Search

เปิดแผนพลังงาน2ล้านล. พม่าอนุมัติไทยเจาะแหล่งก๊าซ-โรงไฟฟ้า

“อารักษ์” กางนโยบายจัดระเบียบพลังงานหนุนแผนลงทุนรัฐและเอกชนกว่า 2 ล้านล้านบาท กระตุ้น ปตท.เร่งขยายเทอร์มินอลคลังแก๊สเขาบ่อยาเฟส 2 พม่าไฟเขียว 2 ส่วน เปิดทาง “ปตท.สผ.” ลุยขุดเจาะแหล่งก๊าซใหม่ในเนย์ปิดอว์ 1.5 หมื่น ตร.กม. และ “กฟผ.” ได้โปรเจ็กต์ลงทุน 1 หมื่นล้านดอลล์ ผลิตไฟฟ้าฮัดจี-มายตง 7,600 เมกะวัตต์ ปัดฝุ่นโครงการในประเทศ รื้อบัตรพลังงานยึด “แคปิตอล โอเค” เป็นต้นแบบความสำเร็จ และปรับใหญ่โครงสร้างแก๊สแอลพีจี

นาย อารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายขับเคลื่อนด้านพลังงานทั้งระบบของประเทศช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อมโยงเข้ากับการปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 3 (PDP 2010) ผูกพันกับการลงทุนมูลค่า 5 ปีข้างหน้า ของทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท เฉพาะรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรก น้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของเครือ ปตท. ตามแผนระยะยาวจะลงทุนต่อเนื่องปี 2555-2559 เกือบ 1 ล้านบาท และล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังอนุมัติให้ศึกษาการลงทุนขยายเทอร์มินอลเฟส 2 คลังก๊าซเขาบ่อยา อำเภอศรีราชา เพื่อเชื่อมโยงโลจิสติกส์นำเข้าและส่งออกเชื้อเพลิง โครงการนี้เมื่อศึกษาแล้วพร้อมลงทุนจะต้องใช้เงินอีกหลายแสนล้านบาท

กลุ่มสอง พลังงานไฟฟ้า ตามแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงรอบ 3 เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้แก้ไขปัญหาระยะสั้นด้านความมั่นคงทางพลังงานช่วงปี 2554-2562 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าพยากรณ์เดิม และแนวโน้มจะสูงต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ก่อสร้างล่าช้า แต่มีความจำเป็นจะต้องลงทุนรวมอีกนับล้านล้านบาท เช่นกัน โดยทั้งปรับเพิ่มและลดโรงไฟฟ้าบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังต้องบรรจุไว้ในแผนแต่ลดจำนวนลงเหลือเพียง 2 โรง กำลังการผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 4 โรง 4,000 เมกะวัตต์ และปรับเพิ่มพลังงานอื่นเข้ามาเสริมอีกทางกลุ่มสาม พลังงานทดแทน ภายใน 10 ปี เพิ่มสัดส่วน 25% จากเป้าหมายเดิมตั้งไว้เพียง 20% ปัจจุบันการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ที่สนใจเข้ามาพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า (solar cell) มากที่สุด มูลค่าการลงทุนที่กำลังทยอยดำเนินการอยู่ขณะนี้ รวมทั่วประเทศกำหนดไว้กว่า 2,800 เมกะวัตต์ ใช้เงินมหาศาล รวมทุกโครงการแล้วเกือบ แสนล้านบาท

“ปัจจุบันประเทศต้องนำเข้าวัตถุ ดิบเชื้อเพลิงปีละกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ทั้งที่ไทยสามารถผลิตก๊าซจากอ่าวไทยได้ แต่ก็ต้องนำเข้าเพิ่มถึง 40% แต่ราคาขายเชื้อเพลิงพลังงานบางชนิดกลับต้องนำเงินเข้าไปอุดหนุนมาตลอดอย่าง แก๊ส ส่วนดีเซลเพิ่งจะปล่อยลอยตัวเมื่อไม่นานนี้ และความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มสูงขึ้น หากสูงเหมือนเดือนเมษายน 2555 เกิน 26,000 เมกะวัตต์/วัน อนาคตอาจจะเพิ่มมากกว่านี้ก็ได้ จึงต้องเตรียมรับสถานการณ์เพราะมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงาน จากปัจจุบันโรงไฟฟ้าทั่วโลกใช้วัตถุดิบแก๊ส 70% ถ่านหิน 20% พลังน้ำ 10% ส่วนไทยมีแนวทางชัดเจนในอนาคต มุ่งทำโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ เพราะปริมาณยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก มีอายุนาน ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าวัตถุดิบชนิดอื่น”

ล่าสุด รัฐบาลไทยกับพม่าได้ตกลงร่วมกัน เรื่องการเป็นภาคีพันธมิตรขุดเจาะหาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติร่วมกัน เมื่อเดือนมิถุนายนรัฐบาลพม่าอนุมัติให้ไทยสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติในเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงพม่า รัศมีพื้นที่ขุดเจาะได้ 15,000 ตร.กม. โดยได้ส่งบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) เข้าไปดำเนินการบ้างแล้ว

ส่วน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับสิทธิ์จากพม่าให้เข้าไปพัฒนาการลงทุนกว่า 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3 แสนล้านบาท) เพื่อผลิตไฟฟ้า 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 7,600 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการฮัดจี และมายตง อยู่ในแถบลุ่มน้ำสาละวิน

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานกล่าวว่า สำหรับโครงการเดินหน้านำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาขึ้นมาใช้ ประโยชน์ร่วมกันนั้น ข้อตกลงร่วมมือความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) ที่เคยทำไว้เดิม ยังอยู่ปกติ และรัฐบาลกัมพูชาโดยนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีพร้อมจะให้ไทยเข้าไปดำเนินการ เพียงแต่ตอนนี้หากจะเริ่มทำได้ทั้ง 2 ประเทศต้องกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์อย่างชัดเจน โดยจะต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากไทยช้า ขณะนี้ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี พร้อมที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับกัมพูชา เพื่อนำก๊าซดังกล่าวขึ้นมาใช้ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังขาดแคลน

นาย อารักษ์กล่าวว่า นอกจากผลักดันและสนับสนุนแผนลงทุนขยายโครงการทางพลังงานแล้ว ภายในปีนี้ต้องเร่งทำโครงการกระตุ้นผู้ใช้พลังงานในประเทศใช้อย่างมี ประสิทธิภาพทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคขนส่งกำลังทำเต็มที่เรื่องจัดระเบียบปรับปรุงบัตรเครดิตพลังงานใหม่ โดยจะนำต้นแบบของบัตรเครดิตแคปิตอล โอเคเป็นโมเดล เพราะมีประสบการณ์และทำจนสำเร็จมาแล้ว ส่วนวิธีการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไปจะกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย จะกระจายให้ผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะทุกประเภท ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ รถตู้ รถแท็กซี่

ส่วนสถานีบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง จะดึงผู้ขายทุกแบรนด์เข้ามาร่วมเพื่อความสะดวกของผู้ใช้ เพิ่มช่องทางการชำระเงิน โดยวงเงินที่จะให้ใช้ก็ตามความจำเป็นจริง และให้สิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรต้องการใช้จริง ๆ สร้างแรงจูงใจด้วยรางวัลหรือสิทธิพิเศษ (incentive) เช่น ผู้ที่ชำระเงินคืนตรงเวลา จะให้ยืมเครดิตล่วงหน้าของเดือนต่อไปได้ แตกต่างจากก่อนหน้าให้สิทธิ์เฉพาะรถแท็กซี่และเติมน้ำมันได้กับปั๊ม ปตท.เท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับความสนใจและไม่ประสบความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาทที่ต้องการ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยอย่างจริงจัง

จากนั้นก็จะหันไปปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยลอยตัวราคาขึ้นแบบขั้นบันได กลุ่มเป้าหมายหลักคือแก๊สแอลพีจี ซึ่งใช้สำหรับหุงต้มแต่นำมาใช้ภาคขนส่ง ซึ่งรัฐต้องแบกรับภาระโดยนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนจน ติดลบอยู่กว่า 20,000 ล้านบาท แถมยังเป็นการอุ้มผู้ใช้กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ถึงเวลาที่กระทรวงจึงต้องทำโครงสร้างราคาขายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้ จริงภายในสิ้นปีนี้ เพื่อทำให้กองทุนกลับมามีสภาพเป็นบวกปกติ

นาย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดทำแผนลงทุนระยะยาว 5 ปี ของกลุ่ม ปตท. โดยรวมทั้งหมดระหว่างปี 2555-2559 ประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะ ปตท.สผ.ต้องใช้ถึง 3.6 แสนล้านบาท ในการแสวงหาแหล่งพลังงานมาเพิ่มเติมให้กับประเทศ พร้อมกับตั้งเป้าหมายการจัดหาพลังงานนับจากวันนี้ไปจนถึงสิ้นสุดปี 2563 ปตท.จะต้องจัดหามาให้ได้ถึง 50% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งประเทศ แบ่งเป็น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 9 แสนบาร์เรล/วัน ถ่านหินและพลังงานทดแทน 5.51 แสนบาร์เรล/วัน

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ อนุมัติจากคณะกรรมการ กฟผ. ตามแผนการปรับปรุงระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าปี 2555-2557 เพื่อใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพสายส่งไฟฟ้า รองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่เข้าระบบของ กฟผ. สอดคล้องกับแผน PDP 2010 กำหนดสัดส่วนให้รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่เกิน 25% โดยรัฐบาลไทยกับลาวทำเอ็มโอยู ขายไฟให้ไทยเพิ่มภายในปี 2558 เป็น 7,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 3,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กฟผ.ได้จัดทำแผน 5 ปี ระหว่าง 2555-2559 จะใช้เงินลงทุนรวม 449,573 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2555 จำนวน 88,635 ล้านบาท โดยมีแผนใช้เงิน 20,000 ล้านบาท ก่อสร้างโครงการก่อสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา ระยะที่ 2 การปรับปรุงและซ่อมแซมระบบสายส่ง และลงทุนอีก 40,000 ล้านบาท พัฒนาไฟฟ้าจะนะ ชุด 2 กับโรงไฟฟ้าวังน้อยชุด 4 จากนั้นปี 2556 จะลงทุน 104,094 ล้านบาท ปี 2557 ลงทุน 117,310 ล้านบาท ปี 2559 ลงทุน 139,534 ล้านบาท ภายใต้การเป้าหมาย 5 ปี จนถึงปี 2559 จะมีกำไรเฉลี่ยปีละ 49,603 ล้านบาท

 

 

 

(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 28 มิถุนายน 2555)

 

 

 

 

 

 

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →