Search

สื่อรักผ่านกรงขัง 10 นาที วิบากกรรมชาวทุ่งปาคา

12884589_1073333472709937_1551230472_n

ใบหน้ายิ้มแย้มพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้าระหว่างอุดม กับ สมจิต บงกชวณิชกุล เชื่อมสายตาผ่านกรงขังที่เห็นหน้ากันไกลราว 1 เมตร บางครั้งมีเสียงสนทนาแผ่วเบาผ่านโทรศัพท์ของเรือนจำแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นความรู้สึกที่ยากเกินกว่าบรรยาย

สมจิต ผู้เป็นภรรยาใช้เวลา 10 นาทีตามกฎของเรือนจำอย่างคุ้มค่าเพื่อเยี่ยมสามี ผู้ต้องขังคดีมีไม้สักไม้หวงห้ามในครอบครอง 5 ท่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ต้องถูกจองจำตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 คดีความดังกล่าวมีชาวบ้านทุ่งป่าคา ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 39 คนและศาลมีคำตัดสินจำคุก 23 ราย จำคุกระหว่าง 1-7 ปี และมีผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตั ว5 รายเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 18 รายนั้นยังต้องรับโทษจนครบกำหนดตามคำพิพากษาของศาล

 

12895497_1073333466043271_1074641851_n

แทบทุกสัปดาห์ สมจิตต้องเดินทางจากหมู่บ้านมายังเรือนจำแม่สะเรียงพร้อมกับชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านอีกหลายรายที่มีญาติหรือสมาชิกในครอบครัวถูกจองจำในคดีเดียวกัน แม้จะต้องใช้เวลานานนับชั่วโมงเพื่อมาเจอหน้าสามีเพียง 10 นาที แต่นับเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่ทั้งคู่สามารถสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใยระหว่างกันแม้จะมีกรงเหล็กหลายชั้นกั้นขวางก็ตาม

หลังจากเจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งเตือนหมดเวลาเยี่ยม สมจิตเดินออกมาทำใจด้านนอกสักพัก ก่อนเปิดใจเล่ารายละเอียดที่สนทนากับสามี

“คำถามที่ฉันถามเขาบ่อยๆ คือกินข้าวอิ่มไหม เจ็บป่วยหรือเปล่า เพราะเขาก็ดูโทรมไปมากตั้งติดคุกมากราว 1 ปี แต่เขาตอบเช่นเดิม คือ สบายดี วันนี้เขาไปได้ยินข่าวจากไหนไม่รู้ว่าฉันขับมอเตอร์ไซต์ล้ม ซึ่งก็ใช่ ฉันขับล้มจริงๆ แต่ฉันโกหกเขาไปว่าข่าวที่ได้ยินมาไม่จริง ก็แค่ไม่อยากให้เขาเป็นห่วง” สมจิตเล่าถึงความรู้สึกห่วงใยซึ่งกันและกันที่กรงขับกั้นไม่ได้

การโกหกคนรักโยปกปิดไม่ให้ทราบอาการป่วยของตนเองไม่ใช่ความต้องการของสมจิต แต่เธอจำเป็นต้องตอบอย่างนั้นเพื่อให้เขาสบายใจ

“ถ้าบอกว่าเราเจ็บ เขาก็ห่วงเรา ห่วงด้วย เครียดด้วย สู้ไม่บอกจะดีกว่า แม้ฉันเจ็บขามากจนเดินแทบไม่ไหวก็ตาม ฉันต้องเดินให้ได้ โชคดีที่เพื่อนบ้านเขาให้เราอาศัยโดยสารรถมาด้วยฟรี ถ้าวันไหนฉันมีเงินก็ช่วยจ่ายค่าน้ำมันเขาบ้าง” เธอรำพันพร้อมเปิดเผยแผลตามร่างกายที่ดูแล้วอาการสาหัสไม่น้อย

การมาเยี่ยมสามีครั้งนี้สมจิตพกเงินมา 300 บาท เป็นเงินจากลูกซึ่งทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ส่งมาให้ แล้วให้นำมาแบ่งปันพ่อสำหรับซื้ออาหารอร่อยๆ กินในเรือนจำ

“ที่จริงหมอนัดไปทำแผลวันนี้ แต่ฉันไม่ไป ถ้าฉันไปฉันก็พลาดโอกาสเยี่ยมเขาจนถึงอาทิตย์หน้า หรืออาจจะสองอาทิตย์ มันนานเกินไป ฉันรอไม่ได้ แล้วถ้าฉันไปล้างแผล ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเงินที่จะมาเยี่ยมเขาก็เหลือน้อย ลูกฉันจะต้องทำงานหนักมาจ่ายให้อีก มันไม่คุ้มหรอก เอามาให้เขาดีกว่า ฉันกลัวเขาอยู่ไม่มีความสุข ส่วนเราลำบากยังไงก็ช่าง ตอนนี้ฉันไม่ได้ทำงาน มีแต่ลูกทำคนเดียว เราต้องซื้อข้าวสารกินด้วย มันเหนื่อยกันหมดแต่ต้องยอมอดทนให้มันผ่านไป”

นับตั้งแต่สามีติดคุก สมจิตก็ไม่ได้ทำไร่ ทำนา แต่ให้เพื่อนบ้านทำแทนแล้วแบ่งข้าวมาให้ปีละ 4-5 ถัง ซึ่งไม่พอกิน ภาระส่วนมากจึงตกเป็นของลูกที่เดินทางไปทำงานในต่างจังหวัดแล้วส่งเงินกลับบ้าน ส่วนเงินเก็บทั้งหมดที่หามาได้ทั้งชีวิตนั้น หมดไปในระหว่างการต่อสู้คดี เพราะหวังอยากจะให้ศาลเห็นใจ เนื่องจากชาวบ้านทุ่งป่าคาเป็นแพะรับบาปแทนขบวนการตัดไม้สักในป่าสาละวิน

ไม้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมส่วนมากเป็นไม้เก่าที่ชาวบ้านเอามาจากหัวไร่ปลายนาเพื่อสำหรับซ่อมบ้าน บางรายถูกจับกุมทั้งที่ตัดไม้ในที่นาของตนเอง กรณีของอุดมนั้น ไม้สักที่เจ้าหน้าที่ไปพบเป็นไม้สักที่เตรียมซ่อมบำรุงครัวและโรงเก็บข้าวเปลือก

 

12443149_1073333862709898_696811584_n

นอกจากสามีที่ถูกจองจำนานเกือบปีแล้ว สมจิตยังต้องแบ่งเวลาไปเยี่ยมน้าและลุง ที่ยังต้องรับโทษในเรือนจำในคดีไม้สักเช่นเดียวกัน เธอยอมรับว่าทุกข์ครั้งนี้เป็นทุกข์ที่ชาวบ้านทุ่งป่าคาต้องแบกรับไปอีกนาน ความเจ็บปวดครั้งนี้สอนให้รู้ว่า การอนุรักษ์ป่าไม้และโครงการปลูกป่าแต่ละปีที่ชาวบ้านทำมานานดูไร้ค่าในสายตากระบวนการยุติธรรมไทย

หลังจากสามี น้า และลุงติดคุกเพราะครอบครองไม้สักบ้านละไม่กี่ท่อน สมจิตเลือกที่จะไม่พูดกับใครถึงสถานการณ์ลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่ของรัฐอีกเลย เพราะไม่รู้ว่าการสื่อสารออกไปจะส่งผลดีหรือผลร้ายต่อชาวบ้านทุ่งป่าคา

เดือนกันยายน 2559 สามีจะถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ สมจิตวางแผนไว้ว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวโดยการไปรับจ้างให้พอได้เงินมาลงทุนทำนา หรือทำเกษตรกรรมที่สร้างความมั่นคงแก่ชุมชน จากนั้นก็จะทำบุญร่วมกันในหมู่บ้านทุ่งป่าคาเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษให้ปกป้องคุ้มครองป่าสักจากขบวนการค้าไม้เถื่อนทุกกลุ่ม และช่วยปลอบขวัญปกาเกอะญอผู้บริสุทธิ์ด้วย

ช่วงนาทีสุดท้ายของการสนทนากับสามี สมจิตเล่าว่า คำกำชับของสามีคือคำว่า “แล มา ต่า เลอะ บอกอ เต่อ เก, แล จอจือ ยา เต่อ เก” แปลว่า คุณอย่าไปทำงานกรุงเทพนะ คุณอย่าไปไกลผมนะ

ถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำขอร้องจากสามีที่ไม่ต้องการให้สมจิตไปเผชิญชีวิตการขายแรงงานที่กรุงเทพ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ จนกว่าเขาจะได้รับอิสรภาพ

แม้กรงขังจะกักขังปิดกั้นอิสรภาพระหว่างสมจิตกับสามี รวมถึงญาติพี่น้อง ในคดีที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แต่คุกไม่สามารถปิดกั้นความรัก ความผูกพันและความห่วงหาอาทรของพวกเขาได้

ใครที่ทำให้ชาวบ้านทุ่งป่าคาต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ อีกไม่นานเคราะห์กรรมคงติดตามเขาทัน

โดย จารยา บุญมาก
สำนักข่าวชายขอบ

////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →