สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ปัดฝุ่นโครงการผันสาละวินสู่ลุ่มเจ้าพระยา

12562599_10207660721171990_1109707047_o

สัปดาห์นี้มีคำแถลงออกมาจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กชน.)ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าได้เห็นชอบหลักการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน เข้าสู่เขื่อนภูมิพล และผันแม่น้ำโขงเข้ามาทางภาคอีสานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังส่อแวววิกฤติอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกชน. ให้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อทำการศึกษาอย่างเร่งด่วน

กล่าวเฉพาะแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำปิงและเจ้าพระยานั้น เป็นแผนงานเก่าที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี 2537 ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและส่งเสริมพลังงานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการผันน้ำเมย-สาละวินลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเสนอแนวผันน้ำ 5 แผน มีทั้งผันน้ำจากแม่น้ำเมยและลำน้ำสาขา จนต่อมาในปี 2545 ได้แผนที่จะผันน้ำได้ปริมาณมากที่สุด ก็คือน้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

เนื้อหาข่าวล่าสุดที่ระบุว่าจะเพิ่มน้ำต้นทุน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีนั้น สามารถคาดคะเนได้ว่าน่าจะเป็นการปัดฝุ่นนำแผนงานเก่ามาใช้เร่งด่วนโดยโหนสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ซึ่งโครงการเดิมที่เขียนไว้นั้นจะผันน้ำจากแม่น้ำยวมที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดนไทย-พม่า ในเขต อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รอยต่อ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนสำคัญ คือ เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ความสูง 69 เมตร ที่กำหนดจุดไว้บริเวณใกล้กับหมู่บ้านแม่ลามาหลวงและค่ายพักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยสงครามจากรัฐกะเหรี่ยง โดยแม่น้ำยวมจะบรรจบแม่น้ำเมย และสาละวิน

ในโครงการจะมีการสร้างสถานีสูบน้ำและถังพักน้ำ ซึ่งจะตั้งอยู่ที่บ้านสบเงา จุดบรรจบแม่น้ำเงาและแม่น้ำเมย ในอำเภอสบเมย ใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำ 380 เมกกะวัตต์ โดยต้องมีการสร้างสายส่งไฟฟ้าจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตัดผ่านป่ามาเป็นระยะทาง 202 กิโลเมตร

และองค์ประกอบใหญ่ที่สุดของโครงการ คือการทำอุโมงค์ขนาด 8-9 เมตร เจาะทะลุภูเขาเป็นระยะทาง 62 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำจากถังพักน้ำลุ่มสาละวินสู่ปลายทะเลสาบแม่ปิง หรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่บ้านห้วยหินดำ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ หากใครเคยขับรถผ่านแถวๆ แม่สะเรียง-สบเมย-ท่าสองยาง คงรู้ว่าป่ารอยต่อ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก) นั้นยังคงเป็นป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำแห่งท้ายๆ ของประเทศ

หากเป็นไปตามแผนที่เคยมีการศึกษาไว้ จะต้องขุดเจาะและระเบิดภูเขาเพื่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดยักษ์ที่กว้างเท่ากับรถพ่วงสามารถวิ่งสวนกันได้ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวอุโมงค์อย่างน้อย 14 หมู่บ้าน

ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในมุมสิ่งแวดล้อม คือ การทำลายพื้นที่ป่า ทั้งจากเขื่อน จากอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ทิ้งเศษดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ยักษ์ และผืนป่าตลอดแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จะมีความกว้างราว 80-100 เมตร เป็นความยาวกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งป่าลุ่มน้ำเมยผืนนี้บางส่วนจัดอยู่ในประเภทป่าต้นน้ำชั้น 1A

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้น้ำ คือลุ่มน้ำยวมและสาละวิน หากโครงการนี้สำเร็จจริงตามแผนจะผันน้ำออกไปจากแม่น้ำยวมถึง 80 เปอร์เซนต์ (แม่น้ำยวมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปี 2,765.80 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการจะรองรับการผันน้ำยวมไปยังเขื่อนภูมิพลปีละ 2,184.52 ล้านลูกบาศก์เมตร) ทำให้เกิดคำถามว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในลุ่มน้ำยวมหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะบนที่ราบลุ่มแม่น้ำยวมในอำเภอแม่สะเรียง ใช้น้ำจากชลประทานแม่น้ำยวมในการเกษตรโดยเฉพาะการทำนา

แนวคิดผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินมาเติมลุ่มเจ้าพระยา ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า เป็นการแก้ปัญหาปลายทางที่โยนภาระไปให้ลุ่มน้ำอื่น ทั้งๆ ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาวะภัยแล้งเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการทำลายป่าต้นน้ำ การปลูกพืช-ทำนา ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและใช้น้ำเข้มข้นตลอดทั้งปี การเติบโตของภาคเมืองและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเป็นปริมาณมาก

ในภาวะภัยแล้งที่กำลังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ อาจเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การปันส่วนน้ำให้แก่ภาคต่างๆ โดยให้การอุปโภคบริโภคมาเป็นอันดับแรก มาตรการควบคุมการใช้น้ำในทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาคครัวเรือน พาณิชย์ อุตสาหกรรม และภาคเกษตร

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทางออกและทางเลือกในการบริหารน้ำ ที่ไม่ต้องก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ โดยเฉพาะบนแม่น้ำหรือลุ่มน้ำนานาชาติ ที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศดังที่เกิดขึ้นกับกรณีเขื่อนแม่น้ำโขง

การจัดทำโครงการใดๆ ที่ผูกโยงกับชีวิตคนและธรรมชาติ เราควรใคร่ครวญให้จงหนัก เพราะการเข้าไปเบียดเบียนพวกเขาโดยตักตวงทรัพยากรมาใช้สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นบาป ที่สำคัญคืออย่าทำทุกอย่างเพียงเพราะสถานการณ์พาไป หรือใช้อารมณ์ความกลัวเป็นตัวกำกับ

เรื่องโดย โลมาอิรวดี
ตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 15 มกราคม 2558

———————–

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →