Search

ผู้นำศาสนาชายแดนใต้เตรียมร่วมลงชื่อค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มไม่เห็นด้วยเปิดเวทีในเมืองหลวง ย้ำถึงผลกระทบ ขณะที่มทบ.42มาแปลก เปิดเวทีรับฟัง-มีแต่กลุ่มหนุนเข้าร่วม

received_1048641561845795

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์ 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(Permatamas) เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) จัดเวทีเพื่อนำเสนอเหตุผลในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าฯ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยมีตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนนักศึกษา ตัวแทนภาคประชาชน และประชาชนเข้าร่วม
นางเกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกจำกัดข้อมูลด้านข้อมูลโครงการาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จนเมื่อกระแสคัดค้านขยายตัวมากขึ้น มีการให้ความรู้ถึงผลกระทบต่อด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิต ที่จะได้รับผลพิษจากกระบวนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน 23 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือเท่ากับจำนวน 1 พันคันรถบรรทุก ใช้น้ำวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องสร้างท่าเรือขนาดใหญ่รองรับการขนส่งถ่ายหินจากอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีฝุ่นขนาดเล็ก สารโลหะหนักที่จะปนเปื้อนทั้งอากาศและน้ำ รวมทั้งส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งและกระทบกับวิถีชีวิตประมงตลอดชายฝั่ง ซึ่งมีการประมาณการมลพิษที่เกิดจากกระบวนการของโรงไฟฟ้าฯ สูงกว่า 2 แสนกิโลกรัมต่อปี

received_1048641551845796
“ข้ออ้างของ กฟผ.ที่มักบอกกับประชาชนคือ เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้สามารถผลิตได้ถึง 3 พันกว่าเมกะวัตต์ มีปริมาณการใช้งานจริงเพียง 2 พันเมกะวัตต์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม หรือหากจำเป็นต้องสร้างควรหาทางเลือกพลังงานที่ไม่ใช้ถ่านหิน” อาจารย์ฯ ม.อ.ปัตานี กล่าว

นางสาวลม้าย มานะการ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า การที่ กฟผ.พยายามกีดกันชาวบ้านที่มีความเห็นคัดค้าน และไม่เปิดโอกาสให้คนปัตตานีมีส่วนร่วมในกระบวนการแสดงความคิดเห็น(เวที ค.1 ค.2 ค.3) รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างรอบด้านถือเป็นการไม่ให้ความสำคัญต่อคนในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นการเติมเชื้อไฟก้อนใหม่ต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งขัดต่อข้อเสนอของกลุ่มมาราปาตานีหรือคู่ขัดแย้ง ที่ได้เสนอต่อรัฐบาลไทย ในเวทีพูดคุยสันติภาพ ที่ระบุว่า โครงการพัฒนาใดๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่ จำเป็นต้องให้คนในพื้นที่มีสิทธิ์หรือมีส่วนร่วมในการเลือก

นายมุสตาราซีมีน วาบา ครูสอนศาสนา ในฐานะชาวบ้าน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังถูกผลักดันจากกลุ่มทุน ที่ต้องการให้เป็นแหล่งพลังงานป้อนเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นตามในอนาคต ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิม รวมถึงศาสนสถาน กุโบร์ ที่ต้องถูกย้ายออกไป ซึ่งประเด็นนี้ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำองค์กรศาสนา จากหลายภาคส่วนในพื้นที่กำลังจะมีการร่วมลงชื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ตอนนี้ข้อสรุปทางวิชาการด้านผลกระทบที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความชัดเจนแล้วว่า ถ่านหินเป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน ซึ่งในหลายประเทศกำลังมีการลดกำลังการพึ่งพาถ่านหิน ยกเลิกโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน หันมาใช้พลังงานทางเลือกตามที่นานาชาติรวมทั้งประเทศไทยได้มีฉันทามติร่วมกัน ดังนั้นหากไทยยังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าที่สงขลา กระบี่ และอีกหลายโครงการในจังหวัดต่างๆ ประเทศไทยจะกลายเป็นจำเลยของปัญหาสภาวะโลกร้อน อีกทั้งขณะนี้สถานการณ์พลังงานของไทยมีปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินนี้ได้ถูกคิดรวมเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกยืนอยู่ข้างนายทุนกับพ่อค้าถ่านหิน หรือประชาชน แต่อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจริงๆ ประชาชนก็ควรมีสิทธิ์เลือกให้ประเทศผลิตไฟฟ้าจากทางเลือกอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ตัวแทนภาคประชาชนและชาวบ้านที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอให้พิจารณาสั่งการให้หยุดกระบวนการพิจารณาและทบทวนยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้หันมาทำการศึกษาพลังงานทดแทน เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีประเพณีวัฒนธรรมของพื้นที่ และไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 และ ที่ 4/2559 เพื่อคลี่คลายวิกฤติโดยเร่งด่วน

วันเดียวกัน ที่เทพาบีชรีสอร์ท ม.4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พันเอกชัยเดช ทองประดิษฐ์ รองผู้บัญชาการควบคุม มณฑลทหารบกที่ 42 ได้รับมอบหมายจากคณะ คสช.ให้มารับฟังความคิดเห็นกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จากประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าว่ามีความคิดเห็นอย่างไร อย่างไรก็ตามเนื่องจากประชาชนกลุ่มคัดค้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือในกทม. ทำให้มีเพียงชาวบ้านกลุ่มที่สนับสนุนเพียงกลุ่มเดียว
——————-

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →