เมื่อวันที่ 15 มกราคม .2559 ที่ศาลากลางจังหวัดเลย คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการกสม.ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงกรณีข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบเหมืองทองตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก่อนที่จะร่วมกับสื่อมวลชนลงพื้นที่หมู่บ้านและเหมืองทอง ทั้งนี้ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ชี้แจงเพิ่มเติม ภายหลังการร้องเรียน กสม.มาแล้วหลายประเด็น โดยกรณีล่าสุดเป็นกรณีการเข้าปรับปรุงบ่อกักเก็บแร่ของบริษัททุ่งคำจำกัด โดยไม่ได้รับการอนุญาตที่ถูกต้อง และกรณีเยาวชนถูกฟ้องร้องหลังการนำเสนอข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นายเสน่ห์ นนทโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวต่อที่ประชุมว่า จะรับเรื่องบริษัททุ่งคำฟ้องร้องเยาวชนอายุ 15 ปี ไปพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เบื้องต้นได้ฝากผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งคุ้นเคยกับบริษัททุ่งคำเป็นอย่างดี ไปพูดคุยกับบริษัททุ่งคำเพื่อให้ถอนฟ้อง เพราะเยาวชนรายนี้ก็เป็นลูกหลานของชาวเลยเช่นกัน
“สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เรื่องดีและคงไม่ใช่เรื่องที่ภาคภูมิใจของจังหวัดเลย ฉะนั้นหลังจากนี้ทางจังหวัดจะมาช่วยหาทางออก โดยเบื้องต้นจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคดีของเยาวชนอายุ 15 ปี เสนอต่อผู้ว่าฯ ในฐานะพ่อเมืองก่อน หลังจากนั้นก็จะพิจารณาว่าจะส่งใครไปพูดคุยกับบริษัททุ่งคำเพื่อให้ถอนฟ้อง ซึ่งคนที่จะไปพูดคุยต้องเหมาะสมและมีโอกาสเจรจาสำเร็จ” นายเสน่ห์ กล่าว
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ กล่าวว่า กรณีเหมืองทุ่งคำจะเป็นกรณีตัวอย่างของประเทศไทย ที่ตัวแทนจังหวัดเลยจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิชาวบ้านและสิทธิชุมชน ตามประกาศขององค์กรสหประชาชาติ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพแก่เด็กและเยาวชนในการขับเคลื่อนนโยบายทางสังคม ดังนั้นเห็นควรว่า กรณีเยาวชนรายงานสถานการณ์เหมืองทองคำ น่าจะเป็นสิทธิหนึ่งที่สังคมต้องให้ความเคารพ
นางปาณิศา อุทังบุญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) กล่าวว่า ผลการตรวจร่างกายประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำปี 2558 พบว่ามีผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะได้รับพิษจากอาร์เซนิก (สารหนู) จำนวน 25 ราย จากผู้ที่เข้าตรวจกว่า 400ราย ขณะที่ในปี 2557 พบผู้ป่วยแล้ว 21 ราย รวมทั้งสิ้น 46 ราย สำหรับผลการตรวจสารไซยาไนด์ไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด
“ส่วนการตรวจตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น พืช ผัก และสัตว์ ซึ่งมีการตรวจซ้ำถึง 4 ครั้ง ตลอดปี 2553-2554 พบว่ามีเพียงหอยขมและปูเท่านั้นที่มีปริมาณสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ส่วนพืช ผัก และอาหารอื่นๆ ไม่พบสารพิษเกินค่ามาตรฐาน แต่ในปัจจุบันไม่มีหอยขมในพื้นที่อีกแล้ว” นางปาณิศา กล่าว
นายเฉลียว ลีสง่า ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 อุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการตรวจพบไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานเป็นจุดๆ อาทิ ในบ่อสังเกตการณ์รอบเหมือง และลำห้วยเหล็กซึ่งเป็นแหล่งน้ำของชุมชน แต่เมื่อน้ำจากลำห้วยเหล็กไหลลงไปสู่ลำห้วยฮวยกลับพบว่าค่าไซยาไนด์ลดลงไปอยู่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน นั่นเพราะไซยาไนด์ใช้เวลาสลายตัวได้เองภายใน 30 นาที อย่างไรก็ตามพบว่าแนวโน้มการพบโลหะหนักจะเพิ่มขึ้น
นายปกร พูนผล วิศวกรรมเหมืองแร่ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นมีการลักลอบดำเนินกิจการเหมืองทองคำในช่วงกลางคืน โดยอ้างว่าเป็นการซ่อมแซมบ่อกักเก็บแร่ ว่า มีโอกาสได้เข้าไปในเหมืองเฉพาะช่วงกลางวัน พบว่าเหมืองทองคำไม่มีการดำเนินการใดๆ และบริษัททุ่งคำมีประทานบัตรในพื้นที่ 6 แปลง ซึ่งจะหมดอายุประมาณปี 2570 โดยแต่ละแปลงอยู่ในพื้นที่ป่าไม้จึงต้องมีการขออนุญาตใช้ประโยชน์ ปัจจุบันพบว่าบางแปลงการขออนุญาตหมดอายุไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้ประโยชน์ต่อไป นั่นจึงทำให้บริษัททุ่งคำไม่สามารถเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ในบางแปลงได้
นายพสธร ไชยศึก เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจังหวัด กล่าวว่า เรื่องที่เหมืองทองทุ่งคำมีการปรับปรุงคันบ่อกักเก็บแร่ตามที่ชาวบ้าร้องเรียนนั้น ยืนยันว่าทางกรมป่าไม้ ไม่มีการออกใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ เพราะตามระเบียนกรมป่าไม้การอนุญาตให้กระทำการใดๆ ในพื้นที่ป่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมป่าไม้ จากนั้นเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ลงนามคำสั่ง โดยในส่วนของท้องถิ่น ไม่มีอำนาจในการสั่งการแต่ทั้งนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเหมืองทำการปรับปรุงพื้นที่ตามคำร้องเรียนของชาวบ้านจริงหรือไม่ เนื่องจากสำนักทรัพยากรป่าไม้ฯ จังหวัดเลย ไม่มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบ
“สำหรับเรื่องแผนฟื้นฟูที่กรรมการสิทธิฯ ตั้งคำถามนั้นเป็นระดับประเทศ โดยเหมืองทุกเหมืองจะต้องเสนอแผนการฟื้นฟูให้กับกรมป่าไม้ เช่น เหมืองวางแผนไว้ว่าจะปลูกต้นไม้ชดเชยพื้นที่ที่ประกอบโลหะกรรมกี่ไร่ในพื้นที่ป่า อาจจะเสนอให้กรมป่าไม้เป็นคนจัดหาพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ชดเชย โดยตามกฎหมายต้องปลูกชดเชย 3 เท่าของต้นไม้ที่เสียไป ซึ่งค่าค่าจ่ายทั้งหมด เหมืองทุกเหมืองต้องจ่ายเงิน เฉลี่ยไร่ละ 3,600 บาท กรณีเป็นพื้นที่ป่าไม้ ไม่มีแนวเขต แต่ถ้าเป็นป่าสงวนแห่งชาติไร่ละ 20,000 บาท โดยเงินทั้งหมดต้องจ่ายเข้าส่วนกลาง สำหรับพื้นที่เสื่อมโทรมกรณีเหมืองนั้นๆ ต้องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เดิม ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงสภาพเดิมมากที่สุด โดยสถานการณ์การฟื้นฟู เฉพาะพื้นที่ไม่มีหน่วยงานใดบันทึกข้อมูลไว้ เพราะกรมป่าไม้มีการจัดการนโยบายในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ ผมจึงสรุปไม่ได้ว่าส่วนใดฟื้นฟูไปแล้วหรือไม่” นายพสธร กล่าว
นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ อนุกรรมการสิทธิ กล่าวว่า กรณีเหมืองทองทุ่งคำนั้น แม้จะมีอายุสัมปทานนานถึง 25 ปี แต่การฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมไม่ควรจะรอจนหมดอายุสัมปทาน ควรทำทันทีเมื่อมีโอกาส เพื่อปกป้องระบบนิเวศในพื้นที่และปกป้องแหล่งอาหารของชุมชน เพราะขณะนี้สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดพบแล้วว่ามีสัตว์น้ำที่ชาวบ้านใช้เป็นอาหารอย่างปูและหอยขมและผักหลายชนิด ปนเปื้อนโลหะหนัก หมายความว่าชาวบ้านอาจจะบริโภคอาหารดังกล่าวไม่ได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน