
ทุกซอกทุกมุมบนเนื้อที่ 2 ไร่นี้ถูกใช้ประโยชน์แทบทุกตารางนิ้ว โดยเฉพาะบ้านพักที่ปลูกกันเต็มพื้นที่ หลายหลังดูจะเป็นเพิงพักมากกว่า เพราะมุงสังกะสีแบบง่ายๆ พอกันแดดกันฝน สมาชิกหลายสิบครอบครัวอยู่กันอย่างแออัด โดยมีบ่อน้ำบาดาลเพียงแห่งเดียวเป็นที่พึ่งอยู่กลางชุมชน
ทั้งสองด้านของชุมชนมีกำแพงสูงของรีสอร์ทหรูขนาบข้าง เพราะผู้กั้นไม่ต้องการให้แขกที่มาพักอีกฟากหนึ่งเห็นทัศนียภาพ ‘สลัมบนเกาะ’ อันไม่พึงประสงค์สำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนด้านหลังหมู่บ้านติดเนินเขาซึ่งเดิมทีเคยเดินทะลุไปยังชายป่าได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้นายทุนใหญ่ที่เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งได้นำลวดหนามมากั้นไว้ เพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าไปเพ่นพ่านระหว่างที่เขากำลังใช้คนงานพม่าบุกรุกไถป่าในเขตอุทยาน
เมื่อเดินลัดเลาะตามตรอกเล็กๆ ของหมู่บ้านจนทะลุปากทาง ดูราวกับเป็นอีกโลกหนึ่ง…
หาดทรายขาวจั๊วะทอดตัวยาว น้ำทะเลใสแจ๋วไล่โทนสีจากอ่อนกลายเป็นน้ำเงินเข้มเมื่อสู่ระดับความลึก เรือเร็ว-เรือหาปลาดัดแปลงจอดกันเรียงราย เสียงตะโกนโหวกเหวกจากพนักงานรีสอร์ทดังเป็นระยะๆ เพื่อเรียกให้คนขับเรือมารับ-ส่งลูกค้าของตัวเอง ขณะที่เหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติสวมบิกินีเล่นน้ำเล่นทรายกันเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว ราวกับชายหาดบนเกาะแห่งนี้เป็นดั่งสรวงสวรรค์ของพวกเขา

ภาพของชุมชนชาวเลแหลมตง และบรรยากาศชายหาดบนเกาะพีพี อำเภออ่าวนาง จังหวัดกระบี่เสมือนโลกคนละใบในพื้นที่เดียวกัน
โลกใบหนึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านดั้งเดิมนับร้อยปีที่ต้องถูกบีบให้อยู่กินกันอย่างแออัดยัดเยียดจนแทบไม่มีที่ยืน กับโลกอีกใบที่เป็นแดนศิวิไลซ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเข้ามาใหม่เมื่อไม่กี่ทศวรรษ แต่สามารถสร้างรายได้และเม็ดเงินมหาศาลให้กับคนบางกลุ่ม กระทั่งแย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นไว้ในมือจนแทบหมดสิ้น ทำให้ชาวเลแทบไม่มีที่ซุกหัวนอนในบ้านเกิดของตัวเอง
“ยายไม่ค่อยได้เดินไปทะเล มันเดินไม่ไหว” ยายยามิ ชาวน้ำ แม่เฒ่าอูรักลาโว้ย นั่งซุกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของชุมชน แกไม่ค่อยได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกสักเท่าไหร่ เวลาส่วนใหญ่ของแกคือนั่งๆ นอนๆ อยู่ในเพิงพัก บ่อยครั้งที่แม่เฒ่ารู้สึกอึดอัดนอนไม่ค่อยหลับเพราะเป็นห่วงลูกหลาน กลัวว่าอนาคตพวกเขาจะไม่มีที่อยู่
นามสกุล ‘ชาวน้ำ’ ของแกบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์อยู่ในความหมาย เช่นเดียวกับนามสกุล ‘กล้าทะเล’ ‘หาญทะเล’ ‘ทะเลลึก’ ‘ช้างน้ำ’ ‘ประมงกิจ’ ซึ่งเป็นนามสกุลส่วนใหญ่ของชาวเล ทั้งมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย

“ถ้ามีปีกบินได้ ฉันก็คงบินไปแล้ว” ยายยามิมักพูดติดตลก แต่ในชีวิตจริงของแกกลับไม่ตลกเอาเสียเลย
แกเกิดและโตที่นี่ เช่นเดียวกับพ่อ ปู่ และบรรพบุรุษของคนในหมู่บ้านชาวเลแหลมตง ทุกคนเคยอยู่กันอย่างมีความสุข ทำมาหากินในทะเลได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องรบกวนธรรมชาติมากนัก ผืนดินยาวเหยียดบนหาดแหลมตงเคยเป็นของชาวเลทั้งหมด ซึ่งตั้งบ้านเรือนกันเป็นหย่อมๆ กระจายกันไป แม้เป็นเรือนหลังเล็กโย้ไปเย้มา แต่ก็อยู่กันอย่างอิ่มอุ่น แต่นั่นเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืน และแม่เฒ่าก็ไม่สามารถบินไปลงที่ไหนได้อีก เพราะทุกตารางนิ้วในอันดามันไม่เหลือพื้นที่ให้ดำรงวิถีชาวเลได้อีกต่อไป
“พอคิดถึงมันก็ได้แต่น้ำตาไหล ยายไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้” แม่เฒ่าจดจำอดีตได้เป็นอย่างดี แม้ผ่านมาแล้วกว่า 84 ปี
สมัยเด็กแกสนุกสนานกับการดำผุดดำว่ายในทะเลเช่นเดียวกับเด็กๆ ชาวเลทั่วไป ยุคนั้นผืนทรายแห่งนี้แทบไม่เคยมีรอยเท้าของคนนอก ที่ดินบนเกาะชาวบ้านต่างก็จับจองและแบ่งปันกันเองโดยไม่มีใครรู้จักคำว่า ‘เอกสารสิทธิ์’ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาใดๆ เพราะอยู่กันอย่างพี่ๆ น้องๆ และทุกคนต่างเป็นเครือญาติกันหมด
“เมื่อก่อนพ่อยายมีที่ดินหลายสิบไร่บนเกาะแห่งนี้ ต่อมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็มีคนมาขอซื้อ บางแปลงทางการเขาบอกว่าซื้อขายไม่ได้ คนซื้อก็มาทำสัญญาเช่าแล้วก็ยึดไปเลย” แม่เฒ่ารู้สึกเสียใจยิ่งเมื่อพูดถึงการสูญเสียที่ดินซึ่งแกและชาวเลส่วนใหญ่ที่เคยครอบครองที่ดินต่างก็เสียรู้ให้กับคนนอกพื้นที่
ชาวเลไม่นิยมสะสมเงินทอง มีเท่าไหร่ก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ พวกเขากินอยู่กันอย่างง่ายๆ เรียกได้ว่าหาเช้ากินค่ำจริงๆ เพราะในอดีตผืนทะเลไม่เคยมีเจ้าของ ความอุดมสมบูรณ์ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะอดอยาก สมัยก่อนเมื่อคนนอกรุกเข้ามา พวกเขาก็ถอยร่นไปหาที่อยู่ใหม่ตามเกาะต่างๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคที่ฝูงชนทะลักอันดามัน เขตแดนของทะเลและเกาะถูกลากเส้นตีกรอบจับจองเป็นเจ้าของทุกตารางนิ้ว ชาวเลจึงไม่เหลือพื้นที่ให้ถอยร่นต่อไปอีก
ชาวเลกว่า 40 ชุมชน ใน 5 จังหวัดอันดามัน กำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้าย เพราะไม่สามารถต่อสู้กับผู้รุกรานที่เข้ามาทุกด้าน แม้กระทั่งจิตวิญญาณ

“แปลงนู้น” ยายยามิชี้มือไปทางรีสอร์ทหรูแห่งหนึ่งที่อยู่สุดหาดเห็นเป็นปลายแหลมซึ่งกำลังคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว “นั่นน่ะ เคยเป็นที่ดินของยาย เราเอาไปจำนองเขาไว้ 30 ไร่ สมัยนั้นนักท่องเที่ยงเพิ่งเข้ามา ได้เงินมา 7,000 บาท ยายเอาไปซื้อทองเส้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้ยังอยู่เลย ส่วนเงินก็เอาไปเลี้ยงลูกหลานหมด พอเราไม่มีเงินไปไถ่ เขาก็เลยเอาเรือมาให้อีก 1 ลำ แล้วก็ยึดที่ดินไปหมด”
ที่ดินของครอบครัวแม่เฒ่าถูกขายต่อเป็นทอดๆ ราคาถูกปั่นสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีค่าหลายสิบล้าน เพราะมีทำเลงดงาม เช่นเดียวกับที่ดินของเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ที่ขายไปในราคาถูกแสนถูก ด้วยเล่ห์กลคล้ายๆ กันคือ ให้ยืมเงินหรือเอาข้าวของไปใช้ก่อน เมื่อไม่มีคืนก็ยึดเอาที่ดินไป
นักหลอกลวงหลายคนเข้ามาในชุมชนชาวเลครั้งแรกด้วยเสื่อผืนหมอนใบ และขออาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวเลไปก่อน จากนั้นค่อยๆ สร้างฐานะโดยใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือด้วยการเป็นนายหน้าซื้อขายปลากับคนเมือง เมื่อมีฐานะมากขึ้นก็ให้ชาวบ้านหยิบยืมแล้วยึดเอาที่ดินไป บางคนเป็นครู บางคนเป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่เจนจัดโลกมากกว่าและรู้ซึ้งถึงนิสัยของชาวเลที่หวาดเกรงคนเมือง ไม่อยากสุงสิงกับคนนอก กลายเป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ สุดท้ายที่ดินริมชายหาดบนเกาะต่างๆ จึงตกอยู่ในมือของคนเหล่านี้ ก่อนจะแปลงเป็นเอกสารสิทธิ์และผันเป็นเงินเข้ากระเป๋าในราคาสูงลิ่ว
ขณะที่โรงเรียนบ้านแหลมตงซึ่งชาวเลช่วยกันบริจาคที่ดินสร้างขึ้นเพื่อสนองพระราชดำรัสของในหลวงเมื่อครั้งเสด็จฯ มายังหมู่เกาะพีพีเมื่อปี 2515 ต้องถูกเบียดขับ เพราะรีสอร์ทและโรงแรมต่างรุกคืบทุกด้าน จนปิดเส้นทางเดินเข้า-ออกโรงเรียน ลูกหลายชาวอูรักลาโว้ยต้องเดินอ้อมไปไกลกว่าจะได้เรียนหนังสือ ทั้งๆ ที่ทรายทุกเม็ดที่ปูทางเป็นของบรรพบุรุษชาวเลที่ช่วยกันแผ้วถางไว้ แต่ยามนี้ลูกหลานของเขาต้องตกอยู่ในสภาพจนตรอก
“พ่อเคยสั่งเสียเอาไว้ให้ดูแลลูกหลานให้ดี แต่ยายก็ทำไม่ได้ ยายเสียใจมาก มันนอนไม่หลับแทบทุกคืน” แม่เฒ่ายามิต้องยกมือปาดน้ำตาอย่างไม่ได้ตั้งใจ “อยากได้บ้าน ได้ที่ดินคืน แต่จะไปพูดอย่างนั้นมันก็ไม่ดี เดี๋ยวเขาจะมองเหมือนเราเป็นขอทาน แต่มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
ชะตากรรมของแม่เฒ่ายามิและชาวเลในอันดามันอีกนับหมื่นชีวิตเป็นไปในลักษณะคล้ายๆ กันคือ ถูกเปลี่ยนฐานะจากเจ้าของผืนดินผืนน้ำให้กลายเป็นเพียงผู้อาศัยอย่างผิดกฎหมาย ในขณะที่การท่องเที่ยวในแถบนี้ฟูฟ่องจนติดอันดับโลก แต่ชาวเลกลายเป็นเพียงสินค้าตัวหนึ่งที่ทางการและภาคธุรกิจใช้ประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว
ไม่มีความมั่นคงใดๆ ในวิถีชีวิตของ ‘ยิปซีแห่งอันดามัน’ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลบางยุคเคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล แต่ในระดับปฏิบัติก็ยังไม่มีใครขยับ มติคณะรัฐมนตรีจึงกลายเป็นเพียงน้ำยาบ้วนปากของนักการเมืองในยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น
อีกไม่นานเรื่องราวของมนุษย์น้ำแห่งอันดามันคงเหลือเพียงแค่งานวิจัยและรายงานข่าวชิ้นเล็กๆ หรือสุดท้ายอาจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่คนรุ่นหลังนึกภาพตามไม่ออก
///////////////////////////
โดย ภาสกร จำลองราช
หมายเหตุ-ผมเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน แต่สถานการณ์ของชาวเลทุกวันนี้ยังคงถูกรุกรานอย่างหนักหน่วง นอกจากชาวเลในชุมชนราไวย์แล้ว ยังชาวเลอีกมากมายที่กำลังเผชิญความเดือดร้อน
1.ยายยามิ ชาวน้ำ 2.ชายหาดแหลมตง แปรสภาพเพื่อรับใช้นักท่องเที่ยว 3.บันทึกของโรงเรียน4.สภาพชุมชนชาวเลแหลมตงซึ่งอยู่กันอย่างแออัด
/////////////////////////
ภาสกร จำลองราช
——