Search

นักวิชาการมช.แนะรัฐเปิดใจฟังชุมชนก่อนเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ กนอ.เผยต่างชาตินิยมเช่าที่ดินมากกว่าซื้อ ชาวแม่สอดพ้อจังหวัดไม่เคยรับฟัง

12620813_1034110799965538_1490039504_o
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คณะสังคมศาสตร์ได้จัดเสวนา “ทางเลือกเชิงนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริบทพหุวัฒนธรรมอาเซียน” โดยเชิญเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ผู้แทนส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ทั้งนี้ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในการเป็นประธานเปิดประชุมว่า เท่าที่เคยฟังเสียงจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แผนการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่างมีความกังวลว่าพื้นที่ชุมชนจะถูกนำไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรมและขอมีส่วนร่วมพิจารณาแผนเศรษฐกิจพิเศษ เพราะชาวบ้านไม่แน่ใจว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสามารถสร้างความมั่นคงได้หรือไม่

ดร.ชยันต์กล่าวว่า เหตุผลของชาวบ้านย้ำที่จะปฏิเสธเขตเศรษฐกิจพิเศษเพราะพวกเขากลัวการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน กลัวจะสูญเสียรากเหง้าวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตแบบเดิม ซึ่งการร้องเรียนดังกล่าวนั้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ การใช้สิทธิที่ถูกต้องของชุมชน ในการปกปักรักษาผืนดิน ทรัพยากรป่าไม้ และวัฒนธรรม เนื่องจากช่วง 40-50 ปีมานี้ประเทศไทยมีการพัฒนาสิ่งต่างๆอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่ชาวบ้านก็ต้องยอมเสียสละเพื่อให้ความเจริญสมัยใหม่เข้าไป เกิดแหล่งอุตสาหกรรมหลายพื้นที่ แต่ต่อมาก็พบว่ามีผลกระทบไม่น้อย ปัจจุบันการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจึงเกิดขึ้น เนื่องจากใช้บทเรียนในอดีต มาสู่การมีส่วนร่วมตัดสินใจพัฒนาในปัจจุบันและรองรับแผนพัฒนาในอนาคต

“ผมเชื่อว่าการพัฒนาที่เราเห็นมาแล้วนานกว่า 50 ปีและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ ใครก็อยากมีส่วนร่วม ผมมองว่าหากเป็นไปได้ เราอยากฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เราต้องนึกถึงส่วนรวมให้มาก กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศมา เราก็ต้องฟังทุกคนที่เกี่ยวข้อง และยิ่งเข้าสู่ยุคอาเซียนเราก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์ที่รอบคอบ ทั้งในพื้นที่และในประเทศเพื่อนบ้านคู่กันไป ประชาชนคนไทยหลายฝ่ายจึงต้องมีส่วนร่วมกำหนดแผนพัฒนาไปพร้อมกับรัฐ และที่ชาวบ้านเขาเคยร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็เพราะต้องการใช้สิทธิชุมชนอย่างเต็มที่ เป็นสิทธิของชาวบ้านที่สังคมควรให้ความสำคัญ” ดร.ชยันต์ กล่าว

ดร.ชยันต์ กล่าวด้วยว่า หากจะเปรียบเทียบสถานการณ์โลก ขอยกตัวอย่างกรณีการสร้างพีระมิดของประเทศอียิปที่กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ในฐานะอนุสาวรีย์ของฟาโรห์ มีการสะสมสมบัติในพีระมิด ซึ่งมีขนาดอาคารใหญ่มาก แต่หลายคนไม่ได้ตั้งคำถามว่า ใครสร้างพีระมิดบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วกว่าจะเป็นพีระมิดต้องอาศัยแรงงานมากมาย ส่งผลให้มีคนต้องตายไป เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้คนทั่วโลกได้เห็น โดยส่วนตัวมองว่า การพัฒนาก็เหมือนการสร้างพีระมิด คนกลุ่มหนึ่งอาจจะได้ประโยชน์ แต่มีคนบางกลุ่มและอาจเป็นกลุ่มใหญ่สูญเสียความผูกพันระหว่างชุมชน สูญเสียที่ดิน สูญเสียชีวิต ดังนั้นแทนที่เราจะมองความสวยงามของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนคนอยากเห็นความสวยงามของพีระมิด น่าจะต้องคิดด้วยว่า หากได้มาซึ่งความเจริญ ความสวยงาม รายได้ของเศรษฐกิจพิเศษแล้วชุมชนเล็กๆ จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้จึงต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลแก่สังคมรับทราบและร่วมตัดสินใจ เช่น กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เข้ามาร่วมรับฟังสถานการณ์เรื่องเศรษฐกิจพิเศษ ก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่ของสังคมที่ควรรู้ และหากมีโอกาสก็ต้องมีการศึกษาเชิงวิชาการถึงปรากฏการณ์ที่รัฐบาลได้จัดการกับพลเมืองไทย เพื่อที่อาจจะมีส่วนขยายข้อมูลแก่สังคมได้ และหวังว่าฝ่ายหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการจะมีการแบ่งปันข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

ด้านนางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินการในประเทศไทยกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น กนอ.มีการสรุปยุทธศาสตร์การสร้างอุตสาหกรรมไว้แบบพอสังเขป คือ กอน.ต้องเลือกสรรพื้นที่ที่เหมาะสม มีโอกาสสร้างความเจริญ สร้างรายได้ บางส่วนเป็นการส่งเสริมระบบอุปโภค บริโภค และบางส่วนเป็นพื้นที่สีเขียว โดยกอน.มองว่า จะไม่วางแผนการสร้างอุตสาหกรรมแบบ กระจัดกระจายทั่วไป แต่จะรวมอุตสาหกรรมมาไว้ในที่เดียวกัน เช่น กรณีเขตอุตสาหกรรม R3A ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายนั้น กอน.มองว่า เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบโลจิสติก (Logistic) เพื่อการขนส่ง โดยมีอุตสาหกรรมแค่ร้อยละ 10 ของพื้นที่เท่านั้น ที่เหลือค้าขายและขนส่ง

นางสาวทัศนีย์ กล่าวด้วยว่า ในอำนาจของ กนอ.นิคมอุตสาหกรรมมี 2 รูปแบบ คือ 1 กนอ.ทำเองทั้งระบบ เช่น ที่ลำพูน ก็จัดหาพื้นที่เองลงทุนเอง 2 รูปแบบ กนอ.ดำเนินการร่วมกับเอกชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี มีระบบการจัดการที่ดีเพราะมีเอกชนเข้ามาร่วมกำหนดนโยบาย

“ตอนนี้ กนอ.ที่บริการผู้ประกอบการส่วนมากเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ เนื่องจากต่างชาติไม่ต้องการซื้อที่ดิน แต่เน้นการเช่า ดังนั้นรัฐบาลมีโอกาสใช้ที่ดินที่หมดอายุสัญญาการเช่ามาทำประโยชน์อื่นได้ และหากเอกชนดำเนินการเป็นส่วนมาก ผู้ประกอบการรายย่อยนั้นจะสามารถดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ซึ่งหากเปิดโอกาสการลงทุนแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีประโยชน์ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและการจัดการพื้นที่ สิ่งเหล่านี้สร้างความยั่งยืนแก่ประเทศ และหากมีการลงทุนเชิงอุตสาหกรรมได้ ไทยก็จะก้าวผ่านสังคมที่มีรายได้ปานกลางไปเป็นสังคมมีรายได้สูงเหมือนมาเลเซีย และสิงคโปร์” นางสาวทัศนีย์ กล่าว

ผู้ช่วยผู้ว่า กนอ. กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยในขณะนี้แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในระยะที่1 คือ การประเมินผลเพื่อหาพื้นที่เหมาะสมทางอุตสาหกรรม โดยให้ส่วนจังหวัดและกรมธนารักษ์มีส่วนในการคัดเลือกบางพื้นที่จึงเป็นที่หลวงที่สามารถจัดการวางแผนได้เลย แต่กรณีเป็นที่รัฐบาลและมีการบุกรุกก็ต้องใช้มาตรา44เพิกถอนแล้วยึดคืน เพื่อวางแผนต่อไป เช่น กรณีจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทุ่งงิ้ว อำเภอเชียงของประมาณ531 ไร่และอำเภอเชียงแสนเนื้อที่ 631 ไร่ ใช้มาตรา 44 เพื่อใช้พื้นที่ ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันไป ตามการพิจารณาของจังหวัดภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ผ่านมามีการประกาศใช้พื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว

นางพรทิพย์ โชติวิริยะนนท์ สมาชิกกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า หลายครั้งที่ชาวบ้านได้เจรจาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ชาวบ้านไม่ได้รับความร่วมมือในการเจรจาเพื่อรับฟังข้อมูลในฐานะผู้ได้รับผลกระทบเลยสักครั้ง และไม่เห็นด้วยกับอำนาจมาตรา 44 ที่รัฐบาลใช้ เพราะพื้นที่ชุมชนบางแห่งเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมของชาวบ้าน และมีการประกอบอาชีพการเกษตรที่เข้มแข็ง

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านป่าบุญเรือง อำเภอเชียงของ กล่าวว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินทางการเกษตรของชาวบ้านนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะชาวบ้านลงทุนจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินมานาน โดยศึกษาระบบนิเวศอย่างรอบคอบทั้งในน้ำและบนบก ประวัติศาสตร์ป่าบุญเรืองหลายร้อยปีมีความสำคัญต่อชาวบ้านทุกคน รัฐไม่ควรอ้างความเป็นเจ้าของที่เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อทำลายรากเหง้าวัฒนธรรม

///////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

นายจ้างสีขาว-ลูกจ้างต่างด้าวหวั่นข้อมูลลงทะเบียนแรงงานหลุดถึงมือรัฐบาลพม่า-เชื่อถูกนำไปเช็คบิลแน่หลังรัฐบาลทหารพม่าถังแตกสั่งเรียกเก็บภาษี 25% ชาวมอญตื่นสั่งลูกเลิกเรียนแห่กันเข้ามาขุดทองในไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 นางนิลุบล พงษ์พะยอม ตัวRead More →

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →