
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เวลา 9.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ได้เชิญชาวเลชุมชนราไวย์และที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเล 12 คนมาร่วมชี้แจงข้อมูลกรณีความขัดแย้งในที่ดินของชุมชนหาดราไวย์ โดยเฉพาะเส้นทางสาธารณะสู่บาไลที่กำลังเกิดข้อพิพาทอยู่กับบริษัทยบารอน โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ในที่ประชุมพลตรี ธีร์ณฉัฏฐ์ ได้ให้ชาวเลแต่ละคนเล่าถึงข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น โดยชาวเลทั้ง 10 คนต่างช่วยกันนำเสนอในแง่มุมต่างๆที่ชุมชนถูกกระทำ ขณะเดียวกันที่ปรึกษาชาวเลคือนายไมตรี จงไกรจักรและนางปรีดา คงแป้น ได้ช่วยกันสนับสนุนข้อมูล โดยนางปรีดานำข้อมูลภาพรวมของชาวเลในอันดามันมาฉายสไลด์ให้เห็นถึงการถูกรุกราน
นายสงัด หาดวารี ชาวเลราไวย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนการเข้าพบทหารตนและสมาชิกชาวเลรู้สึกตกใจกับการมีหมายเรียกเข้าพบ และกลัวว่ามีอาจเสี่ยงต่อการถูกทหารใช้อำนาจเพื่อให้ชาวเลยอมจำนน แต่แล้วการเข้าพบก็ผ่านไปด้วยดี เพราะทหารรับปากว่าจะเป็นคนกลางในการเจรจาแก้ปัญหา เรื่องข้อพิพาทที่ดินระหว่างชุมชนชาวเลกับบริษัทเอกชน แต่วันนี้ขอให้ชาวเลมาให้ข้อมูลโดยตรงที่ไม่ใช่การให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชน และรับปากว่าจะดำเนินการทุกอย่างตามกระบวนการที่ถูกต้อง
“ตอนได้รับจดหมาย ผมกลัวว่าจะถูกอุ้มหาย แต่พอได้เข้าคุยก็ใจชื้นขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ไว้ใจร้อยเปอร์เซ็นเพราะว่าการเข้าพบครั้งนี้ ทหารไม่ให้สื่อมวลชนและคนภายนอกเข้าฟัง หรือสังเกตการณ์ แต่พวกผมบอกท่านทหารไปตรงๆ ว่า ปัญหาที่ดินชาวเลนั้น เป็นปัญหามานาน เราโดนรุกรานทั้งที่อยู่ ที่ทำกิน ที่ฝังศพ เราไม่เคยได้รับความเป็นธรรม ถ้าทหารจะใช้อำนาจช่วยเหลือเราได้บ้าง ก็ช่วยเจรจาให้เอกชนเขาเลิกคุกคามเรา แล้วเอื้อเฟื้อแผ่นดินแก่พวกเราบ้าง เราหาเช้ากินค่ำ ถึงอย่างไรก็ไม่มีเงินไปต่อสู้กับเอกชนแน่ๆ”นายสงัด กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีการดำเนินการของบริษัทเอกชนที่นำเครื่องจักรเข้าทำงานเพื่อปรับปรุงที่ดิน ที่กำลังเป็นข้อพิพาทอยู่ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคมนั้น ชาวเลได้ร้องเรียนต่อทหารหรือไม่ นายสงัด กล่าวว่า ชาวบ้านได้นำเสนอปัญหาทั้งหมดและพบว่าระหว่างที่เจรจานั้น เอกชนไม่มีการนำเครื่องจักรเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ ชาวเลจึงหวังว่าการพบปะกับทหารครั้งนี้จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ อย่างน้อยก็ให้ชาวราไวย์ได้อยู่บนแผ่นดินเดิมที่ถูกตรวจสอบแล้วว่าออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่บนแผ่นดินเดิมที่เอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตามแม้การเจรจาครั้งนี้จะผ่านไปด้วยดี แต่ชาวเลยังคงหวาดระแวงฝ่ายเอกชน ดังนั้นจะจัดเวรยามเฝ้าชุมชนต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่หาดสาธารณะและบาไลย์

ด้านพล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41กล่าวว่า การลงมาพบปะกับชาวไทยใหม่ในครั้งนี้ เป็นการมารับฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากชาวไทยใหม่โดยตรง โดยที่ไม่มีหน่วยงานอื่นๆร่วมพูดคุย และไม่ได้เป็นการเรียกให้ชาวไทยใหม่ไปรายงานตัวเหมือนที่มีการเข้าใจกัน ในหนังสือเป็นการส่งมาเพื่อให้ไปพบปะพูดคุยเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเรียกให้ไปรายงานตัวแต่อย่างใด ตอนนี้ได้ทำความเข้าใจต่อชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว ที่ลงมาครั้งนี้อยากทราบข้อมูลจริงๆ จากปากชาวบ้าน
ทั้งนี้ภายหลังการประชุม พล.ต. ธีร์ณฉัฎฐ์และคณะได้ลงพื้นที่ชุมชนราไวย์โดยได้เดินดูสุสานชาวเลและบริเวณชุมชนโดยรอบ
ขณะที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินในส่วนของชาวไทยใหม่ที่ราไวย์ มี 2 ส่วน คือ ในส่วนของชุมชนที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในที่ดินที่มีชาวบ้านอ้างสิทธิ เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ จุดนี้ทางจังหวัดกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยการเสนอไปยังรัฐบาลในการจ่ายชดเชยให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งต้องใช้งบประมาณพอสมควร หลังจากนั้น ก็จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้น และอีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งกันอยู่
เมื่อเวลา14.30น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงกรณีที่คสช. โดยมณฑลทหารบกที่41 ออกคำสั่งเรียกแกนนำชาวเลราไวย์เข้ามาให้ข้อมูลว่า จริงๆแล้วเป็นการพูดคุยมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเราเป็นฝ่ายรัฐก็ต้องดูกฎหมายว่าอย่างไร ฝ่ายชาวเลราไวย์เขาก็ดูเรื่องประวัติศาสตร์ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบเรื่องของกฎหมาย และการถือครองใบอนุญาต หรือโฉนด ฝ่ายหนึ่งก็ว่าถูกต้อง ฝ่ายนี้ก็ว่าประวัติศาสตร์ อีกฝ่ายก็เรื่องกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องหาทางออกให้ได้ วันนี้กำลังหารือกันอยู่ จะทำยังไงให้คนเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยโดยไม่เกิดผลกระทบ
“ผมก็สั่งยกเลิกไปแล้ว อย่าไปเรียกให้เข้าไปคุยในค่ายเลย ไปคุยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโน่น คือเดิมคุยที่ผู้ว่าฯแล้วคุยสองฝ่ายก็ไม่รู้เรื่องอีก ฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอมกัน ฝ่ายหนึ่งประวัติศาสตร์ ฝ่ายหนึ่งกฎหมาย มันก็ไม่มีทางออก เขาก็เลยอาจขอความร่วมมือไปที่คสช. แล้วคสช.ก็หวังดีอาจจะเรียกทีละพวกมาคุยกัน ทีนี้พอเรียกข้างชาวราไวย์ กลายเป็นว่าเหมือนเราจะไปบังคับเขา มันไม่ใช่ ผมต้องอยู่ข้างประชาชนอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันผมก็ต้องถือกฎหมายด้วยสิ มันเป็นสิ่งที่ยากนะ อย่าไปทำตามกระแส ไม่ได้ ผมจะไปรังแกทำไม แต่ถ้ารังแกโดยที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับคนอื่นเขาเลยมันก็ไม่ได้ นี่แหล่ะคือความยากง่าย ถ้าจะปล่อยให้ทะเลาะกันอยู่ต่อ ผมก็ทำได้ แต่ผมไม่ทำ มันต้องแก้ไขให้ได้ ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือ ผมก็สั่งผู้ว่าฯไปแล้วให้ไปหาทางพูดคุยซะ เขาก็เตรียมการแล้วว่าจะไปอยู่ที่อื่นยังไง ฝั่งนี้ก็ยืนยันตามสิทธิ์กฎหมาย ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่จะดูแลให้ ค่อยๆทำ อย่าไปทะเลาะกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.