
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมวี โฮเต็ล คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดสัมมนาวันสตรีสากล ประจำปี 2559 พร้อมมอบประกาศเกียรติยศนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้หญิงปกป้องสิทธิชุมชนจากการทำเหมือง จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำภอวังสะพุง จังหวัดเลย ,กลุ่มผู้หญิงสู้ชีวิต ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิจากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์ ,นางอัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกอุ้มหาย โดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศต่างๆ อาทิ สวีเดน อเมริกา และประชาชนจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมงาน

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กล่าวปาฐกถา ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน : การขับเคลื่อนในสังคมไทย ความว่า ผู้หญิงมีบทบาทในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ทั้งเรื่องความยุติธรรม ประชาธิปไตย การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด แต่ผู้หญิงสามัญชนไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ประเทศไทย อีกทั้งการทำงานยังเต็มไปด้วยปัญหา โดยผู้หญิงต้องเผชิญความเสี่ยงเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งยังถูกท้าทายจากขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ทั้งยังต้องเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูก มีภาระมากกว่านักสิทธิมนุษยชนชาย

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ผู้หญิงยังถูกใช้เพศสภาพในสถานการณ์ความขัดแย้ง ถูกผลักดันให้อยู่แนวหน้าเมื่อต้องเผชิญหน้ากัน แต่ผู้หญิงไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองในทางการเมืองได้ การมอบรางวัลนี้จึงเป็นความพยายามที่จะขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น พวกเขาเหล่านี้บางคนเป็นคนเล็กที่อาศัยอยู่ในชนบท หลายครั้งถูกคุกคาม แต่ยังทำงานหนักเพื่อหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย และความถูกต้อง ทั้งนี้เมื่อช่วง 2-3ปีที่ผ่านมารัฐไทย โดยกระทรวงยุติธรรม พยายามแสวงหาแนวทางปกป้องนักสิทธิมนุษยชนสตรี โดยให้ลงทะเบียนเรียบเรียงรายชื่อเพื่อได้ติดตามคุ้มครอง แต่นักปกป้องสิทธิเองรวมทั้งอนุกรรมการด้านสิทธิสตรียังไม่สามารถตัดสินใจยอมรับนโยบายได้ เพราะเกรงว่าถ้ารายชื่อถูกเปิดเผยอาจมีเสี่ยงถูกคุกคามมากขึ้น เหมือนเป็นการชี้เป้าว่าใครบ้างที่เคลื่อนไหวด้านดังกล่าว ดังนั้นจึงยังไม่แน่ใจว่าแนวทางที่กระทรวงยุติธรรมเสนอจะยอมรับได้ไหม ขณะนี้สถานการณ์ผู้หญิงที่ทำงานต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ยังถูกจำกัดเสรีภาพ คุกคามด้วยวาจา และไม่มีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกนโยบายด้านสิทธิทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ซึ่งกรณีแนวทางการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนสตรีนั้นขอเสนอว่าให้รัฐบาลไทยไปศึกษาจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อออกแบบใช้กับประเทศไทย ” นางอังคณา กล่าว
ขณะที่นางรจนา กองแสง ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณ กล่าวว่า เมื่อก่อนทำมาหากิน ทำไร่ ทำนา เป็นเกษตรกร ใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่เมื่อปีพ.ศ.2549 มีการเปิดทำเหมืองทองขึ้นในพื้นที่ ช่วงแรกๆดีใจว่าจะมีงานทำ แต่พอเหมืองเปิดแล้วกับมีเสียงเครื่องจักรตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติของเรา ทำให้ต้องรวมตัวกับชาวบ้านคนอื่นๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของเรา ซึ่งตลอดเวลาของการลุกขึ้นมาต่อสู้ ถูกข่มขู่เอาชีวิต ถูกใช้ความรุนแรงต่างๆนาๆ บางครั้งต้องหนีไปอยู่ที่อื่น ทั้งยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกเงินหลายร้อยล้านบาท
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผู้หญิงในกลุ่มไม่ได้ย่อท้อต่อการเผชิญหน้า ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นกำลังสำคัญเดินหน้าปกป้องทรัพยากรของชุมชน เพราะคิดว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาเราเป็นกลุ่มคนที่ออกหน้าและลุกขึ้นมาต่อสู้ มีคนกล่าวหาว่าเราขัดขวางการพัฒนา แต่ไม่ใช่เลย เราลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องภูเขา ปกป้องป่าไม้ ที่เป็นคุณค่าของการรักษาธรรมชาติให้ยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ขอมอบรางวัลนี้ให้กับพี่น้องทุกคนที่ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของเรา” นางรจนา กล่าว
นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ กล่าวว่า เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กอาศัยอยู่ในป่ากับพ่อแม่ จนเมื่อปี 2537 ถูกย้ายลงมาอยู่ที่บ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก่อนมารู้จักกับพี่บิลลี่ ที่เข้ามาช่วยทำบัตรประชาชน กระทั่งได้มาอยู่ด้วยกัน และมีลูกด้วย 5 คน ก่อนที่พี่บิลลี่ จะหายไปพร้อมน้ำผึ้งป่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับตัวไป ทำให้ตนต้องออกมาเรียกร้องและเคลื่อนไหว เพื่อตามหาตัวพี่บิลลี่ ที่หายไป
“ตอนนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในคดีของพี่บิลลี่ อย่างไรก็ตามตนจะตามหาความจริงในเรื่องของพี่บิลลี่ต่อไป และเรียกร้องความยุติธรรมให้พี่เขาและครอบครัวของเรา แม้จะกลัวเมื่อมีคนข่มขู่ และมีคนมาเตือนว่ากลัวจะได้รับอันตราย หรือถูกทำให้หายไปเหมือนพี่บิลลี่ แต่ตนคิดว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ทั้งนี้แม้ตนจะเป็นแม่เลี้ยงเดี๋ยวที่ต้องเลี้ยงลูก 5 คน แต่ตนยังแบ่งหน้าที่เพื่อเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ให้แก่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตามเจตนารมณ์ของพี่บิลลี่” นางสาวพิณนภา กล่าว
////////////////////