Search

ทวงถามเขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงตามมติครม.53 ชาวปกาเกอะญอร่วมกันทำบุญกินข้าวใหม่ฯสะท้อนวิถี-วัฒนธรรมดั้งเดิม หวั่นถูกรุกไล่จากรัฐทั้งเขื่อน-อุทยานฯ

received_1035450689831549

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่บ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านสบลาน ชาวกะเหรี่ยงจากหลายจังหวัดในภาคเหนือและเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งเยาวชนประมาณ 300 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมงาน “บุญข้าวใหม่ พิธีส่งนกขวัญข้าว” และร่วมประกาศเจตนารมณ์การส่งเสริมคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรมและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง โดยมีนายชาตรี กิตติธนดิตถ์ นายอำเภอสะเมิง เป็นประธานเปิดงาน

ทั้งนี้บรรยากาศในงานมีนิทรรศการภาพถ่ายชุดวิถีชีวิตปกาเกอะญอ งานแสดงสมุนไพร ผัก ผลไม้ และสินค้าพื้นเมือง และได้มีการประกอบพิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน “ส่งนกขวัญข้าว” หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยมีผู้นำประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน คือ นายเกะหน่า ยอดฉัตรมิ่งบุญ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหมอขวัญข้าวประจำบ้านสบลาน

นายเกะหน่า กล่าวว่า สำหรับการปะกอบพิธีกรรมขวัญข้าวในปีนี้ เป็นปีแรกที่จัดรวมกัน ซึ่งชาวบ้านปกาเกอะญอเชื่อว่า ข้าวคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสร้างสรรค์ชีวิตของชาวบ้านอย่างยั่งยืนมากกว่าเงินทอง และสิ่งอำนวยความสะดวกแบบอื่น โดยมีนกขวัญข้าวหรือเทียบเท่ากับความเชื่อเรื่องแม่โพสพของชาวนาทั่วไป เป็นเหมือนสัตว์ที่คอยกำจัดศัตรูพืชและสิ่งรบกวนของต้นข้าวทั้งข้าวไร่ ข้าวนา โดยแต่ละปีนั้นหมอขวัญข้าวจะประกอบพิธีกรรมเล็กๆในนาข้าวที่ใดที่หนึ่งก่อนปลูกข้าวเพื่อเรียกนกกลับมาดูแลไร่นา

received_1035450686498216

นายเกะหน่ากล่าวว่า หลังเก็บเกี่ยว ก็ปล่อยนกกลับไปพักผ่อน ชาวบ้านจึงต้องถักไม้ไผ่เป็นรูปนกแล้วใช้ประกอบพิธีกรรม พร้อมกับตะกร้าใส่เมล็ดข้าว พืช ผัก และผลไม้ที่เกิดจากการทำไร่หมุนเวียน พร้อมดอกไม้สีสดใสมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพื่อขอบคุณที่ให้โอกาสชาวบ้านได้อาศัยอยู่และทำอาชีพเกษตรในแผ่นดินทอง จากนั้นสวดมนต์อธิษฐานเพื่อขอให้ปีต่อไปมีความมั่นคงทางอาหารเช่นเดิม

นายเกะหน่า กล่าวต่อว่า หลังจากประกอบพิธีกรรมส่งนกขวัญแล้ว ชาวปกาเกอะญอจะมีการกินข้าวใหม่ ที่เป็นผลผลิตของปีนี้ โดยนำข้าวมากินกับหมู ไก่ ปลา ที่ชาวบ้านเลี้ยงเอง เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษให้ได้ร่วมกินข้าวเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน โดยวางข้าวและกับไว้บนก้อนหิน 3 ก้อน อันเป็นตัวแทนของดวงวิญญาณพ่อ แม่ และเครือญาติ และดวงวิญญาณของผีร้ายที่ขาดแคลนทรัพยากร และมีกับข้าวอื่นๆ วางบนจานเพื่อมอบให้เจ้าป่า เจ้าเขา รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแผ่นดินเกษตรกรรม โดยจานชามที่ใส่ข้าวต้องทิ้งไว้นานหนึ่งวันห้ามล้าง เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจึงจะร่วมกินข้าวด้วยกันต้อนรับผลผลิตที่เกิดจากแผ่นดินสมบูรณ์

ด้านพะตีตาแย๊ะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้อาวุโสประจำชุมชนและปราชญ์ชาวปกาเกอะญอกล่าวว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเราเผชิญกับปัญหาการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ปัญหาการสร้างเขื่อน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ปีนี้เราจึงได้เปลี่ยนรูปแบบจากงานบุญข้าวธรรมดา มาจัดพิธีงานบุญใหญ่ครั้งแรก ควบคู่กับการประกาศเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า โดยเสนอให้นายอำเภอสะเมิงน้อมรับคำสั่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2553 เรื่องการกำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสาหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อให้สงวนไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทำไร่หมุนเวียนอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่พอจะดำรงชีพอยู่ได้ โดยไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดไปอาศัยในต่างถิ่น และมีสิทธิในการร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม

พะตีตาแย๊ะกล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านได้แบ่งพื้นที่ป่าเป็นประเภทต่างๆ อาทิ ป่าใช้สอย คือป่าที่ชาวบ้านตัดไม้ทำบ้านได้แต่ต้องปลูกทดแทน และหาของป่าได้ เพาะปลูกได้ รวมทั้งทำไร่หมุนเวียนได้ ป่าอนุรักษ์ คือ ป่าที่ชาวบ้านหาของป่าได้แต่ตัดไม้อายุยืนไม่ได้ และห้ามเพาะปลูก ป่าอนุรักษ์ยั่งยืน คือ ห้ามใช้สอยใดๆ และห้ามหาของป่า เนื่องจากชาวบ้านต้องการรักษาต้นน้ำและรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ป่าความเชื่อ คือ ป่าที่ปากเกอะญอใช้ในการประกอบพิธีกรรม และมีการปกปักรักษาเพื่อกิจการพิเศษ เช่น ฝังทารกที่ตาย ซึ่งชาวบ้านประเมินแล้วว่ามีความเหมาะสมและไม่เป็นการละเมิดผู้อื่น

received_1035451209831497
“ข้าวที่เราปลูกมันไม่ได้เยอะนะ แต่ก็พอกิน แล้วก็พอแบ่งปันให้คนอื่นด้วย เช่น ตอนคนบางกลอย(อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี)มีปัญหาถูกไล่ที่จากถิ่นเดิมแล้วลงมาอยู่ข้างล่างเขาเดือดร้อนเราก็ช่วยทำผ้าป่าข้าวให้เขา ถ้าวันหนึ่งเราโดนย้ายเพราะเขื่อน เราโดนห้ามปลูกข้าวเพราะอุทยาน เราอาจเป็นเหมือนพี่น้องบางกลอย ผมเลยคิดว่ามันต้องเริ่มต้นใช้มติ ครม.53 ให้รัฐเคารพเรา เราเคารพรัฐ เราก็จะไม่เป็นอื่นระหว่างกัน และพวกเราก็จะไม่เป็นภาระให้รัฐบาลต้องหาที่อยู่ใหม่” ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังเปิดงานเสร็จสิ้น เยาวชนบ้านสบลานได้ร่วมกันอ่านประกาศอันสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมและฟื้นฟูเขตวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโดยสรุปใจความบางส่วนว่า แนวนโยบายของมติ ครม.นั้น ครอบคลุมประเด็นปัญหา 5 ประการ คือ อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรสิทธิในสัญชาติ การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และการศึกษา โดยมีสาระสำคัญเช่น การส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงในเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ส่งเสริมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม รวมทั้งการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม ให้ชุมชนมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและ วัฒนธรรม รวมทั้งสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ ดั้งเดิม ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนบนพื้นที่สูง สิทธิในสัญชาติและสิทธิด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง

received_1035450693164882

จากนั้นเยาวชนบ้านสบลานได้ร่วมกันแสดงละครลูกไม้แม่ขาน ต่อด้วยกิจกรรมการนำเสนอประเด็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน จากนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณที่ลงพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมพิเศษในหมู่บ้านหลายครั้ง พร้อมผลิตและเผยแพร่หนังสือปกาเกอะญอแก่บุคคลที่มาร่วมงานเพื่อเป็นงานวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ซึงเป็นโครงการหลักในวิชา “สื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม”
///////////////////

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →