Search

ชาวไทใหญ่ร่วมทำความสะอาดบริเวณพื้นที่เคยเป็นหอเจ้าฟ้าสี่ป้อ “หอจะคานส่า” ชี้หวั่นสถานที่ประวัติศาสตร์สูญหาย เหตุชาวบ้านบุกรุกเข้ามาจับจองทำไร่

ภาพโดย Tai Freedom
ภาพโดย Tai Freedom

สมาคมฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ (Shan Association Computer Training)พร้อมด้วยกลุ่มเยาวชนไทใหญ่ได้ร่วมกันทำความสะอาดบริเวณรอบๆ และที่ตั้งของหอเจ้าฟ้า “จะคานส่า” ที่อยู่ในหมู่บ้านวางม้า เมืองจ้อกเม ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในหอเจ้าฟ้าสี่ป้อ ที่ขณะนี้เหลือเพียงซากปรักหักพังและทรุดโทรม จุดประสงค์ของการไปทำความสะอาดหอเจ้าฟ้าครั้งนี้ก็เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังรู้จักและเห็นคุณค่า รวมไปถึงให้ความสำคัญกับสถานประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่

ภาพโดย Tai Freedom
ภาพโดย Tai Freedom

มีรายงานว่า ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่เป็นจำนวนมากได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของเขตหอเจ้าฟ้า”จะคานส่า”และจับจองพื้นที่เพื่อเพาะปลูกทำเกษตรกรรมโดยไม่มีใครออกมาห้ามปราม ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มชาวไทใหญ่บางส่วนว่า ในอนาคตข้างหน้า หอเจ้าฟ้าแห่งนี้อาจจะไม่เหลือร่องรอยประวัติศาสตร์ ”

ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า พื้นที่หอเจ้าฟ้าจะคานส่า อาจหายไปกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน อาจจะเหลือเพียงพื้นที่ตั้งของตัวหอเจ้าฟ้าเท่านั้น เรื่องนี้เป็นที่น่ากังวลใจอย่างมาก” ชาวไทใหญ่รายหนึ่งหนึ่งกล่าว ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หอเจ้าฟ้าจะคานส่าที่เหลือเพียงซากปรักหักพังถูกทิ้งร้างไร้คนเหลียวแลอย่างน่าเสียดาย

เฟซบุ๊ก  สายเครือไท-Tai race studies
เฟซบุ๊ก สายเครือไท-Tai race studies

ทั้งนี้ ในสมัยอดีต หอเจ้าฟ้า”จะคานส่า”เป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็น วังฤดูร้อน ตั้งอยู่บนเนินเขาเมืองจ้อกเม ติดกับเมืองสี่ป้อ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งเชื้อพระวงศ์เจ้าฟ้าสี่ป้อจะมาพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน หอเจ้าฟ้าแห่งนี้ไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับหอตะวันออก ในเมืองสี่ป้อ เชื่อกันว่า “หอจะคานส่า”สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1900 โดยเจ้าเข้ หรือ ท่านเซอร์เจ้าเข้ เจ้าฟ้าสี่ป้ออีกองค์หนึ่งของเมืองสี่ป้อก่อนหน้ายุคเจ้าจ่าแสง -เจ้านางอิงเง

โดยอิงเง เซอร์เจน หรือมหาเทวีสุจันทรีในยุคเจ้าจ่าแสง เคยอธิบายเกี่ยวกับหอแห่งนี้เอาไว้ว่า “เป็นสถาปัตยกรรมเหมือนกับคฤหาสน์ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เป็นอาคารนีโอคลาสสิคสีครีมนวล บันไดหินอ่อนสีขาวนั้นสั่งตรงมาจากเมดิเตอเรเนียน หน้าต่างมีขนาดใหญ่ เสาสูงชะลูด แสงส่องลอดผ่านเข้าสู่หอผ่านทางระเบียงโล่ง”

หอเจ้าฟ้าจะคานส่าถูกเผาทำลายโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคของเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของสี่ป้อ เคยมีประสงค์ที่จะซ่อมแซมหอแห่งนี้แต่ไม่สำเร็จ เพราะหลังนายพลเนวินยึดอำนาจ เจ้าจ่าแสงเองได้ถูกจับหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงทุกวันนี้ เป็นการสิ้นสุดยุคเจ้าฟ้าสี่ป้อ และเจ้าฟ้าในรัฐฉานองค์อื่นๆ แม้หอเจ้าฟ้าจะคานส่า จะถูกทำลายลงไป แต่สี่ป้อยังเหลือหอเจ้าฟ้าอีกหลังหนึ่งที่ยังไม่ถูกทำลาย นั่นคือหอเจ้าฟ้าตะวันออก ตั้งอยู่ในเมืองสี่ป้อ ติดแม่น้ำตู้ แม่น้ำสายสำคัญของเมือง โดยทุกวันนี้ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

ที่มา เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ Tai Freedom/Forbidden Glimpses of Shan state โดย SWAN/เฟซบุ๊กเพจ สายเครือไท-Tai race studies

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →