สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

คราบน้ำตาชาวเหลีเป๊ะ-ราไวย์ กับปมที่ดินที่ไม่มีตอนจบ

DSC01639

เมื่อฤดูร้อนของประเทศไทยเริ่มขึ้นอีกครั้ง นักท่องเที่ยวคงวางแผนเที่ยวทะเลดับร้อนกันในหลายที่ การเลือกแหล่งพักกาย พักใจสำหรับคนภายนอกเกาะ คงแสวงหาไม่ยาก ทว่า สำหรับคนในเกาะอย่างชาวเล ที่ได้ชื่อว่าผู้บุกเบิกเกาะแห่งอันดามันแล้ว การวางแผนชีวิตเพื่อวันนี้และพรุ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่อย่างวิถีเรียบง่าย สงบสุขเท่านั้น แต่ยังต้องแบ่งเวลาจากการหาเลี้ยงชีพรายวัน เพื่อต่อสู้ทวงคืนสิทธิที่ดิน ที่ทำกินจากทุนใหญ่ด้วย

เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมนี้ มรสุมชีวิตชาวเลอันดามันมีประเด็นร้อนปะทุขึ้นมาสองที่ คือ 1ชาวเลแห่งชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ถูกชายฉกรรจ์นับร้อยรุมทำร้ายร่างกาย ซึ่งกระทั่งปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับคนร้ายได้ ขณะที่ล่าสุดชาวเล4 รายจากเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลถูกศาลจังหวัดพิพากษาจำคุกข้อหาบุกรุกที่ดินเอกชน ซึ่งภายหลังถูกจำคุก1คืนกองทุนยุติธรรมในกระทรวงยุติธรรมและชาวบ้านได้ระดมทุนมาประกันตัวชั่วคราวเพื่อให้พวกเขาได้รับอิสรภาพในการเคลื่อนไหวทวงที่ดินที่ทำกินอีกครั้ง แม้ว่าความหวังจะเลือนรางก็ตาม

 

102_1811

หลังออกจากห้องขังมาได้สองวัน สลวย หาญทะเล พร้อมมารดาคือ แส้หน่า เกาะสิเร๊ะ ชาวเลอูรักลาโว้ยจัดข้าวของไปไหว้สุสานโต๊ะคีรี บรรพบุรุษที่ชาวเลทั้งเกาะหลีเป๊ะนับถือ ต่อด้วยการไหว้สุสานของนายซาหน หาญทะเล พ่อของสลวยที่เสียชีวิตตั้งแต่เธออายุ 13ปี

“ฉันก็ไปสุสานกับแม่ ไปกันทั้งครอบครัวนะ พี่น้อง และญาติๆฉันไปทั้งหมด เราบอกพ่อว่า ให้ดวงวิญญาณพ่อ ปกป้องเราด้วย ให้พ่อกับโต๊ะคีรีดูแลพวกเราด้วย เราไม่มีทางออกแล้ว เราบอกแค่นี้ แล้วก็ขอบคุณพ่อ ขอบคุณโต๊ะที่บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะแก่เรา ถ้าเราปกป้องเกาะต่อไปให้ลูกหลานอูรักลาโว้ยไม่ได้ เราขอโทษพ่อกับโต๊ะด้วยที่รักษาแผ่นดินไว้ไม่ได้ ปกติเรามาไหว้สุสานพ่อแทบทุกเดือน ถ้าเป็นอดีตก็แทบทุกวัน แต่10 ปีหลัง ฉันมาบ่อยไม่ได้ ฉันต้องทำงานเลี้ยงหลาน เลี้ยงแม่” สลวยเผยความรู้สึกที่ได้บอกกับสุสานของพ่อซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกรีสอร์ทดังบนเกาะหลีเป๊ะ สร้างกำแพงสังกะสีกั้นไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสภาพรกร้าง

สลวย ซึ่งปัจจุบันอายุ55 ปี เป็นสาวโสดแห่งครอบครัวหาญทะเลมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เล่าประวัติย่อๆของครอบครัวตัวเองว่า แม่ของนางเป็นคนเกาะอื่นมาแต่งงานกับพ่อซึ่งเป็นหลานคนแรกของโต๊ะคีรี เกิดจากคุณย่าชื่อว่า นางเส่ะ หาญทะเล กับปู่ชื่อซะอาเดน หาญทะเล
ย่าของสลวยเป็นลูกของนางยีนะ หาญทะเล ภรรยาคนรกของโต๊ะคีรี ส่วนนางดารา อังโชติพันธุ์ เป็นลูกของโต๊ะคีรีที่เกิดจากภรรยาคนที่สอง ในช่วงที่สลวยยังเล็กๆ พ่อเล่าว่าแม่ย้ายมาอยู่กับพ่อนั้นทั้งสองช่วยกันทำมาหากิน และเดินทางไปหลายเกาะเพื่อพบปะชาวเลหลายที่ในอันดามัน ที่ดินของชาวเลเป็นที่ดินที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าว และหาดทรายกว้างใหญ่ ชาวเกาะบางแห่งเก็บมะพร้าวแลกข้าว ส่วนอาชีพประมงพื้นบ้านนั้นทำกันทุกเกาะ แต่ชาวเลทั้งอันดามันแทบไม่มีความขัดแย้งใดๆต่อกัน

 

102_1731

สถานการณ์ตอนนี้ตรงกันข้ามกับในอดีตที่สลวยเล่าอย่างมาก หลายครั้งที่ทีมข่าว Transbordernews ลงพื้นที่ คุยกับชาวเลในชุมชนทราบว่า ขณะนี้เกาะหลีเป๊ะกลายเป็นพื้นที่การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งกอบโกยรายได้จากนายทุนในและนอกประเทศ ชาวเลบางรายไม่เคยหลงกับเม็ดเงินก็ยอมขายที่ดินให้แก่เอกชนเพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย ขายให้โดยไม่รู้ว่าที่ดินของตนมีกี่แปลง กี่ไร่ แต่แจ้งตามความรู้สึก พอระยะหลังมีการประกาศให้ออกรังวัดเป็น นส.3เพื่อให้ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิในที่ดิน ทุกอย่างก็เพี้ยนไปหมด ส่วนลูกหลานโต๊ะคีรีรายอื่นที่ร่ำรวย ก็กลายเป็นเห็นคุณค่าทางธุรกิจแล้วใช้อำนาจนั้นมาไล่ชาวเลด้วยกันออกไปแล้วแบ่งขาย แบ่งเช่าให้คนภายนอก บางรายถูกออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินแปลงเดิม บางรายถูกล่อลวงให้ออกโดยความเต็มใจ เช่น พิมพ์ลายนิ้วมือสัญญาซื้อขายทั้งๆที่ยัง อ่านหนังสือไม่ออกเป็นเหตุให้ถูกฟ้องดำเนินคดีในปัจจุบัน

สำหรับกรณีคดีความของสลวยและเพื่อนบ้านอีก3 รายนั้นเป็นนายทุนคนเดียวกันที่พยายามใช้ทนายสั่งไล่รื้อบ้านเนื่องจากมีนักลงทุนชาวต่างชาติ2รายและนักลงทุนคนไทยอีก2รายต้องการสร้างรีสอร์ทในพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องบังคับให้ชาวเลรื้อถอนบ้านออก นำมาสู่การฟ้องร้อง กระทั่งศาลตัดสินจำคุก ล่าสุดมีการประกันตัวออกมา และศาลนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งวันที่16มีนาคม2559 โดยการไกล่เกลี่ยครั้งนี้จะมีแส้หนา เพิ่มมาอีกหนึ่งคนด้วย เพราะที่ดินของแส้หนาใกล้ๆกับสลวยก็ถูกดำเนินคดีเช่นกัน

“แม่ฉันแกโดนสั่งไล่รื้อแล้วสร้างใหม่ถึง3ครั้ง แต่ฉันเองที่ฉันสร้างบ้านอยู่กับหลาน เรายังไม่เคยออกไปไหน ฉันเพียงแต่ซ่อมบ้านบางครั้งเมื่อตัวบ้านพังลงไปเท่านั้น ฉันกับหลานหาเงินได้เอามาซ่อมบ้านแม่ ซ่อมบ้านตัวเอง แต่เงินที่ซ่อมไป แทบจะไม่มีความหมายเพราะยังไงซะนายทุนเขาก็อยากจะรื้อบ้านเราออกทั้งหมด ตอบตรงๆว่าไม่รู้จะไปอยู่ไหนเช่นกัน ถ้าฉันนอนคุกก็ดีมั้ง นอนในคุกฟรีไม่ต้องเช่าใคร” สลวยเล่าติดตลก ทั้งๆที่ทุกจังหวะของการบอกต่อเรื่องราวของเธอ เป็นเรื่องเศร้าและเธอต้องร้องไห้ทุกครั้ง

สลวยรู้ดีว่าชีวิตชาวเลเกาะหลีเป๊ะเปลี่ยนแปลงไปคล้ายกับแห่งอื่น เช่น เกาะพีพี เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แหลมตุ๊กแก และหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตฯลฯ ซึ่งที่ดินถูกแปรให้เป็นมูลค่าทางการเงินตามกระแสท่องเที่ยวที่เติบโต ไป และไม่เหลือคุณค่าทางวัฒนะธรรมดั้งเดิมไว้เลย โดยสลวยเองพอจะทนได้กับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวข้างต้น ทว่าแส้หนา ผู้เป็นมารดา ยังรู้สึกมึนงง เจ็บปวดกับข้อกล่าวหาของนายทุนซึ่งเป็นคนนอกอยู่มาก

“ ที่ฉันไปเห็นลูกสาวและชาวเลคนอื่นเดินออกจากคุก ฉันอยากจะบอกว่าจับฉันแทนเถอะ เพราะฉันไม่มีแรงทำอะไรแล้ว ฉันยอมติดคุกแทนลูกๆได้นะ ฉันขออย่างเดียวอย่าให้ใครไล่ลูกหลานหลีเป๊ะอีกเลย” แส้หนา กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

ปัจจุบันแส้หนา เป็นครูสอนร็องเง็ง ของโรงเรียนบ้านอาดัง –เกาะหลีเป๊ะ โดยทุกครั้งมีประเพณีลอยเรือแส้หนากับลูกศิษย์ ก็ออกไปแสดง บางครั้งมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เขาก็ร่วมสมทบทุนแก่ชุมชนบ้าง แต่ก็ไม่มากมาย

แส้หนา ย้อนความสั้นๆถึงอดีตที่แสนสวยของเธอกับครอบครัวว่า การย้ายมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะช่วงแรก ชีวิตสงบสุขและชาวเลสามัคคีกันมาก โต๊ะคีรีเป็นคนใจดีทีทุ่มเทกับการสร้างวัฒนธรรมชาวเลอูรักลาโว้ย ที่เข้มแข็ง แต่ปัจจุบันพื้นที่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวเล กำลังถูกการพัฒนาสมัยใหม่กลืนไปมาก โดยที่แส้หนาเองไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมชีวิตชาวเลที่ไม่สะสม จึงตกทุกข์ขนาดนี้

“ไม่มีอะไร น่ากลัวเท่ากับการเสียแผ่นดินแล้วฉันสาบานได้ ฉันกับลูกๆ ไม่เคยไปเบียดเบียนใคร ทำไมฉันถูกเบียดไปที่อื่นทุกวันเลยละ เมื่อก่อนฉันกลัวเขานะ ฝรั่ง จีนที่มาเจอหน้าฉัน เขามามองๆ ถ่ายรูปแล้วก็ไป ฉันกลัวๆ ก็หลบเข้าบ้านไป แต่ตอนนี้ฉันกล้ามากขึ้น ฉันเจอนักท่องเที่ยวเดินผ่าน ฉันอยากไปเรียกให้เขาเข้ามากินน้ำ มาดูบ้านฉันที่มีรูปการแสดงรำมะนา ร็องเง็ง เขาจะได้รู้จักฉันบ้าง ฉันอยากให้คนนอกมารู้จักเรา และรู้ว่าเราไม่ได้แย่งที่ดินใคร แต่ถ้าสู้แล้วไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฉันติดคุกเอง ฉันติดคนเดียวได้ไหมละ” แส้หนา เล่าอย่างท้อแท้

สองแม่ลูกชาวอูรักลาโว้ย ยอมรับว่า พวกเขาไม่กล้าหวังสูงมากนักกับการได้ที่ดินคืนมา และบางครั้งกังวลว่าวันหนึ่งชาวเลเกาะหลีเป๊ะจะถูกทำร้าย คล้ายกับชาวเลหาดราไวย์ ถ้าหากยังต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินของบรรพบุรุษอยู่ แต่เตรียมใจไว้แล้ว ว่า หากการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ชนะ ก็ยังยินดีจะทำอย่างน้อยถ้าไม่ได้ที่ดินเพื่อให้คนรุ่นนี้อาศัย ขอให้คนรุ่นหลังได้พบกับความยุติธรรมบ้างยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยในช่วงชีวิตหนึ่ง

จากปมร้อนหาดราไวย์ มาถึงคดีเศร้าของหลีเป๊ะ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หัวหน้าทีมสืบสวน สอบสวนคดีที่ดินตามคำร้องขอของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ซึ่งติดตามคดีข้อพิพาทที่ดินทั้งสองพื้นที่ระบุว่า ที่หลีเป๊ะและราไวย์เป็นการพิพาทที่ดินที่แตกต่างกัน กรณีราไวย์เป็นการรุกที่ของเอกชน ซึ่งนายทุนบางรายออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินจริงๆ และมีผลพิสูจน์หลายอย่าง หลักฐานชัดทั้งแผนที่ในอดีตและกระดูกบรรพบุรุษ รวมทั้งการสอบสวนชาวบ้าน ซึ่งเรื่องล่วงเลยมาแล้วชาวเลมีสิทธิฟ้องร้องศาลยุติธรรมเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดิน และนส.3 ที่ออกโดยมิชอบทางกฎหมายได้ แต่กรณีหลีเป๊ะค่อนข้างยากเพราะความขัดแย้งในที่ดินนั้นเกิดทั้งในส่วนราชการกับชาวบ้าน เอกชนกับชาวบ้าน และเอกชนกับราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยการเปรียบเทียบแผนที่ทั้งอดีตและปัจจุบัน และสอบปากคำ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก โดยดีเอสไอก็ต้องทำงานละเอียดขึ้น ที่ผ่านมาจากการเปิดโอกาสให้เอกชนมานำชี้แปลงที่ดินนั้น พบสิ่งผิดปกติ คือ เอกชนรายใหญ่ที่อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินมีเอกสารการครอบครองถึง140 ไร่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงตามการนำชี้รังวัดที่เอกชน ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ร่วมกับดีเอสไอและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พบการแปลงที่ดินไม่ถึง80ไร่

“ที่เขาแจ้งว่าเขามี140ไร่ดูแล้วทั้งเกาะนำชี้ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว ที่เทียบดูนั้นพบการครอบครองที่ดินตรงกันทั้งเอกสารและการนำชี้แค่70 เปอร์เซ็นของเนื้อที่80ไร่เท่านั้น แค่80 ไร่ที่อ้างกรรมสิทธิ์ยังไม่พบแปลงที่ดินเลย แล้วจะเอาจากไหนมายืนยันว่ามี140ไร่ ส่วนเอกชนรายย่อยอื่นๆ ที่พบการบุกรุกที่อุทยานฯ นั้น มันแล้วแต่อุทยานฯ ว่าจะดำเนินคดีอย่างไร แต่สำหรับชาวเลบนเกาะ คิดว่าการจะแจ้งครอบครองเป็นที่ดินส่วนตัวอาจจะยาก แต่หากราชการยึดได้แล้วแบ่งสรรให้ชาวเลอยู่ก็ไม่มีปัญหา เพียงแต่ต้องรอกระบวนการตรวจสอบเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งเราทยอยสอบปากคำชาวบ้านขณะนี้มีราว40 ราย ส่วนเรื่องที่ชาวเลระบุว่าทำกินมาก่อนนั้น อาจจะทำกินมาก่อนในรูปแบบการดูแลของรัฐมาก่อนก็เป็นได้ แต่ต้องไปดูว่ารัฐบาลช่วงนั้นให้สิทธิทำกินและอยู่อาศัยยังไงบ้าง ส่วนเอกชนที่มาทำที่พักต่างๆ ต้องบอกตามตรงว่ามาใช้ที่ราชการแน่ๆ ซึ่งหากคณะกรรมการแก้ปัญหาชาวเลฯ จะแก้ไขเรื่องนี้ เบื้องต้นอาจจะเป็นไปได้ว่าต้องให้คณะกรรมการไปเจรจากับภาครัฐเองว่าจะจัดการที่ดินอย่างไร แล้วจะยึดคืนที่ดินจากเอกชนที่ประกาศเอกสารสิทธิ์ทับที่ราชการอย่างไร” พันตำรวจโทประวุธ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ที่ดินชาวเลทั้งอันดามันนั้น ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบจริงจังตามคำร้องของคณะกรรมการแก้ปัญหาชาวเล แค่2ที่คือหาดราไวย์กับเกาะหลีเป๊ะ เพราะมีปมร้อนแรงเกิดขึ้น ส่วนที่อื่นๆ ที่ดีเอสไออาจจะเข้าไปตรวจสอบในอนาคต คือ แหลมตุ๊กแก จังหวัดภูเก็ต ซึ่งยังไม่ได้ตกลงกันแน่ชัดว่าจะไปดำเนินการเมือใด เพราะมีเรื่องเร่งด่วนที่หลีเป๊ะกับราไวย์เกิดขึ้นก่อน อย่างไรก็ตามกรณีการตรวจสอบข้อพิพาทที่ดินนั้นต้องใช้เวลานาน ซึ่งพ.ต.ท.โทประวุธ ระบุว่า หากดีเอสไอจะเข้าไปตรวจสอบได้ ต้องได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการแก้ปัญหาชาวเลเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า พื้นที่ใดจะต้องเข้าไปดำเนินการได้บ้าง

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน กล่าวว่าการแก้ปัญหาเร่งด่วนทั้งสองพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องซับซ้อนแต่ที่เกาะหลีเป๊ะนั้น ตนยืนยันว่าราชการต้องกล้าจะเพิกถอนที่ดินที่เอกชนบุกรุกแล้วเอาที่ดินมาแบ่งคนจน
“เมื่อก่อนที่ดินอาดัง หลีเป๊ะ เป็นเรือนจำ อันนี้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่รู้ๆกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอุทยานเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ย้ายชาวบ้านจากอาดังมาอยู่หลีเป๊ะ ซึ่งอำนาจ ณ ขณะนั้นผมไม่รู้ว่า ใครสั่ง ใครทำ แล้วทำไมมีสิทธิ์ย้ายชาวบ้าน แต่ผมมองว่า ชาวบ้านอูรักลาโว้ย เขาไม่ใช่ชนชาติสะสม หรือโลภ ผมว่าถ้ารัฐจะเมตตาพวกเขา เคารพพวกเขาในฐานะคนบุกเบิก ควรที่จะให้ที่ดินเขาอยู่แล้วออกเป็นที่ดินรวม ห้ามขาย ห้ามซื้อ คำถาม คือ กล้ายอมรับความจริงไหมว่า ที่ดินที่เอกชนสร้างโรงแรม ที่พักนั้นเขาได้มา ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” พลเอกสุรินทร์ เสนอทางออก

————
โดย จารยา บุญมาก
————

On Key

Related Posts

“ครูแดง”ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคนถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้สมช.-มท.ออกกม.เร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง พ่อเฒ่าแม่เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์คึกคักสอบสัมภาษณ์ขอสัญชาติไทย เผยอยู่ไทยร่วม 50 ปีแต่ไม่มีบัตรประชาชน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกRead More →

เหยื่อทวงคืนผืนป่า “ป้าวันเสาร์” ห่วงชาวบ้านหนองหญ้าปล้องถูกจับบุกรุกป่า ด้าน กมธ.ที่ดินฯ ชี้ควรเร่งสำรวจที่ดินร่วมกับชุมชนรอบป่าแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Read More →

“กัณวีร์”จี้รัฐบาลเร่งช่วยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ 110 คนจากแหล่งอาชญากรรมริมน้ำเมย แฉฟรีวีซ่าจีนกลายเป็นช่องทางข้ามไปคาสิโน ระบุรัฐบาลไทยตกหล่มรัฐบาลทหารพม่า เหยื่อชาวบังคลาเทศวอนรัฐบาลช่วยเหลือด่วน เผยจีนเทาสุดโหด

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรRead More →