“ผมจะบอกตรงๆว่าชีวิตของคนกะเหรี่ยงนะ มันลำบากมาตลอดแหละ ถ้าคุณขัดขืน หรือแย้งคำสั่งรัฐ จริงๆแล้วความวุ่นวายในป่าเกิดเมื่อฝรั่งเขามาไล่ ไทย ส่วนไทยมาไล่กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงอยู่ไม่ได้ก็ไล่เสือ เสือไล่กวาง กวางไล่สัตว์เล็ก สัตว์น้อย เราต้องไปเบียดที่อยู่สัตว์เพราะเราโดนไล่ไง ถ้าเราไม่โดนไล่เราก็คงไม่ต้องเบียดเบียนเขา สมัยโบราณผมล่าสัตว์ล่าแค่ลิง กระต่าย กระรอกมากิน สัตว์ใหญ่อย่างเสือ กระทิง ช้าง เราไม่ฆ่า ไม่ยุ่งหรอกเขาอยู่มาก่อนเรา เราจะไปยุ่งกับเขาทำไม เขาแพร่พันธุ์ยากด้วยแหละ เราก็อยู่กับเขา อยู่สบายๆนะ ไม่มีอะไรเดือดร้อน แต่ระยะหลังเราไม่มีที่อยู่ไง ตอนคอมมิวนิสต์มา ทหารเขาก็เข้ามา บางคนมาเฮลิคอปเตอร์ บางคนก็มาไล่เราบอกว่าเราเป็นพม่า เราต้องดิ้นหนี วิ่งเข้าป่าไป อดอยาก กัน แต่เราก็ไม่ฆ่าสัตว์ใหญ่ เพราะเราอยากให้เขารอดไปพร้อมกับเรา แต่มันเปลี่ยนเมื่อเขาประกาศเขตป่าสงวนปุ๊บ เราก็ถึงคราวเคราะห์แหละ ป่าสงวนคือเขาสงวนสัตว์ อย่างเสือ กระทิงไว้นะ แต่เขาไม่สงวนกะเหรี่ยง ใครจะสงวนเราหรอ ..ไม่มีหรอกคนมาสงวนเรา หนังกะเหรี่ยงไม่มีราคาเหมือนหนังเสือละสิ ใช่ไหมล่ะ “ ป๊ะซ้อง จำรัสไตรภพ กะเหรี่ยงบ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ เล่าด้วยอารมณ์ขันหลังใช้ชีวิตในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมานานกว่า 70 ปี
ผู้เฒ่ากะเหรี่ยงรายนี้ อธิบายอย่างชัดเจนว่า ความเปลี่ยนแปลงของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเกิดขึ้นเมื่อมีชาติตะวันตกเข้ามาสัมปทาน และเกิดยุคคอมมิวนิสต์ครองประเทศ จากนั้นก็เริ่มมีข้าราชการต่างๆ ในประเทศไทยเข้ามาล่าสัตว์ กะเหรี่ยงบางคนรักสัตว์ พยายามจะรักษาชีวิตสัตว์ใหญ่ไว้ แต่ไม่เป็นผล เพราะกลุ่มนักล่าสัตว์ส่วนมากมีปืน มีอาวุธ ครั้นพอสิ้นสุดสงครามร้อน ป่าทุ่งใหญ่ก็ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ช่วงนั้นชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่ก็เกรงกลัวอำนาจรัฐ บางคนถูกสั่งให้ย้ายบ้านก็ย้าย แต่บางคนก็ไม่ย้าย ตั้งใจทำมาหากินต่อไปแม้จะต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ก็ตาม
“รู้สึกระยะหลังเขาก็ยอมๆ เรานะ ใครไป ใครมา เราก็บอก ก็พูดว่าเราเป็นคนป่า เราต้องอยู่กับน้ำ กับป่า กับสัตว์ป่า เราพึ่งเขา เขาพึ่งเรา” ผู้เฒ่าย้ำถึงความผูกพันระหว่างกะเหรี่ยงกับสัตว์ป่าตรงไปตรงมา
ต่อมาเมื่อป่าทุ่งใหญ่นเรศวร–ห้วยขาแข้ง ถูกประกาศเป็นมรดกโลก ชุมชนตำบลไล่โว่ก็เริ่มติดตามกระบวนการทำงานของรัฐ พร้อมประสานความร่วมมือกับองค์การพัฒนาเอกชน เพื่อดำเนินการจัดประมวลข้อมูลชาติพันธุ์ทั้งด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ เพื่อเป็นส่วนต่อรองให้ทางการไม่ย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ภายหลังการประกาศเป็นมรดกโลก ฯ ซึ่งต่อมาเกิดเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.ไล่โว่ ) ฯ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีทั้งงานวิชาการเกี่ยวกับการรักษาวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชาวไล่โว่ แผนการจัดการทรัพยากร รวมทั้งมีกิจกรรมประเพณีประจำปีเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ด้านต่างๆ สู่สังคมภายนอกด้วย โดยเฉพาะความมั่นคงทางการดำรงชีวิตที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า ที่ลดข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้านได้ดี และถือเป็นตัวอย่างการจัดการที่หลายฝ่ายให้การยอมรับ
สำหรับชาวกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ เรื่องการอยู่กับป่าไม่ใช่เรื่องยาก เย็น หรือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอะไรมากนัก สุวรรณ โชคศรีเจริญ อดีตผู้ใหญ่บ้านเกาะสะเดิ่ง อีกหนึ่งหมู่บ้านที่ทำไร่หมุนเวียนวงรอบ 7 ปี ในป่าทุ่งใหญ่ เล่าว่า บ้านเกาะสะเดิ่ง ตั้งอยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ แต่มีการจัดการที่ดินอย่างลงตัวทั้งปลูกหมาก ปลูกข้าว ปลูกถั่ว ฯลฯ สารพัดเพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงของชุมชนโดยประชากรรุ่นเก่าจะนิยมทำการเกษตรกันอยู่และมีการพัฒนาระบบน้ำ ป่า อย่างลงตัว เน้นเก็บของป่าตามฤดูกาล แต่คนรุ่นใหม่จะจากบ้านเกิดไปทำงานที่ในเมืองแล้ว ดังนั้นพื้นที่ทำกินในหมู่บ้านจึงไม่มีการขยาย บ้านเกาะสะเดิ่งจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องคดีความด้านการบุกรุกป่าไม้
ด้วยประสบการณ์การจัดการป่ามรดกโลกในแบบป่าทุ่งใหญ่ ฯ มานานกว่า 25 ปี ทำให้ป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ ดูเหมือนว่าประเด็นดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับหน่วยงานราชการได้ลองปฏิบัติดู ในหลายพื้นที่ ทว่าในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบางพื้นที่ยังมีความขัดแย้งเรื่องที่ดิน เรื่องป่ากันอยู่ อาทิ กรณีชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีนั้น ชีวิตจริงของกะเหรี่ยงในพื้นที่กลับเผชิญกับปัญหามากมายที่ยากต่อการแก้ ทั้งเรื่องพื้นที่ทำกินไม่พอ ทางราชการไม่อนุญาตให้ทำไร่หมุนเวียน และมีบางรายถูกดำเนินคดีข้อหา หาของป่าต้องห้ามจากอุทยาน ซึ่งกรณีที่สะเทือนสังคมที่สุด คือ เรื่องของบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหามีน้ำผึ้งป่าในครอบครอง จากนั้นหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ปัญหาด้านที่ทำกินของกะเหรี่ยงโป่งลึก- บางกลอย ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งผืนป่าแก่งกระจานกำลังอยู๋ในระหว่างการยืนขอประกาศการเป็นมรดกโลกอีกด้วย
นโยบายดังกล่าวของประเทศไทย ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคตะวันตกหลายแห่งกังวลกับแนวทางการจัดการผืนป่า ในฐานะอนาคตป่ามรดกโลก จึงลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวกะเหรี่ยงป่าทุ่งใหญ่ฯ ผ่านการสนับสนุนโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources หรือ The World Conservation Congress : IUCN) ,ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อธิบายว่า การจะประกาศป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกนั้นไม่ได้มีเครือข่ายกะเหรี่ยงต่อต้านหรือคัดค้าน แต่ประเด็นสำคัญคือหากประกาศแล้วการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรควรจะเป็นไปอย่างไร ดังนั้นนับเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้จากชุมชนที่อยู่ในป่าทุ่งใหญ่ ฯ เพราะกะเหรี่ยงทุกที่มีวิถีชีวิตไม่ต่างกัน อย่างกรณีการทำไร่หมุนเวียนนั้นก็คล้ายกันทุกที่ แต่อาจต่างกันตามรอบปี ซึ่งป่าทุ่งใหญ่มีการรวบรวมข้อมูลและศึกษาวิจัยพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อการอนุญาตให้พื้นที่ทำกินในเขตป่าแก่ชาวบ้านและไม่ต้องโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่กรณีป่าแก่งกระจานนั้นยังไม่มีการกล่าวถึงนโยบายใดชัดเจน
สุรพงษ์ ยังแสดงทัศนะด้วยว่า คนกะเหรี่ยงมักเปรียบเปรยตนเองเป็นคนบ้านป่าอาศัยอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาป่าไม้ ไม่ต่างไปจากลิงหรือค่าง ชุมชนกะเหรี่ยงแม้ไม่มีความสะดวก สบาย ทางด้านวัตถุแต่ถือว่ามีความเจริญทางด้านจิตใจ เพราะเน้นตระหนักในบาปบุญคุณโทษ การมีคุณธรรมเคารพในธรรมชาติ และสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวพร้อมกับการเรียนรู้ เพราะคิดว่า ต้นไม้ สายน้ำ ภูเขา แผ่นดิน แผ่นฟ้า ต่างเป็นครูให้กับมนุษย์และไม่อาจแยกย้ายความสัมพันธ์ออกจากกันได้
“กะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียน มานานแล้วอดีตความผูกพันระหว่างชาวกะเหรี่ยงและเสือ และช้าง ส่วนมากมีการจัดสรรกันมานานแล้ว ระยะหลังการจัดการของรัฐต่างหากที่ก่อเกิดปัญหา เช่น กรณีที่กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ถูกย้ายชุมชนจากแหล่งต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ คือ บางกลอยบน มาสู่ชุมชนใหม่ เป็นบางกลอยล่างและส่งผลกระทบด้านพื้นที่ทำกินในปัจจุบัน ซึ่งชาวบางกลอยเองก็ต้องแบกรับปัญหามาตลอด” สุรพงษ์ ยกตัวอย่าง
กองไฟกลางป่าทุ่งใหญ่ ฯ บางช่วงที่เริ่มมอดลง ในตอนสายของวัน ที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างกะเหรี่ยงป่าทุ่งใหญ่ฯ และกะเหรี่ยงแก่งกระจาน “ พิณนภา พฤกษาพรรณ” ยังคงนั่งคิดวกวน เรื่องราวของการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องกะเหรี่ยงในบ้านโป่งลึก-บางกลอยเสมอ
บางครั้งเธอก็ยิ้มแห้งๆ แล้วอธิบายสั้นๆว่า ในโลกของความเป็นจริงข้อเสนอของชาวบ้านบางกลอยตั้งแต่สมัย “บิลลี่” สามีของเธอได้นำเสนอต่อส่วนราชการเมื่อครั้งยังอยู่ต่อสู้เพื่อกะเหรี่ยงในพื้นที่ ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐเลยสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของการขอกลับเข้าไปอยู่บนแผ่นดินเดิมที่เคยทำกิน และแม้กระทั่งภายหลังสามีหายตัวไปข้อเสนอเรื่องการเพิ่มพื้นที่เพื่อทำไร่หมุนเวียนสำหรับเลี้ยงชีพก็ยังไม่มีการจัดสรรให้ วันนี้สิ่งที่ชาวบ้านบางกลอยได้รับ คือ ที่ดินบางส่วนที่ไกลแหล่งน้ำและที่ดินที่อุทยานฯ แบ่งมาจากบ้านโป่งลึก ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันทุกปี ส่วยตัวจึงอยากให้การประกาศป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในอนาคตเป็นไปด้วยความยุติธรรมกับพี่น้องชนผ่ากะเหรี่ยงมากที่สุด เพราะหลังจากย้ายบ้านจากบางกลอยบนมาสู่ที่อยู่ปัจจุบัน กะเหรี่ยงบางกลอยอยู่อย่างไม่มีตัวตน
ปัญหาที่พิณนภา กล่าวถึงข้างต้น ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก้ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) หลายครั้งและได้เรียกร้องให้ยูเนสโก้วิเคราะห์เชิงลึก กรณีปัญหาที่ทำกินของชาวบ้าน และสิทธิด้านสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีของกะเหรี่ยงหลายประเด็น ก่อนการประกาศเป็นมรดกโลก ตามข้อเสนอของประเทศไทย ซึ่งยูเนสโก้ได้เสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาอย่างละเอียด ก่อนจะส่งเข้าคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้งกลางปี 2559 ที่ประเทศตุรกี
ไม่ว่าชาวบ้านจะร้องเรียนหรือเสนอเงื่อนไขใดก็ตาม ทว่า กมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยังยืนยันว่า วันนี้เราไม่มีกฎหมายหรือเงื่อนไขพิเศษใดเขียนไว้ว่าให้ทำไร่หมุนเวียนได้ แต่มีข้อกฎหมายเขียนไว้ว่า ห้ามบุกรุกเข้าแผ้วถางป่า ประเด็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและกระชับมาก ที่ส่วนราชการต้องการให้มีการอนุรักษ์ป่า เราเข้าใจดีว่ามีคนอาศัยในเขตป่า แต่ภายหลังมีการประกาศ มีมติคณะรัฐมนตรี มิถุนายน 2541 ระบุว่า ถ้าประชาชนทำกินก่อน 30 มิถุนายน 2541 รัฐมีคำสั่งชัดเจนว่าให้ย้ายออกมา แต่ใครกินแล้วเราก็ผ่อนผันให้มีการกันแนวทำกินให้ชัดเจน อย่าให้มีการขยายพื้นที่ต่ออีก ซึ่งเราในฐานะผู้อนุรักษ์ต้องทำตาม ดังนั้นตนขอเสนอว่า ถ้าสมมติมีที่แค่15 ไร่ในชุมชน ท่านก็หมุนทีละ5ไร่ เป็นต้น ซึ่งกรณีแก่งกระจานแนะนำว่าให้ไปสำรวจมาแล้วมาเสนออุทยานฯอีกครั้ง แล้วค่อยมาคุยกัน
แน่นอนว่าการประกาศมรดกโลกเป็นดั่งการประกาศเกียรติคุณด้านการอนุรักษ์ป่า สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทว่าหากเกียรติคุณนั้น ไม่ได้ก่อประโยชน์กับชุมชน เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าแล้วชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะหันไปพึ่งพาใคร ทางที่ดีหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน น่าจะลองเปิดใจศึกษาประสบการณ์เรียนรู้จากป่าทุ่งใหญ่ อย่างจริงจังเสียที