เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 ที่บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีเวทีเสวนา เรื่อง “เปิดคดีเหมือง แนวทางสู้ของชาวบ้าน” หนึ่งในกิจกรรมงานบุญ ภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวว่า กรณีชาวบ้านวังสะพุงนั้นมีการฟ้องร้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งจากเครือข่ายบริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองทองคำ ทั้งหมด 19 คดี ล่าสุดเป็นการฟ้องร้องเยาวชนกรณีเผยแพร่ข่าวสารผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยการฟ้องส่วนมากเป็นการฟ้องนอกภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้อง คือ ฟ้องในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดเลย ซึ่งนักกฎหมายประเมินว่าอาจเป็นการฟ้องที่มีเจตนาสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการสู้คดี แต่ฝ่ายกฎหมายก็พยายาม ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างเพื่อสู้คดีกับบริษัทที่ฟ้องชาวบ้าน อย่างไรก็ตามขณะนี้คดีสิ้นสุดไปแล้ว12 คดี เนื่องจากเหมืองเจรจาต่อรองกับชาวบ้านขอขนแร่ออก และกับการถอนฟ้องคดี ขณะที่คดีชายฉกรรจ์รุมทำร้ายร่างกายชาวบ้านระหว่างขนแร่ออกนั้น ขณะนี้ศาลไต่สวนและสืบพยานไปแล้ว และนัดพิพากษาในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ โดยผู้พิพากษาคดีดังกล่าวใช้เวลาสืบพยานนอน และไม่ได้ดำเนินการง่ายๆ แม้ว่าชาวบ้านจะถูกทำร้ายทั้งร่างกาย และถูกละเมิดสิทธิ์ในด้านอื่น ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งทางร่ายกายและทรัพย์สินก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะกระบวนการสืบพยานนั้นพบพยานให้ข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันหลายประการ อย่างไรก็ตามคงได้กระจ่างในเดือนพฤษภาคมนี้ เชื่อว่ามีหลายมุมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่น่าพิจารณา
“จริงๆแล้วข้อสงสัยเรื่องการฟ้องดำเนินคดีต่างจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดเลยนั้น ตามกฎหมายตอบชัดเจนแค่ว่า การฟ้องคดีแพ่งและอาญา มีเงื่อนไขเรื่องสถานที่ฟ้อง 2 แบบ คือ 1 ฟ้องในพื้นที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้น จะเป็นเหตุอาชญากรรม หรือเหตุหมิ่นประมาทก็แล้วแต่ และ 2 ฟ้องตามภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งกรณีชาวบ้านวังสะพุงถ้าทนายดำเนินคดีตามปกติ ก็ต้องฟ้องที่จังหวัดเลย แต่เพราะทีมกฎหมายที่ฟ้อง ไม่ต้องการให้เหตุการณ์เป็นไปอย่างปกติ จึงได้ฟ้องต่างสถานที่ ซึ่งเราไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเป็นเพราะอะไรมีการฟ้องแบบนั้น แต่เรามองในมุมจริยธรรมและประเมินไปก่อนว่า น่าจะเป็นเพราะต้องการสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเดินทางไกล และเสียเวลาในการดำเนินการสู้คดี ซึ่งกรณีกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นสามารถฟ้องนอกภูมิลำเนาได้ เพราะเป็นการเผยแพร่ผ่านสาธารณะ เป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้ผู้ฟ้องสามารถฟ้องร้องได้ในพื้นที่ไกลๆ ซึ่งผลที่เกิดคือ บางครั้งการติดตามคดีนั้นจะคาดเคลื่อน เนื่องจากที่อยู่ที่บริษัทแจ้งในเอกสารฟ้องร้องนั้น ไม่ได้เปิดทำการแล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องชาวบ้านวังสะพุงที่ศาลจังหวัดภูเก็ต เราเคยส่งนักกฎหมายสืบคดีแล้วพบว่าที่อยู่ของบริษัทลูกของทุ่งคาฮาเบอร์ ซึ่งฟ้องชาวบ้านนั้น ปิดทำการ ปล่อยตึกให้ร้างไปนานแล้ว แต่ที่อยู่ในกฎหมายยังอยู่ พอเราทำงานเก็บข้อมูล สืบข้อมูลก็ทำได้ยาก” นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว
นายวิเชียร อันประเสริฐ นักวิจัย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การที่บริษัทฟ้องร้องชาวบ้าน เรียกได้ว่า เป็นกลยุทธ์การฟ้องร้องเพื่อสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของสาธารณะ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัวการถูกฟ้องร้องหากลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน โดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจของชาวบ้านที่ถูกฟ้อง ที่จะมีค่าใช้จ่ายเดินทางไปขึ้นศาล จ้างทนายความ และค่าธรรมเนียมศาล รวมทั้งสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเพื่อดูแลครอบครัว แม้ชาวบ้านจะร้องขอความช่วยเหลือด้านคดีต่อกองทุนยุติธรรมได้ แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ชาวบ้านหลายคนจำเป็นต้องนำที่ดินไปกู้เงินมาประกันตัวเพื่อไม่ให้ถูกจำคุก ดังนั้นคดีที่ฟ้องร้องชาวบ้านจึงเป็นเหมือนการกักกันอิสระต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านทำกันได้ขณะนี้คือการจัดการคดีความ ต้องช่วยกันทำความเข้าใจในคดีที่ชุมชนถูกฟ้อง เพื่อจัดการความกลัวให้ชุมชนสามารถต่อสู้ได้ในชั้นศาล ถือเป็นการช่วยด้านจิตใจของชาวบ้าน
ด้านดร.อาภา หวังเกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอนุกรรมการสิทธิด้านชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพเหมืองทองคำ จ.เลย ของบริษัททุ่งคำ จำกัด เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า สภาพบ่อกักเก็บกากแร่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อปี 2556 กสม.เคยลงมาตรวจสอบแล้วครั้งหนึ่ง และก่อนหน้านี้ในปี 2555 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีคำสั่งให้เหมืองหยุดดำเนินการไปแล้ว คำถามคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ได้รับอนุญาติจากหน่วยราชการแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ บริษัททุ่งคำได้ทำการเสริมคันดินรอบบ่อกักเก็บกากแร่ด้วยการนำตะกอนในบ่อกักเก็บกากแร่ขึ้นมาถมซ้อนกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตะกอนในบ่อเหล่านั้นมีโลหะหนักหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ การนำขึ้นมากองข้างบนจึงถือเป็นแหล่งกำเนิดใหม่ ขณะที่ในต่างประเทศจะใช้ระบบปิด ไม่มีการนำตะกอนขึ้นมากองหรือถมไว้เช่นนี้
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ในฐานะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า สภาพเหมืองทองคำที่ได้พบเห็น ไม่ตรงตามที่นายปกร พูนผล วิศวกรรมเหมืองแร่ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เขต 2 มาชี้แจงกับ กสม.ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 2 ครั้ง โดยนายปกร ยืนยันกับ กสม.ว่าเหมืองแร่ทองคำไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามคำสั่ง กพร. ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดกลับยอมรับว่ากองแร่ที่เหมืองเคยนำมากองทิ้งไว้เป็นเนินสูงได้หายไปจำนวนมาก นั่นหมายความว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามหลักการแล้ว หากเหมืองต้องการขนย้ายกองแร่ออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน นอกจากนี้จากการตรวจสอบบ่อกักเก็บกากแร่ยังพบอีกว่ามีร่องรอยของตะกอนอยู่บริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างใหม่ และผู้จัดการเหมืองแร่ก็ยอมรับกับ กสม.เองว่ามีการดำเนินการอยู่จริงๆ
“เวลาเขามาชี้แจงข้อมูลกับเรา พอเรามาเห็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ มันคนละเรื่องกันเลย”นายหาญณรงค์ กล่าว
นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า จากข้อเท็จจริงที่พบ ส่วนตัวเชื่อว่าเหมืองทองคำแห่งนี้ยังมีการแอบดำเนินการอยู่ และไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุด ทั้งๆ ที่ กพร.มีคำสั่งให้หยุดอย่างเด็ดขาด
//////////////////////