เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลาประมาณ 13.00 น. ที่อาคารสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาชนจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 50 คน รวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อีกครั้ง เพื่อคัดค้านคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยได้รวมตัวกันปักหลักประท้วงรัฐบาลเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพื่อการบริหารทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ซึ่งการรวมตัวในวันนี้เป็นการทวงถามความคืบหน้าภายหลังที่เครือข่ายฯ
ทั้งนี้การรวมตัวกันในพื้นที่ดังกล่าวเป็นกิจกรรมต่อเนื่องของภาคประชาชน หลังจากปักหลักชุมนุมกันที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาลหน้าอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) เมื่อวานนี้ (23 กุมภาพันธ์) ตลอดทั้งวัน กระทั่งถึงช่วงเช้าของวันนี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาล รวมทั้งไม่มีฝ่ายใดออกมาเจรจา หรือรับเรื่องร้องเรียน ทางเครือข่ายจึงได้ใช้ป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านมาตรา 44 (คำสั่งที่ 3 และ 4) แล้วนำมามัดแขนเพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตะหนักถึงการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องของ คสช. แต่หลังการจัดกิจกรรมของเครือข่ายไปได้แค่ 30 นาที ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้ามปฏิบัติกิจกรรมและเจรจาแกนนำขอให้ยุติการชุมนุมทันที
พ.ต.อ.สมโภชน์ สุวรรณจรัส ผกก.สน.นางเลิ้ง กล่าวระหว่างเจรจากับเครือข่ายฯ ว่า ในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายฝ่ายได้รับแจ้งว่า เครือข่ายฯ กำลังทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ซึ่งตนในฐานะตำรวจท้องที่ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อนว่าเครือข่ายจะมาจัดกิจกรรม ดังนั้นจึงอยากให้เครือข่ายทุกคนย้ายออกไปจากพื้นที่อาคารยูเอ็น และขอให้ไปทำกิจกรรมที่ ก.พ.ร.แทน โดยยืนยันว่า เครือข่ายต้องเจรจาผ่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายนั้นเท่านั้น ซึ่งหากยังคงปักหลักชุมนุมกันอยู่ จำเป็นต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่สลายตามกฎหมาย
ด้านนายศักดิ์กมล แสงดารา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน กล่าวระหว่างเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ในการขอพื้นที่ชุมนุมนั้น ทางเครือข่ายยินดีทำตามเงื่อนไข แต่ขอให้ตำรวจอำนวยความสะดวกและบริการประชาชนบ้าง ที่ผ่านมา 1 วันครึ่ง เครือข่ายฯ ปักหลักชุมนุมที่ ก.พ.ร.แล้ว แต่ไม่มีท่าทีว่าจะมีฝ่ายใดมารับเรื่องร้องเรียน จึงอยากขอเวลาในการแสดงออกอย่างสงบและสันติบ้าง ซึ่งไม่ได้ใช้เครื่องเสียง หรือรบกวนผู้อื่น ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ ถูกต้องตามกฎหมาย ทางเครือข่ายฯ ยินดีจะปฏิบัติ แต่เงื่อนไขคือเมื่อขอแล้วก็อยากให้เจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจและอนุญาต โดยหลังจากนี้จะกลับไปทำหนังสือขอปฏิบัติกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
ขณะที่นายสมนึก จงมีวศิน ตัวแทนเครือข่ายฯ แถลงข่าวภายหลังการมีตัวแทนเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ความตั้งใจเดิมของเครือข่ายฯ คือ ต้องการแค่แสดงออกอย่างสันติ หน้าอาคารยูเอ็น ในฐานะองค์การแห่งสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการณรงค์เรื่องนี้โดยตลอด เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องระดังสากล แต่ในเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต ทางเครือข่ายจึงต้องทำหนังสือขออนุญาตอย่างถูกต้องในวันนี้ แล้วจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
“คือเราจะไปต่อได้ไง เมื่อเราแค่ต้องการจะบอกว่า เราเดือดร้อนจากคำสั่งของ คสช.เรื่องผังเมือง คุณก็ใช้กฎหมายมาห้ามเราพูด ส่วนตัวผมก็โอเคจะให้ยุติการชุมนุม ผมเป็นประชาชนผมเคารพกฎหมายอยู่แล้ว แต่ตัว คสช.เอง เคารพหรือไม่ การออกประกาศคำสั่งเรื่องผังเมืองเพื่อจะเอาพื้นที่ต่างๆ ไปทำเศรษฐกิจพิเศษ ทำโรงงานเอื้อทุนแล้วประกาศออกมา ถามว่า ได้ดูกฎหมายที่มีของประเทศหรือไม่ การคืนความสุขมันต้องทำอะไรแบบปรึกษาประชาชน ส่วนตัวไม่ได้ต้องการต่อต้านอำนาจ คสช. หรืออะไร แต่อยากให้คงไว้ซึ่งการเคารพสิทธิ เคารพความคิดเห็นประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศบ้าง” นายสมนึก กล่าว
นายสมนึก กล่าวด้วยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 นั้นถือว่าสะเทือนทั้งประเทศไทย เพราะจากนี้ไปจะอนุญาตให้กิจการโรงงานลำดับที่ 88, 89, 101, 105 และ 106 ให้ตั้งขึ้นได้ กิจการ 88 ก็คือกิจการโรงไฟฟ้าทุกชนิด โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวะมวล พลังงานแสงอาทิตย์ นิวเคลียร์ ขยะ ทำก๊าซทำน้ำมัน ท่อก๊าซก็อยู่ในหมวดนี้ ลำดับ 89 จะเกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ ผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าขยะ ส่วน 101 กำจัดน้ำเสีย สำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงโรงเผาขยะอันตราย (ขยะกากอุตสาหกรรมอันตราย) 105 คือบ่อฝังกลบขยะ และ 106 คือโรงงานรีไซเคิล รวมถึงการอัดแน่นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่รัฐบาลพูดถึง
////////////////////////////////////////