เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะอนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก) และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดประชุมสัมมนารับฟังข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.)แร่ พ.ศ. …. ก่อนการนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างทั้งภาครัฐ องค์การพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 50 คน
ทั้งนี้ในระหว่างการประชุม นางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการดำเนินการของภาครัฐเพื่อพยายามจะออกกฎหมายแร่นั้น ตนมีข้อเสนอสำคัญที่รัฐควรตระหนักอย่างมาก เช่น ในกฎหมายควรมีการออกกรอบ เงื่อนไข เพื่อหลักประกันและการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูการทำเหมืองแร่และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากทุกรณีจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเลย แม้ว่าในกฎหมายเดิมจะเสนอให้ผู้ถือประทานบัตรมีหน้าที่รับผิดชอบก็ตาม แต่ก็ไม่เคยมีหน่วยงานเอกชนรายใดที่ได้รับสัมปทาน ประทานบัตร หรืออาชญาบัตรเข้ามารับผิดชอบ ประเด็นต่อมา คือ การออกกฎหมายแร่ ควรคำนึงถึงความมั่นคงทางเศรษฐศาสตร์ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ไม่ใช่ตัวเลข หรือผลกำไร หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เอกชนและรัฐได้รับเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นประชาชนจะเสียเปรียบและไม่มีโอกาสได้สร้างความมั่นคงในพื้นที่ของตนเอง เห็นได้ชัดถึงการล่มสลายและความเสี่ยงทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากเหมืองแร่ทองคำ กรณีใหญ่ๆ ที่จังหวัดเลยและจังหวัด พิจิตร
“การทำเหมืองแร่ทองคำเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการแต่งแร่ เช่น ไซยาไนด์ และการแพร่กระจายของโลหะหนัก เช่น สารหนู ในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง และเสียชีวิตได้ หากจะย้อนดูบทเรียนการให้สัมปทานครั้งที่ผ่านมาจะพบว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทาน มีชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการวางกฎหมายในหมวดสุขภาพต้องรอบคอบ” นางสาวสมพร กล่าว
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้แทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ กล่าวว่า พรบ.แร่ ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้นเน้นความต้องการแร่จากทุกที่ โดยไม่ใส่ใจกฎหมายอื่นๆ เช่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายป่า แต่รัฐพยายามสร้างพื้นที่นำแร่ออกมาใช้จากทุกที่ หรือเรียกว่าการสร้าง Mining Zone แม้ว่าที่นั้นๆ เช่น ป่าสงวน หรือพื้นที่ๆ เป็นแหล่งต้นน้ำ หรือป่าน้ำซึมน้ำซับ รัฐก็ต้องการให้มีการเพิกถอนพื้นที่คุ้มครองเพื่อเปิดโอกาสให้มีการสัมปทานแร่ได้
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า กรณีมาตรา 12 นั้นน่าห่วงว่าฉบับ ครม.เสนอมีการเปิดโอกาสให้ทำแร่ในพื้นที่สงวนหวงห้ามหรือในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการประกาศกำหนดพื้นที่เป็นแหล่งแร่เพื่อทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกของการสงวนและหวงห้าม หากพื้นที่นั้นมีแร่ที่สมบูรณ์ ซึ่งในสาระกฎหมายข้อนี้มีถ้อยคำว่า “มิใช้พื้นที่ที่มีกฎหมายเฉพาะห้ามการทำประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด” ยังขาดความชัดเจนและอาจมีปัญหาในการตีความดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย โดย คปก.ได้เสนอให้มีการแก้ไขบางอย่างในมาตราดังกล่าว เช่น การให้ประทานบัตรแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับน้ำซึม ต้องไม่ใช่ป่าสงวนตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ต้องไม่ใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ
“เท่าที่อ่านดูค่อนข้างละเอียด เหมือนว่าการออกกฎหมายแร่ของ คสช.นั้นเป็นการให้อำนาจแค่สองรัฐมนตรีคือกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ซึ่งแบบนี้มันเป็นการให้อำนาจเกินควร ทั้งๆ ที่แร่เป็นทรัพยากรของชาติ ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมตัดสินใจดังนั้น ก่อนสนช.จะผ่านร่างไป คปก.และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีการเสนอให้แก้ไขสาระกฎหมายอย่างเหมาะสม” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
ทังนี้ นอกจากข้อเสนอแก้สาระกฎหมายแร่ที่นำเสนอโดยนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนแล้ว ทางที่ประชุมยังได้สรุปสาระสำคัญหลายประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้มีการแก้ไขเนื้อหาพรบ.แร่ก่อนเสนอเข้า สนช. เช่น ใน ร่างมาตรา 7 จากสาระที่ระบุว่าว่ารัฐมีหน้าที่บริหารจัดการแร่เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน อย่างทั่วถึงให้เปลี่ยนเป็น แร่เป็นทรัพยากรส่วนร่วม ไม่ใช่ทรัพยากรของรัฐ
มาตรา 8 “ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่…เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการจัดทำต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ เว้นแต่ข้อมูลของแร่ประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่งคงประเทศ นั้นทางที่ประชุมต้องการให้มีการยกเลิกประเด็น “เว้นแต่ข้อมูลของแร่ประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่งคงประเทศ” และสนับสนุนให้ปรับปรุงกฎหมายทุก 15 ปี
ในร่าง มาตรา 131 เดิมกำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตตาม พรบ.แร่นี้ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายที่เกิดจาการประกอบกิจกรรมของตนต่อความเสียหาย ความเดือดร้อน รำคาญอันเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินและหรือสิ่งแวดล้อม กรณีความเสียหายเกิดขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาตสันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ได้รับอนุญาตรายนั้น ให้เพิ่มเติมประเด็นพื้นที่ใหม่จากกำหนดเฉพาะเขตอนุญาตให้เพิ่มบริเวณใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งบริษัทต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังวิทยากรนำเสนอเนื้อหาการปรับปรุง พรบ.แร่และเปิดให้แต่ละฝ่ายแสดงความเห็นนั้น กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และนางอารมณ์ คำจริง ได้ยื่นหนังสือต่อ กสม. เพื่อล้ม พรบ.แร่ทุกฉบับ และเสนอให้แยกมาตรการ เงื่อนไขทำแร่ทองคำออกจากแร่ประเภทอื่น
นางอารมณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับความทุกข์จากการทำแร่มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจากเหมืองทองนั้นล้วนเจ็บปวดมามาก และไม่ต้องการให้สนช.ผ่านพรบ.แร่ฉบับใดๆทั้งสิ้น ตนและเครือข่ายจึงไม่พร้อมรับข้อเสนอ หรือความเห็นใดๆที่ กสม.และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมจัดครั้งนี้ เพราะเห็นว่า พรบ.แร่ไม่ควรเกิดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดอีก และขอเสนอให้ไทยนำทองคำทั้งหมดเก็บเป็นคลังหลวงและต้องลงทุนโดยรัฐเท่านั้น ดังนั้นอยากขอความเห็นใจจาก กสม.และคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระงับ พรบ.ฉบับดังกล่าวอันเอื้อการลงทุนจากต่างชาติ
หลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสนช.เพื่อล้มพรบ.แร่ฉบับ ครม.
///////////////////