Search

นักวิชาการแนะทางออกปัญหาชาวเล ชี้บทสะท้อนความล้มเหลวของการจัดการท่องเที่ยว-ปล่อยเอกชนผูกขาดฝ่ายเดียว ชาวบ้านดั้งเดิมไม่มีส่วนร่วม ชาวเลร่วมกันทำพิธีสาปแช่งคนคิดไม่ดี

12607152_1038152142894737_1972730300_n (1)

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้ายชาวเลในชุมชนราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นอีกกลุ่มคนชายขอบที่เผชิญกับเรื่องร้ายๆ หลังจากข้อพิพาทด้านที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ไม่ต่างจากคนจนคนทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนน้อยคาดไม่ถึง คือ ชาติพันธุ์ชาวเลทุกพื้นที่ มีพฤติกรรมย้ายถิ่นฐานและไม่นิยมความรุนแรงมาตั้งแต่ก่อนเก่า โดยจากประวัติศาสตร์ที่เคยศึกษามาของคนแก่ในพื้นที่ พบว่าชาวเลส่วนมากย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุผลหลักคือ 1 เพื่อความอยู่รอดหรือย้ายเพื่อประกอบอาชีพ บางกลุ่มออกเรือหาปลาไปตลอดไม่คิดจะครอบครองที่ดินถาวร แต่ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยน เขาถูกบังคับให้มีการตั้งถิ่นฐานถาวร และเมื่อกรณีพิพาทเรื่องที่ดินซึ่งที่มาที่ไปไม่ชัดเจน ที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปต่อเนื่อง คนที่ไม่เคยครอบครองอย่างชาวเลกลับต้องถอยห่างออกมา พวกเขาจึงแทบเข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินและสิทธิการทำกินในทะเล 2 ย้ายเพราะความวุ่นวายและแสวงหาพื้นที่ที่ความสงบ

“จริงๆเมื่อก่อนก็มีการทำนา แต่พอเขาไม่มีที่ดินอาชีพนั้นก็หายไป ครั้นพอมาอาศัยออกเรือหาปลา ก็เจอคำสั่งอุทยานห้ามหากินเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้หลายคนถูกดำเนินคดีและยึดเครื่องมือหาปลา” ดร.นฤมล กล่าว

ดร.นฤมล กล่าวต่อว่ามาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน อธิบายความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่มีผลต่อชาวเล คือ เรื่องของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการพัฒนา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้เกิดจากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยกลุ่มทุนคิดว่าที่ใดสร้างรายได้ดี เขาก็เลือกที่นั่น โจทย์ที่เกิดขึ้นมากรณีนี้ คือ ทำไมการท่องเที่ยวประเทศไทยไม่จัดการให้เอกชนกับชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าเดิมอยู่ร่วมกัน ทำไมต้องผูกขาด ให้เอกชนมีอำนาจรับแขกข้างนอกได้ฝ่ายเดียว โดยหากวิลล่าที่บริษัทเอกชนที่เป็นคู่กรณีกับชาวเลก่อสร้างเสร็จ ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำกับคนมีเงิน ต่างกันแค่กำแพงกั้น ที่แย่คือ ชาวเลราไวย์ยังใช้ไฟฟ้าแพง น้ำแพง สาธารณูปโภคของรัฐเข้าไม่ถึงพวกเขา แต่เอกชนกลับมีน้ำไฟใช้รองรับนักท่องเที่ยวทุกคน นี่เป็นความขัดแย้งของโครงสร้างสังคมในมิติการท่องเที่ยวที่ไม่หลอมรวมวัฒนธรรม ชาวบ้านเข้ากับยุคปัจจุบัน ดังนั้นข้อเสนอเชิงสังคมคือ ข้าราชการระดับปฏิบัติการจึงควรมีการจัดการท่องเที่ยวใหม่และเลิกให้สิทธิผูกขาดแก่เอกชนฝ่ายเดียวจนสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเช่นนี้อีก

นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคมกล่าวว่า นอกจากนี้มิติเรื่องพื้นที่สาธารณะ ที่ชาวบ้านเรียกร้อง ซึ่งมีเหตุผล เพราะถนนทางออกทะเลที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินลัดเลาะชมวิวได้เมื่อพักในรีสอร์ท เรื่องการเดินทางเพื่อทำกิจกรรมแต่ละวันของชาวบ้านก็เป็นความจำเป็นพื้นฐานเช่นกัน พวกเขาร้องขอแค่เส้นทางออกมาทำพิธีกรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เรียกร้องไม่ได้ ท้องถิ่นที่ราไวย์น่าจะจัดการได้ เพราะทั้งเอกชนทั้งชาวบ้านต้องการพื้นที่สาธารณะ แต่เพราะเหตุใดเอกชนจึงมีสิทธิมาปิดกั้นทางดังกล่าว

“อย่างแถวบาลัย(สุสานบรรพบุรุษ) ที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวเลเชื่อว่า เป็นพื้นที่ไม่ควรสร้างบ้าน เพราะชาวเลเขาเกรงใจ เกรงกลัว วิญญาณบรรพบุรุษ และ เขาต้องใช้เป็นประตูทางออกเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่างกรณีที่หาดแหลมพบร่องรอยการใช้ประโยชน์บนหาดมานานแล้ว เพราะสอบถามใครๆที่อายุมาก เขาก็บอกว่าเขาออกทะเลทางนั้น มันไม่ใช่เรื่องแปลก ต่อมาถ้าจะพูดตรงๆ เรื่องการทำร้ายชาวบ้าน ประเทศไทยเป็นภาคีองค์การสหประชาชาติในอนุสัญญา เรื่องการปฏิบัติทางเชื้อชาติ ชาวเลคือเชื้อชาติหนึ่งที่ควรได้รับการเคารพและมีสิทธิปกป้องร่างกาย ทรัพย์สิน แต่เมื่อเขาถูกทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สิน ทางกระบวนการยุติธรรมไทยต้องรับผิดชอบตามกติกาสากล” ดร.นฤมล กล่าว

นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเล (จังหวัดพังงา) กล่าวว่า เช้าวันนี้ชาวบ้านที่ถูกทำร้ายร่างกาย2 รายยังคงนอนค้างที่โรงพยาบาล และบางส่วนเข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรฉลองแล้ว ขณะที่เครื่องมือประมงของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายนั้น เบื้องต้นน่าจะมีการระดมทุนช่วยเหลือกันไปก่อน ยังไม่ทราบว่าจะเรียกร้องความเสียหายด้านทรัพย์สินได้หรือไม่ ทั้งนี้ชาวเลจากจังหวัดพังงาบางส่วนเดินทางมาให้กำลังใจชาวราไวย์ โดยจะร่วมพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่พื้นที่พิธีกรรมบาลัย (สุสานเด็ก) เพื่อรายขอให้บรรพบุรุษคุ้มครองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งทำพิธีสาปแช่งคนที่คิดไม่ดีต่อชาวบ้าน

นายจำนง จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนและผู้ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน กล่าวว่า สำหรับความขัดแย้งเรื่องที่ดินในหาดราไวย์นั้น เบื้องต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วว่าเนื้อที่12ไร่ คือจากสะพานหินราไวย์ถึงต้นมะขามใกล้กับที่ตั้งของครอบครัวชาวเล พบว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทางกฎหมาย ส่วนพื้นที่จากต้นมะขามถึงพื้นที่บาลัย ที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวานนี้ (27 มกราคม)เป็นพื้นที่ซึ่งดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบ

ขณะเดียวกันนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือสั่งการโดยด่วนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตปฏิบัติตามคำสั่ง คือ กรณีเกิดความขัดแย้งการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ว่าฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ อย่าปล่อยให้คู่กรณีใช้กำลังแก้ปัญหาเอง และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงหรือเข้าไปสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ให้ผู้ว่าฯ ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการหน่วยงานนั้นๆ ทันที

ขณะที่ชาวบ้านที่ถูกทำร้ายได้เดินทางไปแจ้งความไว้กับสถานีตำรวจฉลองแล้ว

อนึ่งในวันที่ 29 มกราคม2559 เวลา14.00- 16.30 น.ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีเสวนาเรื่อง โครงการพัฒนาอันดามัน กับชาติพันธุ์ชาวเล เพื่อนำเสนอสถานการณ์สังคมในปัจจุบันที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวเลในประเทศไทย
////////////////////////////////

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →