เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตรเปิดเผยว่า วันนี้ตนและชาวบ้านได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพิจิตร เพื่อขอให้รัฐบาลโดยเฉพาะ กรมการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณายุติการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ บริษัทอัคราไมนิ่ง รีสอร์ทเซส ฯ ยื่นขอ โดยใบอนุญาตเดิมที่บริษัทใช้อยู่ในขณะนี้นั้นจะหมดอายุลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 นี้ แต่ทราบมาว่าบริษัทยื่นขอต่อใบอนุญาตอีก จึงต้องเร่งทำหนังสือคัดค้าน โดยเดิมทีนั้นตนจะเดินทางมายื่นหนังสือที่ สำนักงาน กพร.กรุงเทพฯ ในเช้าวันนี้ แต่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทั้งตำรวจและทหาร ในและนอกเครื่องแบบ ได้เข้ามาเจรจาและสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองเดินทางมายังกรุงเทพฯ และขอเปิดเวทีเล็กคุยกันภายในบ้านของตนแทน
นางสาวสื่อกัญญากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เสนอแนะให้ตนและชาวบ้านรายอื่นที่ต้องการคัดค้านใบอนุญาตฯ ได้ยื่นหนังสือเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ไปเจรจากับตนและตัวแทนชาวบ้านตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้ (29 กุมภาพันธ์) และเช้าวันนี้อีก โดยอ้างว่า การเดินทางเข้า กทม.ของชาวบ้านเพื่อรวมตัวกันที่ กพร.อาจเป็นการทำผิด พระราชบัญญัติ (พรบ.) การชุมนุมสาธารณะ
“ เราไม่ได้ต้องการคุยกับจังหวัดนะ เรื่องนี้ศาลตัดสินตั้งนานแล้วว่า บริษัทนั้นส่งผลกระทบต่อพวกเรา ดังนั้นหากบริษัทจะดำเนินการขอต่อใบอนุญาตก็ย่อมทำไม่ได้ อีกอย่าง กพร.เองควรจะเพิกถอนใบอนุญาตปัจจุบันตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ แต่กลับไม่ดำเนินการ ชาวบ้านที่เจ็บป่วยก็นอนป่วยอย่างนั้น หาที่พึ่งไม่ได้” นางสาวสื่อกัญญา กล่าว
ด้านนางอารมณ์ คำจริง ตัวแทนชาวบ้านคัดค้านเหมืองทอง กล่าวว่า เรื่องการต่อต้านเหมืองของชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลปิดกั้นการต่อสู้มาโดยตลอด ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่อย่างไม่มีความหวังและต่อสู้รายวัน ต้องคอยสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ราชการ และเจ้าหน้าที่เหมือง เข้ามาทำอะไรบ้าง คำตอบที่เคยเรียกร้องไป เช่น ขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองทองคำทุกแห่ง ยกเลิกประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ และคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำโดยทันที นอกจากนี้ต้องตรวจและรักษาสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกด้านอย่างละเอียดในทันทีและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง ก็ยังไม่มีการตอบรับอย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวังรายวัน
นางอารมณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากข้อเสนอดังกล่าวแล้วรัฐบาลต้องยกเลิกพระราชบัญญัติ (พรบ.) แร่ พ.ศ.2510 และยกเลิกร่างแก้ พ.ร.บ.แร่ที่อยู่ระหว่างหรือผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกฉบับ เพราะนอกจากจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่สร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนแล้ว ยังจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อดิน น้ำ ป่า สุขภาวะของชุมชน รวมถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ และที่สำคัญต้องอย่าลืมเยียวยาคนที่เจ็บป่วยด้วย
————