในพม่าครั้งใหม่ จะทำให้เห็นแสงใน “ฉาน” ขึ้นบ้างหรือไม่
////////////////////////