เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 นายเสถียร ใจคำ ชาวบ้านชุมชนตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดว่า ขณะนี้ชาวบ้านชุมชนตำบลกื้ดช้างได้ร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด อันเป็นหนึ่งในแผนงานย่อยของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อใช้ในการอุปโภคในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน โดยแต่ละครอบครัวในตำบลนั้นต่างขึ้นป้ายคัดค้านโครงการและเรียกร้องให้รัฐบาล โดยกรมชลประทานทบทวนแผนการสร้างใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านการทำประชาสังคมในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง
“จริงๆแล้วโครงการนี้มีมานานกว่า 10 ปี แต่ปี 2558- 2559 นี้ เมื่อเขาจะเริ่มก่อสร้าง เราจึงเห็นเอกสารโผล่มาเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม การกระทำดังกล่าวเท่ากับว่าไม่เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าไปมีส่วนร่วมเลยสักครั้ง เป็นเหมือนการปิดหู ปิดตาประชาชน ซึ่งพอเรารู้เราก็รับไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลเลยว่าอนาคตเราจะเจอปัญหาอะไร จริงแล้วๆ ที่ผ่านมาเคยยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมตำบลกื้ดช้าง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่แตง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ตอนนั้นกรมชลฯ บอกว่าจะมาจัดเวทีชี้แจง แต่ก็ยังเงียบ พวกเราเครือข่ายชาวบ้านจึงรอสังเกตการณ์และจับตาความเคลื่อนไหวสักพัก หากสิ้นเดือนนี้ไม่มีแนวโน้มว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้น เราจะเคลื่อนไหวอีกครั้ง”นายเสถียร กล่าว
นายเสถียรกล่าวว่า ตอนนี้ได้รวมตัวกันกับเครือข่ายคัดค้านเขื่อนกักเก็บน้ำหลายภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนทางสังคม เช่น เครือข่ายค้านเขื่อนแม่วงก์ เครือข่ายคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน และแก่งเสือเต้น เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้ตำบลกื้ดช้าง ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านเมืองกื้ด หมู่ 2 บ้านแม่ตะมาน หมู่ 3 บ้านสบก๋าย หมู่ 4 บ้านต้นขาม หมู่ 5 บ้านห้วยน้ำดัง หมู่ 6 บ้านทุ่งละคร หมู่ 7 บ้านป่าข้าวหลาม โดยแต่ละหมู่บ้านมีความโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่รวมกันในนามศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนเชิงคุณธรรมประจำตำบลกื้ดช้างเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเอนเอียงไปตามธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ เช่น บริการล่องแพไม้ไผ่ เพราะมีไผ่เป็นจำนวนมาก มีสายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติ ทั้งส่องนก ดูปลา ซึ่งหากมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำขึ้นมา ชาวบ้านไม่แน่ใจว่าความอุดมสมบูรณ์จะยังคงอยู่หรือไม่
นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินการของกรมชลประทาน เป็นการดำเนินการแบบลักไก่ เหมือนแผนจัดการน้ำแบบอื่น เพราะไม่มีข้อมูลการศึกษารายการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอมาก่อนและไม่มีฝ่ายวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมมายืนยัน ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ผลการศึกษาเชิงประโยชน์จากอุโมงค์ผันน้ำในพื้นที่แม่แตง แม่งัด และแม่กวง ที่กรมชลแอบอ้างนั้นอาจจะไม่มีจริง ซึ่งการประชุมเครือข่ายทรัพยากรน้ำในภาคเหนือที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่า หากสร้างอุโมงค์ผันน้ำจริงๆ เสี่ยงต่อการส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่อย่างแม่น้ำปิงได้ ไม่ต่างจากการสร้างเขื่อนทั่วไป ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า พื้นที่ตำบลกื้ดช้าง มีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว ไม่ควรจะเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่ออุตสาหกรรมใดๆ
อนึ่งข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่แตง-แม่งัด ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเร่งด่วนในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน โดยแบ่งการสร้างอุโมงค์ผันน้ำระหว่างเขื่อนขึ้นมา 2 ช่วง คือ ช่วงแม่แตง – เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขนาดความกว้าง 4.0 เมตร ยาว 25.624 กิโลเมตร ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลบ.ม.ต่อวินาที และช่วงเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดความกว้าง 4.2 เมตร ยาว 22.975 กิโลเมตร ออกแบบแล้วเสร็จเมื่อปี 2552 โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 ดำเนินการก่อสร้างในปี 2559 – 2564 งบประมาณ 11,515 ล้านบาท ซึ่งกรมชลเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อการเพิ่มปริมาณน้ำแม่กวงปีละ 160 ล้านลูกบาทก์เมตร ใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ เพิ่มเสถียรภาพส่งน้ำช่วงฤดูฝนได้178,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ชลประทานแม่กวงจากเนื้อที่กว่า 17,000 ไร่เป็น 76,000 กว่าไร่ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถการจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนได้ดีด้วย
/////////////////////